FEATURE

คุณทำได้!! เทคนิคชะลอวัยคืนความอ่อนเยาว์ หลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

เชื่อว่าหลายคนก็สามารถทำตามกันได้ สำหรับเทคนิคชะลอวัยห่างไกลความแก่ เพื่อคงความอ่อนเยาว์ให้อยู่กับเราตลอดไป โดยเฉพาะการดูแล 2 ปัจจัยสำคัญอย่าง ร่างกายและจิตใจ ที่มีผลต่อสุขภาพโดยรวม ที่ถือเป็นเสาหลักในการลดอายุขณะเดียวกัน ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงไปพร้อมๆกัน เนื่องจากทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะหากจิตใจดีร่างกายก็จะดี แต่หากจิตใจป่วยหรือรู้สึกซึมเศร้าเหงาหงอย ร่างกายก็จะป่วยตามไปด้วย เพื่อคืนความหน้าเด็กชนิดที่คนรอบข้าง เดาอายุของคุณไม่ออก ไปพร้อมกับสุขภาพที่ฟิตปั๋งนั้น

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “พญ.ณัฐชญา ไมตรีเวช” แพทย์ทางเลือกเวชศาสตร์ชะลอวัย เจ้าของสถาบันเสริมความงามชื่อดังอย่าง “ณัฐชญา คลินิก” (Natchaya Clinic) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีชะลอความแก่ โดยการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ที่ถือเป็นประเด็นหลัก ในการมีร่างกายที่แข็งแรง ขณะเดียวกันก็คงความอ่อนเยาว์ไปด้วยในตัว อีกทั้งหากทำตามได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งชะลอวัยได้ดีเท่านั้น

พญ.ณัฐชญา ให้ข้อมูลว่า “สำหรับเทคนิคชะลอวัยอย่างไรไม่ให้แก่นั้น เนื่องจากร่างกายของเราประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 นี้อยู่ติดกันหรือเชื่อมโยงกันชนิดที่แยกกันไม่ออก เพราะถ้าจิตใจดีร่างกายก็จะดีไปด้วย แต่หากจิตใจของเราป่วย หรือเมื่อไรที่เรารู้สึกซึมเศร้าร่างกายของก็เจ็บป่วย หรืออ่อนล้าอ่อนแรงตามไปด้วย ประกอบกับการดูแลร่างกาย เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้และทำได้ง่าย ดังนั้นการเริ่มดูแลสุขภาพด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้ ไม่เพียงทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ทว่ายังช่วยดูแลจิตใจให้แจ่มใสอีกด้วย เมื่อนั้นความอ่อนเยาว์ ก็จะปรากฎขึ้นได้อย่างชัดเจน”

คืนความอ่อนเยาว์ด้วยเทคนิค 4 วิธีชะลอวัย เน้นการดูแลร่างกายภายนอก สู่ภายในแจ่มใส

1.การนอน ซึ่งเราจำเป็นต้องให้นอนให้เพียงพอ แม้ว่าในแต่ละคนนั้นจะต้องการการพักผ่อนที่ไม่เท่ากัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ที่สำคัญต้องเป็นการนอนแบบหลับลึก หรือ Deep Sleep ซึ่งจะทำให้นาฬิกาชีวิต ของเราทำงานได้อย่างปกติ หรือทำให้การหลั่งโกรทฮอร์โมน ระหว่าง 4 ทุ่ม-ตี 2 เพื่อซ่อมแซมร่างกายที่สึกเหรอนั้น สามารถทำงานได้อย่างปกติ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยคงความอ่อนเยาว์ได้ พูดง่ายๆคือเราไม่ควรเข้านอนเกินช่วง 4 ทุ่ม-เที่ยงคืน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้นาฬิกาชีวิตมีปัญหา หรือทำให้ระบบฮอร์โมน ในร่างกายเกิดความเครียด ซึ่งจะส่งผลต่ออารมณ์ และจิตใจของเราเวลาที่ตื่นเช่นเดียวกัน

2.เรื่องการกิน เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่า การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีโทษน้อยเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรเข้มงวดกับจิตใจมากเกินไป แต่แนะนำให้เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพแต่พอดี เช่น บางคนอยากกินหมูกระทะ ที่มีการปิ้งย่างและมีการไหม้ ดังนั้นก็ควรรับประทานปีละ 1 ครั้ง หรือกินให้น้อยลง แต่ถ้าเป็นหมูกระทะที่ไม่ได้ปิ้งจนไหม้ หรือสุกกำลังพอดี ก็สามารถรับประทานได้เดือนละ 1 ครั้ง หรือ 3 เดือน 1 ครั้งก็ได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าทุกอย่างต้องบาลานซ์ทั้งกายและใจร่วมกัน และปกติแล้วเรามักรู้กันดีอยู่แล้วว่าอาหารอะไรที่ดี หรือไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นถ้าอาหารชนิดไหนที่ไม่ดีก็ไม่ควรบริโภค หรือเลือกกินให้น้อยลง เพื่อให้หัวใจรู้สึกชุ่มชื่นก็เพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างอาหารที่มีน้ำตาล หรือมีความหวาน ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นถ้าเราอยากลดละเลิก ก็แนะนำให้ทำต่อเนื่องกันประมาณ 2 อาทิตย์ เราก็จะสามารถลดน้ำตาลได้เองโดยอัตโนมัติ

“หรือแม้แต่อาหารที่เราชอบมาก เช่น หมูกระทิที่หากปิ้งจนไหม้เกรียม อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้นั้น แต่อันที่จริงแล้วอาหารที่มีสารก่อมะเร็งนั้น ถ้าหากเรากินไม่บ่อย หรือ 3 เดือนครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคมะเร็ง เพราะการที่เราจะเป็นมะเร็งนั้น ต้องได้รับความถี่หรือบ่อย จนกระทั่งทำให้ยีนส์ หรือ DNA เกิดความผิดปกติ กระทั่งผลิตโปรตีนหรือเซลส์ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นจึงต้องกังวลมากเกินไป แต่เพียงแค่ทำให้เรารู้สึกดี ที่ได้กินของชอบ เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างความสุขทางใจให้เราอย่างหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว”

3.การออกกำลังกาย ร่างกายของมนุษย์ ถูกออกแบบมาให้ขยับหรือเคลื่อนไหว ดังนั้นการออกกำลังกาย จึงเท่ากับเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรง ทั้งนี้ในกลุ่มของคนที่นั่งเก้าอี้ โดยไม่ขยับตัว ก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่นทำให้จิตใจรู้สึกเหนื่อยเฉื่อย ซึ่งจะส่งผลต่อมวลกล้ามเนื้อ เพราะการไม่ขยับร่างกาย จะทำให้มวลกล้ามเนื้อลีบลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างคนไข้ที่เป็นผู้สูงวัย ที่ป่วยเป็นโรคสโตรก หรือโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อนอนอยู่บนเตียงโดยไม่ขยับร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อลีบ และส่งผลต่อการขยับแขนและขา ทำให้ต้องกายภาพบำบัดผู้ป่วยกลุ่มนี้

“ดังนั้นยิ่งเข้าสู่วัยสูงอายุ ยิ่งต้องหมั่นขยับร่างกาย เช่น การเดิน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆได้ดี แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องยกเวท หรือวิ่งมาราธอนเหมือนคนอื่น แต่ควรเลือกการออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเลือกการเดินออกกำลังกาย ก็สามารถเดินไปข้างหน้า สลับกับการเดินถอยหลัง ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อของเราได้ขยับ ที่สำคัญควรออกกำลังกาย โดยให้รู้สึกเหนื่อย เพื่อให้หัวใจเต้นเร็ว หรือเหนื่อยมากกว่าปกติประมาณ 20-30 % แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องจับเวลา ก็ใช้วิธีที่ว่าให้ออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อย และทนต่อไปอีกสักครู่ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่เหนื่อยกำลังพอดีค่ะ”

ประกอบกับมีรายงานการวิจัย ที่ยืนยันว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลดีกับสุขภาพพื้นฐาน ทั้งทางด้านร่างกาย ผิวพรรณ สมอง ความจำ การนอนหลับ และจิตใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ได้อีกด้วย จึงเป็นการเทคนิคการชะลอวัยได้ทางหนึ่ง และขณะที่ออกกำลัง ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา จึงช่วยให้สุขภาพดี และทำให้คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูอ่อนเยาว์กว่าวัยนั่นเอง

4.การดูแลจิตใจ ด้วยการรับมือกับความเครียด สำหรับความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความเครียดที่เกิดร่างกาย เช่น การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป หรือการนั่งท่าเดียวตลอดเวลา ซึ่งอิริยาบถดังกล่าว มักนำมาสู่ความเครียดทางใจ ซึ่งหากสะสมไว้เวลานานๆ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิดเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ทำให้การตึงที่คอบ่าไหล่ ดังนั้นวิธีจัดการความเครียด ที่เกิดขึ้นจากรูปแบบที่ร่างกายอยู่ในท่าเดิมๆนั้น คือการพักจากการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป เช่น จากที่ออกกำลังกายตลอดทั้ง 7 ก็ควรให้เหลือเพียง 3-4 วัน หรือ เปลี่ยนจากการวิ่งมาราธอนเป็นว่ายน้ำแทน เป็นต้น

ส่วนการรับมือความเครียดทางใจ ที่เกิดขึ้นจากจิตใจของเราเองนั้น แนะนำให้อยู่กับสิ่งที่ผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ หรือเล่นโยคะ การไปนวดผ่อนคลาย การทั่งการพบเจอเพื่อน เพื่อพูดคุยและระบายความทุกข์ความในใจ จะทำให้ความเครียดทางใจลดลง หรือแม้แต่วิธีที่ง่ายที่สุด คือการรู้ลมหายใจของตัวเอง ตั้งแต่หัวจรดเท้าและเท้าจรดหัว ว่าขณะนั้นเราอยู่ในท่าทางไหน ก็เป็นวิธีสร้างความผ่อนคลายอย่างง่ายๆ หรือการรู้ว่าขณะที่เราหายใจเข้านั้น ออกซิเจนได้เข้าไปในปอดแล้ว หรือลองสังเกตว่าการที่เรารู้ลมหายใจเข้าออก ขณะที่เราทำท่าทางต่างๆนั้น ความเครียดของเราลดลงหรือไม่ หรือรู้สึกผ่อนคลายหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้เป็นการเช็คความเครียดในใจได้ แต่ถ้าหากความเครียดในใจยังไม่ดีขึ้น

“แนะนำว่าการหางานอดิเรกทำ ก็ถือว่าเป็นการสร้างความผ่อนคลายทางใจได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นงานอดิเรกที่เราทำแล้วแฮปปี้ จึงทำจะทำให้มีความสุข เพราะการทำงานอดิเรกที่เราไม่ชอบ เช่น การวาดรูป นั่นจะทำให้เรายิ่งเครียด เพราะไม่ใช่ที่ทุกคนจะชอบการวาดภาพ ดังนั้นสามารถเลือกสิ่งที่ชอบ เช่น การฟังเพลง หรือการเล่นดนตรีที่ใช้การเคาะ เพื่อฟังเสียงก็จะช่วยทำให้สมองซึบซับในคลื่นความถี่ ที่ช่วยทำให้เราผ่อนคลายได้อีกทางหนึ่งค่ะ”

วิธีคืนความอ่อนเยาว์ที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพกาย ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพใจ ที่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ที่หากเริ่มทำตั้งแต่วันนี้จนเกิดความเคยชิน รับรองหน้าเด็กคนเดาอายุไม่ถูกแน่นอน ที่สำคัญยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย…จริงไหมคะ

Related Posts

Send this to a friend