FEATURE

‘เกรตต้า ธันเบิร์ก’ และ ‘ไครียะห์ ระหมันยะ’ 2 เยาวชนกับอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม

หนูชื่นชมในสิ่งที่เกรตต้าทำ และอยากบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านหนูว่าตอนนี้สถานการณ์ที่บ้านหนูกำลังเกิดอะไรอยู่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกในอนาคต

เสียงสะท้อนของ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนมุสลิมวัย 17 ปี ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ได้กล่าวถึง เกรตต้า ธันเบิร์ก เยาวชนชาวสวีเดนวัย 16 ปี ผู้ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายล้าน หันมาใส่ใจเรื่องของมลภาวะ

ไครียะห์ ตั้งใจจะเขียนจดหมายน้อยถึงเกรต้า เพื่อบอกเล่าปัญหาที่บ้านเกิดของเธอให้เกรต้าได้รับทราบ โดยไครียะห์ให้เหตุผลว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นบ่อขยะและกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมโลกได้ เธอไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เสียงเล็กๆ ของเด็กสาว อาจกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ผู้มีอำนาจได้ฉุกคิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เธอจึงอยากส่งเสียงนี้ถึงเกรต้า เพราะทั้งคู่มีอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

ไครียะห์ เป็นลูกสาวชาวประมงบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มต้นจากการนั่งประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อคัดค้านการก่อตั้ง เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอจะนะ จำนวน 16,753 ไร่ และใช้เงินลงทุนกว่า 18,680 ล้านบาท

ไครียะห์ ระหมันยะ

ขณะที่ เกรตต้า เริ่มต้นจากการประท้วง โดยการหยุดเรียนหนังสือ และนั่งอยู่ด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน ด้วยปัญหาสภาวะโลกร้อน เพราะในเดือน ส.ค. 2561 ประเทศสวีเดน มีช่วงซัมเมอร์ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 262 ปี ทำให้เกรต้า รู้สึกว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่าง เธอจึงหยุดเรียนถึง 3 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 9 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งของประเทศสวีเดน ที่หน้ารัฐสภา มีเด็กนักเรียนมาร่วมประท้วงกับเธอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่าเสียงของไครียะห์และเกรต้า สามารถปลุกพลังของเยาวชนในพื้นที่ให้ออกมาร่วมส่งเสียง แสดงออกให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของพลังเยาวชน โดย ไครียะห์ เริ่มทำกิจกรรมเพื่อชุมชนตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยกิจกรรมแรกคือการอนุรักษ์ทะเลและชายหาด ร่วมกับเพื่อนๆ ในชุมชน ซึ่งตั้งชื่อกลุ่มว่า “เด็กรักหาดสวนกง” นอกจากนี้ยังมีการติดตามภูมิปัญญาของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับชายหาดถึง 17 ภูมิปัญญา เช่น อาชีพประมงที่สามารถฟังเสียงปลาได้ การทำปลาสายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการประมง การปลูกแตงโม และพืชเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งการใช้พื้นที่ชายหาดให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมห่างไกลยาเสพติด

ทางด้าน เกรตต้า หลังจากที่เธอหยุดเรียนประท้วงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน จนมีเด็กนักเรียนมาร่วมประท้วงกับเธอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่บางคนถามเธอว่า ทำไมไม่เอาเวลาประท้วงกลับไปเรียนหนังสือ ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ แล้วหาวิธีดีๆ มาช่วยลดโลกร้อน เกรตต้าตอบกลับไปว่า 

ทำไมฉันต้องไปโรงเรียนอีกล่ะ ในเมื่อไม่มีใครสนเรื่องข้อเท็จจริงกันอีกแล้ว ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เสนอวิธีมากมาย มาเพื่อช่วยลดโลกร้อน แต่ไม่มีใครฟัง นักการเมืองไม่เคยฟัง แล้วทำไมฉันต้องไปเรียนหนังสือเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ล่ะ?

ทั้งนี้ ไครียะห์และเกรตต้า เป็นเด็กสาวที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ถึงแม้ไครียะห์ จะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่ากับ เกรตต้า แต่ทั้งคู่มีจุดยืนร่วมกันคือ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม ที่มีมนุษย์รุ่นก่อนหน้าและผู้มีอำนาจเป็นผู้กระทำ แสดงให้เห็นพลังของเยาวชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ดั่งประโยคเด็ดที่เกรตต้าเคยกล่าวไว้และมีผู้คนนำไปเป็นคำคมจำนวนมากคือ 

No One Is Too Small to Make a Difference

“ไม่มีใครเด็กเกินไป ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง”

Related Posts

Send this to a friend