FEATURE

พาลูกเที่ยวปีใหม่ให้สนุกสุขสันต์ พ่อแม่อย่าละเลยความปลอดภัยลูกหลาน

ผอ.สถาบันเด็กฯ เผย พาลูกเที่ยวช่วงปีใหม่ ระวังภัยช่วงเดินทาง แหล่งน้ำใกล้ตัวเด็ก เฝ้าระวังไฟดูด และเด็กพลัดหลงเมื่ออยู่ท่ามกลางคนแออัด

เติมเต็มความสุขของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่คิดจะพาลูกเที่ยวช่วงปีใหม่ ด้วยการไม่ลืมใส่ใจความปลอดภัยของลูกหลานตัวน้อยๆที่อาจพลัดหลง หรือแม้การบาดเจ็บขณะเดินทางจากอุปกรณ์ภายในรถที่ติดตั้งไม่เรียบร้อย ไล่ไปถึงการจมน้ำบริเวณสระน้ำของโรงแรม รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างขณะท่องเที่ยว ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวมถึงสถานที่ควรและไม่ควรไป หรือสถานที่ไหนที่เมื่อไปแล้ว ต้องหมั่นดูแลความปลอดภัย ให้ลูกหลานเพิ่มเป็นสองเท่า โดยเฉพาะผู้ปกครองที่พาเด็กๆไปในที่ชุมชน เพราะเด็กเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย

The Reporters ได้พูดคุยกับ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็ก ช่วงฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะผู้ใหญ่มักจะละเลยเกี่ยวกับภัยในเด็กเล็ก ขณะที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาสนุกสนาน หรือมองข้ามภัยใกล้ตัว เช่น การที่เด็กจมน้ำบริเวณสระน้ำของโรงแรมในสถานที่ไปท่องเที่ยว ขณะที่มีคนเดินพลุกพล่าน หรือแม้แต่การที่เด็กถูกไฟช็อต ขณะวิ่งเล่นบริเวณสระน้ำเป่าลม ซึ่งมีเสียงเพลงเปิดดังอึกทึก ซึ่งภัยในเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถป้องกันได้ เพื่อให้เด็กๆได้ท่องเที่ยว อย่างมีสุขช่วงสิ้นปีอย่างนี้

นพ.อดิศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า “ สิ่งที่ต้องระดังอันดับแรก ในการพาเด็กเที่ยวปีใหม่ คือการบาดเจ็บอันเนื่องจากการเดินทาง เช่น “หัวกระแทก” ขณะเบรครถยนต์ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองจำเป็นต้องติดคาร์ซีทในรถ และต้องติดตั้งให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน ประการที่สองคือหากต้องเดินทางด้วยมอเตอร์ไซต์ ก็จำเป็นต้องใส่หมวกกันน็อคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงต้องตรวจเช็ครถจักรยานยนต์ว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ ส่วนครอบครัวไหนที่ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะ แนะนำให้เลือกรถสาธารณะ ที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยต่างๆเรียบร้อยหรือไม่ ที่สำคัญผู้ปกครองจำเป็นคาดเข็มขัดนิรภัยให้ทั้งตัวเองและเด็ก ขณะที่โดยสารเช่นเดียวกัน

และเมื่อไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆแล้ว เช่น โรงแรมที่พัก ภัยที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม คือการที่ “เด็กจมน้ำ” ในสระว่ายน้ำของโรงแรม โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้นการที่พ่อแม่บอกให้เด็กระมัดระวังตัวขณะเล่นน้ำ ในสระว่ายน้ำอย่างเดียวไม่พอ แต่จำเป็นต้องมีคุณพ่อหรือคุณแม่คอยประกบอยู่เป็นเพื่อนลูกด้วย หรือ หากเด็กอายุเกิน 6 ปี พ่อแม่จำเป็นต้องบอกให้ลูก รู้และเข้าใจเกี่ยวกับจุดเสี่ยง โดยการชี้ให้เด็กดูว่าบริเวณสระน้ำของโรงแรม จุดใดเป็นจุดเสี่ยงบ้าง หรือจุดไหนที่เด็กเล่นน้ำได้หรือไม่ได้ ที่สำคัญเด็กอายุเกิน 6 ปี จำเป็นต้องลอยตัวในน้ำได้ 3 นาที ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กวัยนี้ควรมี ซึ่งในโรงเรียนควรมีสอนทักษะดังกล่าวให้เด็ก และเด็กวัยนี้ว่ายน้ำลึกได้ไม่เกิน 15 เมตร ที่สำคัญเมื่อพบเห็นเพื่อนกำลังจะจมน้ำ เด็กต้องรู้จักการตะโกนบอกผู้ใหญ่, โยน, ยื่นอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนวัยเดียวกันจมน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อไปถึงโรงแรมที่พัก แนะนำว่าผู้ปกครองควรสำรวจทางหนี ทั้งนี้เพื่อป้องกันกรณีไฟไหม้ เพื่อป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการ “สำลักควันไฟ” นั่นเอง พ่อแม่จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องทางหนีไฟก่อน ส่วนครอบครัวไหนที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ แนะนำว่าให้ใส่เสื้อชูชีพให้เด็กขณะลงเรือทุกครั้ง และต้องเลือกเสื้อชูชีพไซส์ที่พอดีกับตัวเด็ก เพื่อป้องกันเด็กตกน้ำและจมน้ำ จากการใส่เสื้อชูชีพที่ไซส์ใหญ่กว่าตัวเด็ก

ไล่มาถึงสนามเด็กเล่นบริเวณโรงแรม หรือที่พักในสถานที่ท่องเที่ยว ที่มักจะมีเครื่องเล่นต่างๆสำหรับเด็ก เช่น ม้าหมุน ชิงช้า อุโมงค์ลอด ฯลฯ แนะนำว่าผู้ปกครองต้องสำรวจก่อน ว่าเครื่องเล่นกลางแจ้งเหล่านี้ยังใช้งานได้หรือไม่ หรือมีน็อตหลุดออกจากเครื่องเล่นหรือไม่ หรือชำรุดหรือไม่ เพื่อป้องกัน “เด็กตกกระแทกพื้น” ทำให้แขนหักขาหักและศีรษะแตก เป็นต้น 

“สำหรับกิจกรรมยอดฮิตช่วงสิ้นปี ที่คนนิยมพาเด็กและสมาชิกในครอบครัว ไปถ่ายรูปกับต้นคริสต์มาสยักษ์ หน้าศูนย์การค้าต่างๆนั้น แนะนำว่าผู้ปกครองควรใส่ใจเรื่อง วัตถุแหลมคมที่ใช้ประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส หรือให้สังเกตว่าฐานของการตั้งต้นคริสต์มาส มีความหนาแน่นหรือไม่ เพื่อป้องกันการล้มทับเด็ก และให้เด็กยืนห่างไฟที่ใช้ประดับต้นคริสต์มาส เพื่อป้องกันไฟช็อตเด็กนั่นเอง ในกรณีที่เด็กเอามือไปจับไฟ ที่อาจจะรั่วจากการติดตั้งไม่เรียบร้อย ตรงนี้ก็ควรระวัง” “นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันเด็กพลัดหลง อย่าง “สายจูงเด็กเล็ก” ที่ปัจจุบันดีไซน์ให้สวยงามน่าใช้เป็นกระเป๋าเป้นั้น อันที่จริงเวลาที่พ่อแม่พาเด็ก ไปนอกบ้านหรือในที่ชุมชนแออัด เด็กมักจะถูกเบียดอยู่แล้ว ดังนั้นอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ช่วย ป้องกันไม่ให้เด็กไปไกลพ่อแม่เท่านั้น แต่ไม่ได้ป้องกันเรื่องการพลัดหลงได้ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดถ้าเป็นเด็กเล็กนั้น หากพ่อแม่จูงลูกกับมือ หรือถ้าคนแน่นก็แนะนำให้อุ้มลูกจะดีที่สุด โดยสรุปคือดูแลเองอย่างใกล้ชิดจะดีที่สุด ที่สำคัญเวลาพาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จำเป็นต้องจดเบอร์โทรศัพท์มือถือผู้ปกครอง ใส่กระเป๋าเสื้อเด็ก เพื่อป้องกันเด็กผลัดหลง

ครอบครัวไหนที่ฉลองปีใหม่อยู่บ้าน สิ่งที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง คือการที่เด็กเล่นวัตถุอันตราย เช่น พลุ หรือดอกไม้ไฟ ทำให้ “ได้รับบาดเจ็บที่มือหรือนิ้วมือ” ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อให้เด็กเล่น เพราะไม่ใช่ของเล่นเด็ก กระทั่งภัยที่เกิดจากคนเมาสุรา และยิงพลุและทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ อันเนื่องจากความประมาท หรือแม้แต่ภัยที่เกิดจากลูกโป่งไฮโดรเจน หรือลูกโป่งที่อัดแก๊สไฮโดรเจน ที่นำมาประดับตกแต่งงานปาร์ตี้ช่วงสิ้นปี ซึ่งลูกโป่งไฮโดรเจนนั้น เสี่ยงต่อการติดไฟและระเบิด ซึ่งไฟจะลุกลามได้ง่าย (ลูกโป่งรอเวลาระเบิด) ซึ่งการสังเกตง่ายๆนั้น หากภายในงานใช้ลูกโป่งไฮโดรเจนจะลอยตัวได้ดี ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ปกครอง ควรเปลี่ยนมาใช้ลูกโป่งฮีเลียม หรือลูกโป่งอัดแก๊สฮีเลียม ซึ่งจะมีความปลอดภัยกว่า นอกจากนี้เวลาที่ลูกโป่งแตก ผู้ปกครองจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 8 ปีนำเศษลูกโป่งมาเป่าเล่นเป็นลูกเล็กๆ ซึ่งจะทำให้ “เศษลูกโป่งติดคอ” เด็กๆได้

ส่วนบ้านไหนที่นิยม การจับฉลากของขวัญด้วยของเล่น แนะนำว่าให้ผู้ปกครองเลือกของเล่น ที่มีเครื่องหมาย มอก.รับรองจะดีที่สุด เพราะจะครอบคลุมความปลอดภัยหลายๆด้าน เช่น ไม่มีสารตะกั่วตกค้างในของเล่น ไม่มีสิ่งแหลมคมบนของเล่น เป็นของเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และสีสันสวยงาม ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้พ่อแม่เลี่ยง การซื้อของเล่นที่ลักลอบนำเข้า ที่มีราคาถูกและมีสารตะกั่วปนเปื้อน ซึ่งจะทำให้เป็น “อันตรายต่อระบบสมองและพัฒนาการ” ด้านต่างๆของเด็ก

นอกจากนี้ผู้ปกครอง ที่นิยมจัดปาร์ตี้สระน้ำเป่าลม มีฟองโฟม และเปิดเพลงเสียงดังนั้น ก็เป็นจุดที่ควรเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการต่อเครื่องเป่าลมเข้ากับอ่างน้ำ ที่เสี่ยงต่อการที่ “เด็กถูกไฟดูด” จากน้ำในอ่างที่หกเลอะพื้น กับสายไฟของเครื่องเป่าลมที่ชำรุด หากเด็กๆเดินไปมาบริเวณเครื่องปั้มลมเข้าอ่าง และยังเลี่ยง “จมน้ำในอ่างโฟม” ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ปกครองเมาสุราไม่มีเวลาดูลูก

และที่พบได้บ่อยในช่วงการฉลองรื่นเริงภายในครอบครัวนั้น คือการที่เด็ก “อาหารเป็นพิษ” ดังนั้นการปรุงเมนูอาหารต้องสะอาด และปรุงสดใหม่พร้อมรับประทาน หรืออุ่นให้ร้อนก่อนที่จะให้เด็กรับประทาน และที่ลืมไม่ได้คือการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเด็กติดโควิด-19 ที่พบได้บ่อยในช่วงสิ้นปี เพราะใส่แมสก์เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด ดังนั้นหากผู้ปกครองพาเด็กไปกินอาหารนอกบ้าน การที่จะให้เด็กถอดแมสก์นั้น ควรจะเลือกนั่งรับประทานอาหารแบบครอบครัวเดียว (ไม่นั่งร่วมกับผู้อื่น) หรือจะถอดหน้ากากอนามัยได้ ก็ต้องแยกตัวไปรับประทานอาหารคนเดียว ยกตัวอย่างง่ายๆว่า หากคนที่นั่งทำงานโต๊ะทำงานเดียวกัน ถ้าต่างคนต่างใส่แมสก์จะป้องกันโควิด-19 ได้ร้อยละ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใส่แมสก์คนเดียว จะป้องกันโควิด-19 ได้เพียง 90 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

Related Posts

Send this to a friend