FEATURE

เปิดเส้นทางการ ‘ทวงคืนผืนดินบ้านเกิด’ #Saveจะนะ ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ โครงการที่ไร้ความเป็นธรรมของ ศอ.บต.

นิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ แผนเมืองก้าวหน้าในอนาคต ใต้ปีก ศอ.บต. สู่ชนวนความขัดแย้งในพื้นที่อำเภอจะนะ

‘จะนะ’ หนึ่งใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ อ.จะนะ กลายเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านในชุมชน

ย้อนกลับไปวันที่ 7 พ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพิ่มเติมเป็นเมืองต้นแบบที่ 4 สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้นำพื้นที่ของ อ.จะนะ พัฒนาเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบในหลักการ

แผนงานพัฒนาจะนะได้กำหนดเขตผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และต.สะกอม โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่รออยู่ ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำเข้าและส่งออกผ่างทางท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งภาพรวมโครงการมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา ประกอบด้วยกิจกรรม 6 ประเภท คือ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่, พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ ,พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์, พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่, พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

ไครียะห์ : หวงแหน อนุรักษ์ และรักษา ทวงคืนพื้นที่สีเขียวสู่บ้านเกิด

“บ้านของหนูตั้งอยู่ริมทะเลเลยค่ะ เปิดประตูหลังบ้านก็เจอทะเล เปิดประตูหน้าบ้านก็เจอทะเล จากบ้านหนูเดินไปริมชายหาดไม่ถึง 30 ก้าวค่ะ ตอนเด็กๆ หนูนั่งอยู่หน้าบ้าน หนูเห็นปลาโลมาว่ายน้ำมา เป็นครั้งแรกที่หนูเห็นปลาโลมา หนูประทับใจและดีใจมาก เพราะตอนนั้นหนูเคยเห็นปลาโลมาในโทรทัศน์ ก็รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นของจริง ซึ่งชีวิตหนูจะอยู่กับท้องทะเลทุกวัน หัวจรดเท้าของหนู ตั้งแต่ผ้าฮิญาบของหนูแต่ละผืน เสื้อแต่ละตัว กางเกง รองเท้า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากทะเลทั้งหมด ถ้าไม่มีทะเลน่าจะไม่มีหนูในวันนี้เหมือนกัน”

คำกล่าวของ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ สาวน้อยมุสลิมวัย 17 ปี ที่พ่อแม่ประกอบอาชีพประมง เธอจึงผูกพันกับท้องทะเลอำเภอจะนะมาตลอดชีวิต วันนี้เธอได้ออกมาเรียกร้องเพื่อทวงคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งวันที่ 12 พ.ค. 2563 ไครียะห์ ได้เขียนจดหมายถึง “ปู่ประยุทธ์” เธอกำลังหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และปักหลักนั่งประท้วงอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเกือบ 50 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ที่กำหนดไว้ในวันที่ 14-20 พ.ค. 2563

ไครียะห์ กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ ถือเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ แต่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียด หรือถามความคิดเห็นของชาวบ้านว่าต้องการโครงการนี้หรือไม่ อีกทั้ง มติ ครม. ที่ออกมา ชาวบ้านไม่ได้ทราบรายละเอียดของโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้เลย โดยทาง ศอ.บต. สร้างกลอุบายให้ประชาชนยื่นบัตรประชาชนแลกกับน้ำมันพืช พร้อมล่าลายเซ็นชาวบ้าน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลยืนยันว่ามีชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการนี้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรม เพราะชาวบ้านไม่รู้เลยว่ารายชื่อของตนเองจะไปอยู่ในหนังสือสนับสนุนโครงการ หากโครงการนี้สร้างขึ้นจะมีการย้ายชาวบ้านทั้ง 3 ตำบลออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่หมู่บ้านเปี่ยมสุข ซึ่งชาวบ้านไม่ทราบว่าหมู่บ้านนี้อยู่ส่วนไหนของจังหวัดสงขลา

นอกจากนี้การจัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น เป็นการจัดกิจกรรมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอยู่ในช่วงที่พี่น้องมุสลิมถือศีลอด จึงเกิดความสงสัยว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวสามารถจัดได้จริงหรือไม่ ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันไปสอบถามผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เพื่อใช้ศาลากลางเป็นสื่อในการประสานงานไปยัง ศอ.บต. ว่าเวทีดังกล่าวคืออะไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นหนังสือ ไครียะห์ คิดว่าหากไปรอคำตอบที่บ้านจะได้รับคำตอบล่าช้า จึงตัดสินใจนั่งปักหลักรอคำตอบที่ศาลากลาง จ.สงขลา ดังข่าวที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชน

จดหมายน้อยถึง ‘ปู่ประยุทธ์’ ขอความเมตตาให้ยกเลิกมติ ครม. เพราะที่นี่คือแหล่งทำกินของครอบครัวหนู

สำหรับจดหมายฉบับแรกที่ไครียะห์ ส่งถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งของจดหมาย ระบุว่า

บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่หนูเคยมี ชีวิตทั้งชีวิต ความสุข ความทรงจำ ทุกเรื่องราวของหนู มาจากทะเลทั้งหมด ทะเลคือชีวิต ทะเลคือแม่ แม่ที่ไม่เคยทิ้งลูก พร้อมให้โอกาสลูกเสมอ

ป๊ะ(พ่อ) เคยเล่าให้หนูฟังว่า “เพื่อนของป๊ะ (พ่อ) เคยออกจากบ้านเพื่อไปทำงานนอกบ้านจนมีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ จนเงินที่ได้จากการทำงานไม่พออยู่ไม่พอกิน จึงต้องกลับมาบ้าน ออกทะเลทุกวัน มีเงินส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี”

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติ ครม. ให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ โดยไม่มีการถามไถ่คนจะนะมาก่อน

คุณปู่ประยุทธ์บอกว่าจะนำความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หนูได้ยินข่าวว่า ศอ.บต. จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ คนนอกพื้นที่ 3 ตำบล ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งเขาก็รับได้ผลกระทบเหมือนกัน โครงการระดับหมื่นล้านแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้

อีกทั้งในสถานการณ์โรคระบาดที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนลำบาก และเป็นช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด หนูไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่มาจัดเวที เวทีที่จำกัดสิทธิของคนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ขอให้คุณปู่ประยุทธ์ คิดทบทวนโครงการดังกล่าวว่าควรหยุดทำหรือไม่ ในเมื่อกระบวนการไม่เป็นธรรม

ขอให้ยกเลิกเวทีในลักษณะเช่นนี้ที่ไม่มีความชอบธรรม ริดรอนสิทธิของคนในชุมชน จะมีค่าอันใดเล่าหากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์ หนูจะนั่งและนอนตรงนี้ (หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา) จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไครียะห์ พร้อมชาวบ้าน อ.จะนะ ได้เดินทางด้วยรถไฟมายื่นจดหมายน้อยฉบับที่ 2 ถึงนายกฯ เพื่อขอให้ยกเลิกมติ ครม. ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และนั่งรอบริเวณริมรั้วหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบจากเจ้าหน้าที่ จนในที่สุด นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง และสัญญาว่าจะยื่นจดหมายน้อยฉบับนี้ให้กับนายกฯ โดยด่วนที่สุด

ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ได้ฝากว่า ทะเลจะนะเป็นทะเลอ่าวไทย อ.จะนะ มีการทำการเกษตรกรรม และมีการสร้างอาชีพที่หลากหลายให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวจะนะมีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ อยากให้รักษาทะเลตรงนี้เอาไว้ เพราะทะเลไม่ได้หล่อเลี้ยงเพียงคนจะนะเพียงอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงคนทั้ง จ.สงขลา และเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็นบ่อขยะที่ให้นายทุนนอกประเทศมาทิ้งนิคมอุตสาหกรรมฯ หรือบ่อขยะนี้เอาไว้ตามใจชอบ จึงอยากให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของท้องทะเล เพื่อรักษาทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้เอาไว้ ซึ่ง ไครียะห์ จะเดินหน้าทวงคืนพื้นที่สีเขียวและขัดขวางการก่อสร้างพื้นที่สีม่วง อันหมายถึง โครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ ต่อไป อย่างสุดความสามารถ ภายใต้ความร่วมมือของพี่น้องในชุมชนที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเธอมาโดยตลอด

Related Posts

Send this to a friend