การเดินทางของ ‘ไครียะห์’ ลูกสาวแห่งทะเล ประกายความหวังของชาวจะนะ

น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ สาวน้อยวัย 17 ปี ออกเดินทางจากบ้านที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สู่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อยื่นจดหมายถึง “ปู่ประยุทธ์” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความหวังสุดท้ายของเธอ และชาวจะนะ ในการเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม. นิให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ เพื่อทวงคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชาวบ้าน
“จากจดหมายฉบับแรกที่หนูได้เขียนถึงปู่ประยุทธ์ บอกเล่าถึงเรื่องราววิถีชีวิตการอนุรักษ์ปกป้องทะเลจะนะ ที่เป็นบ้านของหนูและครอบครัว และได้หล่อเลี้ยงพวกเราในชุมชนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำที่เราหามาได้ยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
จนเมื่อรัฐบาลปู่ประยุทธ์ได้มีมติคณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตโดยจะใช้พื้นที่ 3 ตำบลคือตำบลนาทับ ตลิ่งชันและสะกอม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 16,753 ไร่เปลี่ยนเมืองจะนะให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นคือบ้าน ชุมชน และที่ทำกินของพ่อแม่หนู
หนูต้องบอกให้ปูประยุทธ์ได้ทราบด้วยว่าการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มีหน้าที่บริหารจัดการความขัดแย้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับเข้ามาผลักดันโครงการนี้จนเป็นตัวปัญหาสร้างความขัดแย้งเสียเอง เข้ามาทำหน้าที่ออกหน้าแทนกลุ่มทุนที่ต้องการเข้ามาสร้างนิคมอุตสาหกรรมในชุมชนของพวกเราจนทำให้เกิดความแตกแยกของคนภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยลืมแล้วไปว่าตนเองคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องทำงานแทนรัฐบาลและหนูยังเชื่อว่าการอนุมัติโครงการนี้ของรัฐบาลปู่ประยุทธ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ ศอ.บต. จัดทำขึ้น ซึ่งเห็นได้จากหลายเวทีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่แค่ต้องการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนโครงการเท่านั้น โดยไม่มีการให้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงใดๆ เลยซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะจัดเวทีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ได้เลื่อนไปและจะมีการจัดเวทีดังกล่าวใหม่ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เพื่อเปลี่ยนผังเมืองบ้านหนูซึ่งเป็นสีเขียวให้เป็นผังเมืองสีม่วงสำหรับการเป็นนิคมอุตสาหกรรม
ในโอกาสนี้หนูอยากจะบอกให้ปู่ประยุทธ์ทราบอีกครั้งว่าบ้านและชุมชนของพวกหนูมีความสวยงามและมีศักยภาพทางด้านอาหารมากพอที่จะหล่อเลี้ยงชาวอำเภอจะนะและคนในจังหวัดสงขลาให้อยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะเปลี่ยนสภาพของพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนภายนอกที่พยายามอ้างว่าอยากจะเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้วคือประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น”
จดหมายฉบับบน้อยที่หัวใจอันมุ่งมั่นของไครียะห์นำพาไป ถูกส่งต่อไปยังผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สัญญาว่าจะยื่นให้จนถึงนายกรัฐมนตรี “ปู่ประยุทธ์” ยังไม่ทราบว่าไปถึงไหน แต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ ยังคงกำหนดการเดิมอยู่ ….
ไครียะห์ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางถึง อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ร่วมกันเดินทางมายื่นจดหมายเดินทางกลับบ้านด้วยรถไฟ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 18 ชั่วโมง หลั่งน้ำตาด้วยความปลื้มปิติ เมื่อครอบครัว และชาวจะนะให้การต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น
ชาวบ้านร่วมกันถือป้าย “ยกเลิกมติ ครม. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ #SaveChana #ปกป้องทะเล หยุดเขตอุตสาหกรรมจะนะ” และได้พาเธอขึ้นรถแห่วนรอบ อ.หาดใหญ่ ก่อนออกเดินทางสู่ อ.จะนะ บ้านอันเป็นที่รักของเธอ…
บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่หนูเคยมี ชีวิตทั้งชีวิต ความสุข ความทรงจำ ทุกเรื่องราวของหนู มาจากทะเลทั้งหมด ทะเลคือชีวิต ทะเลคือแม่ แม่ที่ไม่เคยทิ้งลูก พร้อมให้โอกาสลูกเสมอ
นอกจากการต้อนรับลูกสาวแห่งทะเลกลับบ้านแล้ว ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยังได้อ่านแถลงการณ์ว่า:
ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จะจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันที่ 11 กรกฏาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ที่โรงเรียนจะนะวิทยา เพื่อต้องการเดินหน้าโครงการโดยไม่สนใจฟังเสียงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอจะนะ ทั้งที่พวกเราได้แสดงเหตุผลมาอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้มีความไม่ชอบธรรมในหลายประการ อย่างเช่น
1. การเริ่มต้นโครงการนี้ได้ใช้อำนาจของรัฐบาล และของ ศอ.บต. ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอน โดยการอนุมัติโครงการ พร้อมอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 18,000 กว่าล้านบาท แล้วมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายหลัง อันถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่สวยงาม และไม่สามารถยอมรับได้ แต่กลับอ้างถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่ตนเองสร้างขึ้น(พิธีกรรม) ดังที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ ซึ่งโครงการคือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่ไม่ให้สนใจรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวจังหวัดสงขลาทั้งหมด แต่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่ 3 ตำบลเท่านั้น และคนที่ไม่เห็นด้วยในพื้นที่นี้จะถูกปิดกั้นด้วยเช่นกัน
2. เห็นได้ชัดว่าโครงการนี้คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน โดยการใช้ ศอ.บต. ซึ่งกุมอำนาจการบริหารราชการและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกขับเคลื่อน และได้ใช้วิธีการพิเศษที่ไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายปกติเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ และยังอ้างถึงความเจริญด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่ผลประโยชน์หลักจะตกอยู่กับทุนเฉพาะกลุ่มและนายหน้าซื้อขายที่ดินเท่านั้น
3. โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลา อันเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของพวกเรา และจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
พวกเราต้องประสบกับวิบากกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า จากผู้ที่ต้องการกอบโกยประโยชน์ในพื้นที่จากกลุ่มทุนภายนอกมาตลอด 20 ปีมานี้ มาวันนี้เขาได้ใช้กลไกของรัฐที่มีความเข้มแข็งอย่าง ศอ.บต. เขามากดทับพวกเรา จนแทบจะดิ้นรนอะไรไม่ได้ แม้แต่การส่งเสียงที่จะบอกถึงความทุกข์ยากที่กำลังจะเกิดขึ้น พวกเราไม่ต้องอยู่ในความขัดแย้งใดๆ ที่ ศอ.บต. กำลังสร้างขึ้นในครั้งนี้ โดยการจับมือกับกลุ่มทุนเหล่านั้นแล้วแบ่งแยกเราเป็นสองฝ่าย ทั้งที่ ศอ.บต. คือองค์กรที่ต้องทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดหายไป ซึ่งทุกคนรับทราบดี แต่ครั้งนี้เห็นได้ถึงความผิดปกติขององค์กรนี้อย่างชัดเจน เสมือนเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง
หลายวันมานี้ ไครียะห์ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ และยกเลิกเวทีในวันที่ 11 กรกฎาคม ออกไปก่อน แล้วมาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแท้จริงเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอจะนะบนฐานศักยภาพ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการ “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และจะคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด โอกาสนี้เราขอเชิญชวนพี่น้องชาวหาดใหญ่ ชาวจังหวัดสงขลา และพี่น้องประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงออกต่อเรื่องนี้ ในวันที่ 11 กรกฏาคม 2563 พร้อมกับพวกเราทุกคน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไครียะห์ และเครือข่ายภาคประชาชนพยายามปกป้อง “บ้านเกิด” ของพวกเขา และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหากไม่ได้รับความสำคัญจากทุกภาคส่วนและผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงบุคคล หรือองค์กรระดับนานาชาติ โดยไครียะห์ ฝากทิ้งท้ายว่า ทะเลจะนะเป็นทะเลอ่าวไทย อ.จะนะ มีการทำการเกษตรกรรม และมีการสร้างอาชีพที่หลากหลายให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวจะนะมีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ อยากให้รักษาทะเลตรงนี้เอาไว้ เพราะทะเลไม่ได้หล่อเลี้ยงเพียงคนจะนะเพียงอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงคนทั้ง จ.สงขลา และเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็นบ่อขยะที่ให้นายทุนนอกประเทศมาทิ้งนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือบ่อขยะนี้เอาไว้ตามใจชอบ จึงอยากให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของท้องทะเล เพื่อรักษาทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้เอาไว้ ซึ่ง ไครียะห์ จะเดินหน้าทวงคืนพื้นที่สีเขียวและขัดขวางการก่อสร้างพื้นที่สีม่วง อันหมายถึง โครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ ต่อไปอย่างสุดความสามารถ ภายใต้ความร่วมมือของพี่น้องในชุมชนที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเธอมาโดยตลอด