FEATURE

กินเจตามศาสตร์แพทย์แผนไทย ปรับสมดุลตามธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4

ได้ทั้งอิ่มบุญและสุขภาพดีไปพร้อมๆกัน สำหรับการกินเจตามธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ซึ่งเป็นการเข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินผัก ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่นอกจากได้ทำกุศลโดยการงดเว้นเนื้อสัตว์แล้ว ยังช่วยปรับสมดุลร่างกายของคนแต่ละธาตุได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การกินเจหากไม่ทำอย่างถูกต้อง ก็สามารถทำให้เกิดปัญหา กับระบบย่อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากผักบางชนิดที่ใช้ปรุงอาหารนั้น มีลักษณะแข็ง หรือมีกากใยอาหารสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องอืดโดยไม่รู้ตัว

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ภญ. ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร” เลขาธิการ มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกินเจ ตามธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน ตามเดือนเกิดของแต่ละคน โดยเฉพาะการเพิ่มสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อน เพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย เนื่องจากอาการเจส่วนใหญ่นั้น มักจะมีฤทธิ์เย็นเนื่องจากปรุงด้วยผัก รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวัง ที่ทำให้หลายคนมีอาการท้องอืดได้ จากเมนูที่ปรุงด้วยผักสด ที่ไม่ได้รับการต้มตุ๋นหรือนึ่งเคี่ยวจนเปื่อยก่อนบริโภค

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า “การกินเจนั้นมีข้อควรระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน และหันเริ่มต้นหันมาบริโภคเจ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีเครื่องเทศ เป็นส่วนผสมค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีข้อกำจัดเรื่องอาหารที่มีกลิ่นฉุน ดังนั้นผู้รับประทานจำเป็นต้องรักษา ระบบย่อยอาหารให้เป็นปกติ เพราะอาหารเจส่วนใหญ่ปรุงจากผัก ซึ่งจะทำให้มีฤทธิ์เย็น จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด และอาหารไม่ย่อยดังกล่าวได้ แต่ข้อดีของอาหารเจนั้น คือการนำกากอาหารที่ได้จากผัก ไปล้างเมือกมันที่จับตัวกันเป็นก้อน และเป็นสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่ในลำไส้ออกไป โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานผักน้อย จะทำให้โปรตีนที่บริโภคเข้าไป จับตัวกันเป็นก้อนที่อยู่ที่ลำไส้ ทำให้ผนังลำไส้เกิดการโป่งพอง และนำมาซึ่งการเป็นโรคริดสีดวงทวาร ดังนั้นการกินเจจึงเป็น การล้างทำความสะอาดลำไส้ได้เป็นอย่างดี”

เลขาธิการ มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรุงอาหารเจที่ทำจากผักนั้น แนะนำให้ต้มหรือตุ๋นจนเปื่อยจะดีที่สุด โดยเฉพาะผักที่มีกากใยอาหารสูง หรือมีลักษณะแข็ง นอกจากนี้แนะนำให้เติม “สมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อน” เช่น ขิง,พริกไทย,เก๋ากี้ หรือ ขมิ้น ที่เพิ่มการย่อยอาหาร เพราะอย่าลืมว่าอาหารเจ ที่ปรุงด้วยผักจะมีฤทธิ์เย็น จึงจำเป็นต้องใส่สมุนไพรกลุ่มดังกล่าว เพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกายให้ผู้รับประทาน ไม่ให้ร่างกายเย็นจนเกินไป นอกจากนี้การเลี่ยงการบริโภคอาหารเจ ที่ปรุงจากผักสดโดยไม่ผ่านความร้อน และหันมาบริโภคเมนูที่ผ่านการต้ม นึ่ง หรือเคี่ยวให้เปื่อยก็จะดีสุขภาพผู้รับประทาน

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ บอกอีกว่า “ข้อดีของการบริโภคอาหารเจที่สำคัญอีกอย่าง นอกจากการ ล้างลำไส้ แล้ว คือการที่ร่างกาย จะได้รับสารไฟโตเคมีคอล (Phytochemicals) ที่พบได้ในผักผลไม้ซึ่งสามารถละลายได้ดีทั้งในน้ำและในน้ำมัน ที่ถือว่าเป็นประโยชน์กับร่างกาย และทำให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ และวิตามินอีอีกด้วย โดยเฉพาะวิตามินเอ ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ดวงตา รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนวิตามินอีนั้นช่วยปกป้อง และเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิว ที่สำคัญคนแต่ละธาตุเจ้าเรือน สามารถบริโภคอาหารเจได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสม กับคุณลักษณะธาตุทั้ง 4 หรือตามบุคลิกที่แตกต่างกัน ของผู้ที่เกิดต่างกันในแต่ละเดือน”

รู้จักธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ตามเดือนเกิดของแต่ละคน

เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “ศาสตร์การแพทย์แผนไทย แบ่งธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ออกเป็น “ดิน น้ำ ลม ไฟ” โดยเริ่มจากผู้ที่เกิดในเดือน มกราคม,กุมภาพันธ์,มีนาคม จะตรงกับธาตุเจ้าเรือนที่เป็น ธาตุไฟ (ปิตะ) ซึ่งจะมีบุคลิกที่รูปร่างสันทัด (สูงใหญ่) พูดเสียงดัง หิวบ่อย โกรธง่าย หายเร็ว ผมหงอกก่อนวัย ส่วนผู้ที่เกิดในเดือน เมษายน,พฤษภาคม,มิถุนายน จะตรงกับธาตุเจ้าเรือน อย่าง ธาตุลม (วาตะ) ที่มีลักษณะรูปร่างผอมแห้ง ผิวและผมแห้ง พูดเยอะ อารมณ์แปรปรวน ขี้กลัว ยากรู้อยากเห็น นอนหลับยาก ส่วนผู้ที่เกิดในเดือน กรกฎาคม,สิงหาคม,กันยายน จะตรงกับธาตุเจ้าเรือน อย่าง ธาตุน้ำ (เสมหะ) มีลักษณะบุคลิกที่พูดไพเราะ รูปร่างอวบ เคลื่อนไหวช้า ใจเย็น และชอบนอน ผมสวยดกดำ และผู้ที่เกิดในเดือน ตุลาคม,พฤศจิกายน,ธันวาคม จะตรงกับธาตุเจ้าเรือนอย่าง ธาตุดิน (เสมหะ) รูปร่างสูงใหญ่ (เจ้าเนื้อ) มีน้ำหนักตัวมาก ผมและคิ้วดกดำ ผิวคล้ำ พูดเสียงดังฟังชัด”

กินเจอย่างไร? ให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4

ภญ. ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วธาตุเจ้าทั้ง 4 สามารถบริโภคอาหารเจได้ทุกคน แต่ทั้งนี้ควรเลือกให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน ที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย เนื่องจากหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองนั้น ตรงกับธาตุเจ้าเรือนอะไร ดังนั้นจึงทำให้เทศกาลถือศีลกินผัก กลายเป็นทำร้ายสุขภาพ ทั้งโรคอ้วนลงพุง จากอาหารเจที่ใช้น้ำมันในการปรุงค่อนข้างมาก หรืออาการท้องอืดท้องเฟ้อโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้ว่าอยู่ในช่วงงดเว้นเนื้อสัตว์ก็ตามที หรือรู้สึกว่าอาหารที่เรากินเข้าไป กระตุ้นให้ร่างกายเกิดความร้อน หรือหงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเมื่อรับประทานเจแล้วผิวพรรณไม่ผ่องใส ไม่มีน้ำไม่มีนวล เป็นต้น”

1.ธาตุไฟ (ปิตะ) มักจะเป็นคนที่มีชัดเจนตรงไปตรงไปมา ใจร้อน ขี้หงุดหงิด และทำทุกอย่างต้องเรียบร้อย รูปร่างสันทัด แต่มีข้อดีที่สำคัญคือเป็นคนที่ย่อยง่าย และขับถ่ายได้ค่อนข้างดี ดังนั้นสามารถกินอาหารเจทำจากผักได้ทุกชนิด และสามารถเพิ่มเต้าหู้ หรือเมนูจากเต้าหู้ได้มากกว่าธาตุอื่นๆ ที่สำคัญไม่จำเป็นเพิ่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน เช่น ขิง พริกไทย เก๋ากี้ ขมิ้น มากเกินไป เนื่องลักษณะเป็นผู้ที่ใจร้อน หรือมีความร้อนอยู่ในร่างกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

2.ธาตุลม (วาตะ) เนื่องจากบุคลิกของคนธาตุลม จะมีลักษณะผอมแห้ง และมีผิวพรรณแห้ง ดังนั้นเมนูอาหารเจที่เหมาะกับธาตุเจ้าเรือน แนะนำให้เพิ่มทั้งเต้าหู้และฟองเต้าหู้ รวมถึงหัวไชเท้าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ร่างกาย ของคนธาตุลมไม่ให้แห้งจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ให้เติมสมุนไพรที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนอย่าง ขิง พริกไทย เก๋ากี้ ขมิ้น เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล ในที่นี้คือไม่แห้งไม่เย็นแต่ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มความอุ่นให้ร่างกาย ด้วยสมุนไพรที่กล่าวมา

ภญ. ดร.สุภาภรณ์ กล่าว “เมนูเจปรับสมดุลคนธาตุลม ได้แก่ ผัดขิงเจใส่เห็ดหอมหรือเต้าหู้ ,ต้มซุปหัวไชเท้าใส่ฟองเต้าหู้ และเม็ดเก๋ากี้เล็กน้อย เพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อน ส่วนของหวานนั้นสามารถปรับ ความสมดุลธาตุด้วยบัวลอยน้ำขิงเจ ก็ได้เช่นกัน”

3.ธาตุน้ำ (เสมหะ) เนื่องจากธาตุเจ้าเรือน เป็นผู้ที่มีรูปร่างค่อนข้างอวบท้วม หรือมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก แนะนำให้ลดอาหารเจที่มีความมันลง รวมถึงเมนูที่ทำจากเต้าหู้ลงเช่นกัน แต่สามารถเปลี่ยนเป็นฟองเต้าแทนได้ และให้เพิ่มเมนูอาหารเจที่ปรุงจากผัก ที่ผ่านการต้มตุ๋นหรือเคี้ยวจนเปื่อย แต่เพื่อไม่ให้ร่างกายเย็นจนเกินไป สามารถใส่สมุนไพรไทยที่มีความเผ็ดร้อน เช่น ขิง พริกไทย เก๋ากี้ ขมิ้น ลงไปได้เช่นกัน

4.ธาตุดิน (เสมหะ) ลักษณะของผู้ที่เกิดธาตุน้ำและธาตุดิน จะมีความใกล้เคียงกัน คือจะเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ดังนั้นจึงต้องลดเมนูอาหารเจที่ทำจากเต้าหู้ หรือรับประทานให้น้อยลง แต่ยังบริโภคฟองเต้าหู้ได้ ที่สำคัญควรรับประทานผักให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ร่างกาย เนื่องจากคนทั้งสองธาตุนั้น (ธาตุน้ำและธาตุดิน) บางคนจะมีเสมหะค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่ม ความเผ็ดร้อนให้กับร่างกาย เพื่อขับไล่เสมหะ ด้วยสมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่กล่าวมา

เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำว่า “เมนูของคนที่เกิดธาตุน้ำ และธาตุดิน (เสมหะ) นั้นจะมีความเหมือนกัน เนื่องจากมีลักษณะรูปร่างอวบท้วม หรือน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรลดเมนูอาหารเจที่ปรุงด้วยน้ำมัน แต่ปรับเปลี่ยนเป็นเมนูเจที่ปรุงด้วยการต้ม หรือตุ๋น ได้แก่ แกงจืดฟองเต้าหู้ยัดไส้เห็ด และสามารถใส่เม็ดเก๋ากี้ ลงไปเล็กน้อยเพื่อความเผ็ดร้อน หรือสามารถโรยพริกไทยลงในอาหารเล็กน้อย เพื่อปรับสมดุลร่างกาย หรือ เมนูต้มจืดมะระยัดไส้เจ ที่ใส่เม็ดเก๋ากี้ลงไปเช่นกัน”

นอกจากการเพิ่มสมุนไพรฤทธิ์ร้อนแล้ว การปรุงอาหารเจด้วยการลดหวาน มัน เค็มลง ก็ช่วยทำให้สุขภาพดีด้วย

Related Posts

Send this to a friend