FEATURE

จัดบ้านปลอดภัย-เลือกเฟอร์นิเจอร์ลดความแหลมคม สุขบัญญัติสุขภาพดีคนวัยเก๋า

การจัดบ้านให้ปลอดภัย และการเลือกเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ ที่เหมาะกับสรีระผู้สูงวัย ถือเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนวัยนี้ให้แข็งแรงได้ ที่สำคัญยังถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สำหรับการดูแลผู้สูงวัยให้สามารถทำกิจกรรมภายในบ้าน หรืออยู่อาศัยได้โดยปราศจากการบาดเจ็บ และป้องกันการหกล้ม ที่เป็นสาเหตุของกระดูกโพกหัก นำไปสู่ภาวะติดเตียงและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ที่สำคัญการปล่อยให้บ้านรก ไม่เพียงก่อให้อันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย แต่ยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกในบ้านไม่สดชื่นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การปลูกบ้านชั้นเดียว แบบไม่เล่นระดับ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดูแลผู้สูงวัยเช่นกัน เพราะคนวัยมักจะเดินขึ้นลงบันไดลำบาก ดังนั้นบ้านที่มีเลเยอร์ มักเสี่ยงได้ต่อการหกล้มได้ง่าย

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “มณทิพา กานต์วรัญญู” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ จากศูนย์การแพทย์โพธาราม จ.ราชบุรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดบ้านปลอดภัย โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียวรุ่นใหม่ที่ทำทางเดินลาด สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ แทนการขึ้นบันไดที่เสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม และการเลือกเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นมิตรกับสุขภาพคุณตาคุณยาย อย่างเฟอร์นิเจอร์โมเดิร์นที่ออกแบบความโค้งมน เพื่อช่วยรองรับสรีระผู้สูงวัยได้ดี เนื่องจากหลายคนกังวล เรื่องความแข็งที่อาจกระตุ้นให้คนวัยนี้ ปวดเมื่อยได้ง่ายหากซื้อมาใช้งาน หรือแม้แต่โต๊ะเก้าอี้สไตล์มินิมอล เทรนด์เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก ที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ ที่สามารถมิกซ์แอนด์ให้ผู้สูงวัย ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย

มณทิพา ให้ข้อมูลว่า “การจัดบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น เริ่มจากตัวบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ที่ควรเน้นการสร้างบ้านชั้นเดียว ที่ไม่ควรสร้างแบบเล่นระดับ เพื่อป้องกันพ่อแม่ของเราสะดุดหกล้ม และหากบ้านไหนที่มีคนแก่อายุเกิน 70 ปี จำเป็นต้องทำทางลาดสำหรับเดินขึ้นลง แทนการเดินขึ้นบันไดหน้าบ้าน ที่จำเป็นสำหรับสมาชิกวัยอื่นๆ เพื่อรองรับทั้งผู้สูงวัยอายุมาก และผู้สูงวัยที่พิการอยู่บ้าน ให้เดินเข้าบ้านได้สะดวก ทั้งนี้ทางลาดจะต้องมีราวไว้ ให้ผู้สูงอายุไว้จับหรือยึดเหนี่ยว เวลาเดินขึ้นลงเข้าออกบ้าน เพื่อป้องกันการหกล้ม อีกทั้งบริเวณหน้าบ้าน จะต้องปรับทางต่างระดับให้เท่ากัน (ถมเดินให้สูงเท่ากับตัวบ้าน ป้องกันทางเดินเข้าบ้านสูงๆต่ำๆ)”

แยกโซนห้องน้ำ ติดตั้งกระเบื้องกันลื่น ช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตวัยเก๋าป้องกันหกล้ม

“สำหรับการจัดบริเวณภายในตัวบ้าน เช่น ห้องน้ำ ควรแยกอ่างอาบน้ำ กับชักโครก ออกจากกันคนละห้อง หรือมีประตูกั้นทั้งสองโซนออกจากกัน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม ขณะเข้าห้องน้ำทำธุระ จากการลื่นน้ำที่เปียกพื้น เนื่องจากการอาบน้ำก่อนหน้า และควรปูกระเบื้องกันลื่นในห้องน้ำ (กระเบื้องแกรนิตโต้ เป็นกระเบื้องปูห้องน้ำ ที่มีส่วนผสมของหินแกรนิต จึงมีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน สามารถทำความสะอาดง่าย ที่สำคัญเป็นกระเบื้อง ที่ป้องกันการลื่นล้มได้ดี) นอกจากนี้ประตูห้องน้ำที่มีผู้สูงอายุ ควรติดตั้งประตูที่สามารถ เปิดได้ทั้งด้านในและด้านนอก โดยไม่ต้องมีลูกปิดล็อค เพื่อป้องกันผู้สูงอายุหลงลืม และเปิดประตูไม่ออก หรือช่วยเหลือได้ทัน หากผู้สูงอายุล้มขณะเข้าห้องน้ำ เป็นต้น”

เลือกที่นอนยางพารา รองรับความโค้งของสรีระร่างกายผู้สูงวัยได้ดี

ส่วนการจัดห้องนอนนั้น แนะนำว่าการจัดเตียงที่ถูกต้อง ควรเลือกฟูกนอนที่ไม่หยาบ เพราะจะทำให้ลุกยากและเกิดอาการปวดเมื่อยได้ อีกทั้งควรเลี่ยงฟูกที่อ่อนนุ่มจนเกินไป เพราะเวลาที่ผู้สูงวัยนอน ที่นอนจะดูดหลัง หรือทำให้ลุกยาก และปวดตามเนื้อตัวได้ง่ายเช่นกัน แนะนำให้เลือกที่นอนทำจากยางพารา เนื่องจากเป็นที่นอนที่สามารถ รองรับความโค้งงอของกระดูก หรือเข้ากับสรีระของร่างกายผู้วัยได้ดี อีกทั้งเวลาลุกนั่งก็สามารถทำได้ง่าย จึงเหมาะกับผู้สูงอายุมากที่สุด

ใช้ธูปเสียบปลั๊กในห้องพระ-ติดกล้องวงจรในบ้าน-ป้องกันอัคคีภัย และช่วยเหลือผู้สูงวัยประสบอุบัติเหตุหกล้มได้

ผู้สูงวัยที่ชอบไหว้พระสวดมนต์ แนะนำให้เลี่ยงการจุดธูปของจริง เพราะธูปเป็นสาเหตุที่ก่อโรคมะเร็งได้ หากได้รับการสูดดมเวลานานๆ ที่สำคัญการจุดธูปเสี่ยงต่อไฟไหม้บ้าน กรณีที่ผู้สูงวัยบางรายมักจะขี้ลืม ดับธูปหรือเทียนในห้องพระ ดังนั้นแนะนำให้ลูกหลาน ซื้อธูปแบบเสียบปลั๊กไฟแทน เวลาที่พ่อแม่ไหว้พระแล้วก็สามารถถอดปลั๊กออกได้ ออกทั้งภายในบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัย จำเป็นต้องติดกล้องวงจรปิด เพื่อดูเรื่องการหลงลืมถอดปลั๊กไฟต่างๆ และการติดกล้องวงจรปิด ยังเป็นการป้องกันภัย หรือสามารถช่วยเหลือได้ กรณีที่คนชราอยู่บ้านเพียงลำพังและหกล้ม หากลูกหลานไปทำงาน

“อีกทั้งก่อนออกจากบ้านไปทำงานทุกครั้ง แนะนำให้ลูกหลานพูดคุย หรือบอกกับผู้สูงวัย ที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ด้วยการทักทายหรือชวนคุยว่า “หนูไปทำงานแล้วนะคะ คุณตาอยู่บ้านอย่าลืมทานข้าวนะค่ะ” เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนวัยนี้ สามารถจำลูกหลานได้ และทำให้ท่านรู้สึกว่ามีลูกหลานคอยเป็นห่วง ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ท่านนั่งดูทีวีคนเดียว และลูกหลานก็ออกไปทำงานโดยไม่บอกลา”

ผู้สูงวัยสามารถใช้เฟอร์นิเจอร์โมเดิร์นได้-เน้นโทนสีสบายตานั่งแล้วสบายใจ

หลายคนที่เป็นห่วงเวลาคนสูงวัย จะสามารถใช้เฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ดีไซน์โมเดิร์นได้หรือไม่นั้น อันที่จริงแล้วสามารถใช้ได้ค่ะ เพราะเฟอร์นิเจอร์สมัยนี้ จะบุหนังหรือเบาะที่มีความนุ่ม อีกทั้งดีไซน์จะมีความโค้งมัน จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย จากความแหลมคมของโต๊ะเก้าอี้ เวลาที่ผู้สูงวัยใช้งานหรือเดินชน ที่สำคัญการออกแบบด้วยความโค้งมันดังกล่าว จะช่วยรองรับสรีระกระดูกสันหลังของผู้สูงอายุได้ค่อนดี ส่วนการเลือกสีเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์น ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ แนะนำว่าควรเลือกโต๊ะเก้าอี้ต่างๆ ที่เป็นโทนสีสบายตา เช่น โทนสีขาว, เขียวอ่อน, ฟ้าอ่อน ก็จะทำให้คนวัยนี้สามารถนอนหรือนั่งได้อย่างรู้สึกสบาย และรู้สึกนุ่มนวลเวลาใช้งาน แนะนำให้เลี่ยงโทนสีแดง,สีส้ม,เขียวนีออน เพราะเป็นสีโทนร้อน จะทำให้รู้สึกแสบตา หรือไม่อยากใช้งานเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้

ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลด้วยที่วางแขนนุ่ม เพิ่มความสบายขั้นสุดให้ผู้สูงอายุ

บ้านไหนที่ลูกหลานชื่นชอบ เฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์มินิมอล ผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานร่วมได้เช่นกัน เพราะเนื่องจากโต๊ะเก้าอี้ หรือแม้แต่เตียงนอนสไตล์น่ารักนี้จะทำจากไม้ แต่ด้วยการดีไซน์ที่มีความโค้งมน และมักจะมีเหลี่ยมหรือคมที่ค่อนข้างน้อย จึงเอื้อต่อการที่ผู้สูงอายุจหยิบมานั่งพักผ่อนได้เช่นกัน ที่สำคัญลูกหลานสามารถทำปลอกรองแขนที่นุ่ม โดยนำมาติดไว้ที่เก้าอี้สไตล์มินิมอลนี้ ก็จะช่วยทำให้คุณตาคุณยายนั่งสบายมากยิ่งขึ้น และช่วยเสริมลุคการตกแต่งบ้านสไตล์วินเทจ ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้จริงอีกด้วย

เฟอร์ไม้เก่าแกะสลักลวดลาย-เก้าอี้นุ่ม เสี่ยงการบาดเจ็บจากการเดินชนและหกล้มได้

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่คุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะโซฟาไม้ต่างๆ ที่ดีไซน์ให้แผ่กิ่งก้านสาขา หรือตกแต่งลวดลวยด้วยการแกะสลักต่างๆ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ ค่อนข้างมีความแหลมคม ที่อาจทำให้เกิดบาดแผลเวลาที่ผู้สูงวัยเดินชน อีกทั้งความแข็งของตัวไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนวัยนี้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากไม่มีเบาะนุ่มรองบนเฟอร์นิเจอร์ไม้เหล่านี้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง รวมถึงเก้าอี้อาร์มแชร์ ที่ดีไซน์ให้มีลักษณะนุ่มเกินไป ก็ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะเวลานั่งลงไปจะรู้สึกหยวบ หรือเก้าอี้จะดูดทำให้ลุกยืนลำบาก และเสี่ยงต่อการที่ผู้สูงวัยหกล้มขณะยืน

Related Posts

Send this to a friend