POLITICS

‘ประชาธิปัตย์’ ตั้งเวที ‘ฟัง-คิด-ทำ’ ต้านโกง พบคนตอบโพล รู้สึก ไทย คอรัปชั่นมากที่สุด

‘ประชาธิปัตย์’ ตั้งเวที ‘ฟัง-คิด-ทำ’ ต้านโกง เสวนาภาควิชาการ-ธุรกิจ พบคนตอบโพล รู้สึกประเทศไทยคอรัปชั่นมากที่สุด

วันนี้ (9 ธ.ค. 65) พรรคประชาธิปัตย์ จัดงาน ‘ฟัง-คิด-ทำ ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล’ เนื่องในวันต่อต้านคอรัปชั่นสากล ณ ลานสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี โดยมีการจัดทำโพลแสดงความคิดเห็นว่า “คุณรู้สึกว่าประเทศไทยทุกวันนี้คอรัปชั่นมากแค่ไหน ?” โดยจากผลคะแนนเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ ‘มากที่สุด’

ภายหลังจากเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นตลอดช่วงบ่าย น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดประเด็นที่เวทีกลางว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีเหตุการณ์สำคัญ คือ การนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566 กิจกรรมฟังคิดทำจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนจะนำไปสู่กระบวนการตกผลึกจัดทำเป็นนโยบาย

น.ส.วทันยา กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญคือเป็นวันต่อต้านคอรัปชั่นสากล ซึ่งบทบาทในการต่อต้านการคอรัปชั่นถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญบทบาทของพรรคการเมือง และวันนี้เห็นได้ชัดว่า ประชาชนมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในหลุมดำของการทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญให้หลายประเทศไม่สามารถพัฒนาได้ คือปัญหาทุจริตคอรัปชั่น

ดังนั้น วันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงมีความตั้งใจและจะแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังในการปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำงานอย่างโปร่งใสของภาครัฐ เพื่อยกระดับของประเทศ

ต่อมา มีการเปิดเสวนามุมมองจากภาควิชาการ การเมือง ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) และ ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

ดร.มานะ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกเซอร์ไพรส์ ซึ่งตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ได้เคลื่อนไหวเรื่องการต่อต้านการคอรัปชั่น น่าจะเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองจัดเวทีแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ เนื่องจากปัญหาคอรัปชั่น ส่วนหัวของปัญหาคือภาคของการเมือง เพราะภาคการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ มีอำนาจกำหนดงบประมาณ รวมถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแผนงานด้านการต่อต้านการคอรัปชั่นจำนวนมาก แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง อีกทั้งรากฐานของการคอรัปชั่นที่เอาชนะไม่ได้คือการทำอะไรแล้วไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญของการคอรัปชั่น คือ วัฒนธรรมในระบบราชการ ที่ยังชินชากับการคอรัปชัน การรับส่วย รับสินบน

ส่วน ดร.อรรถกฤต มองว่า การทุจริตคอรัปชั่นขึ้นอยู่กับการผูกขาดธุรกิจและการเมือง การใช่ดุลพินิจของระบบราชการและการเมืองในการตัดสินใจทำนโยบายต่างๆ ซึ่งการจะทำให้การคอรัปชั่นลดลงคือต้องมีองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ โดยประเทศไทยมีองค์กรในการตรวจสอบจำนวนมาก แต่มีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถดูได้จากการจัดอันดับของหน่วยงานนานาชาติ จะเห็นได้ชัดว่าประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำลง

ดังนั้น จะเห็นว่ากลไกองค์กรอิสระของประเทศไทยจึงอาจจะยังมีปัญหาอยู่ เพราะการจัดอันดับของประเทศไทยค่อนข้างได้คะแนนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่ได้ต่ำสุด ซึ่งแผนนโยบายของชาติต้องการทำให้ดีขึ้น แต่ยังทำไม่ได้ การเพิ่มคะแนนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยอาจจะต้องใช้กลไกหรือองค์ประกอบของต่างประเทศในส่วนที่จำเป็นมาประยุกต์ เช่น กรณีไต้หวัน ที่มีการทำแพลตฟอร์มร่วมกันภาคเอกชน ภาคประชาชนในการเปิดเผยข้อมูล ดังนั้นจึงมองว่าใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยในการจัดการข้อมูลจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ระดับการทุจริตลดลงได้

ขณะที่ นายสาทิตย์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่านักการเมืองโอกาสก็จะเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ และเรื่องของอำนาจ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็เป็นฝ่ายที่จะตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นเช่นกัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยทำมาในอดีตที่เห็นได้ชัด เช่น การตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อถามว่าเรื่องทุจริตคอรัปชั่นลดลงหรือไม่ จากข้อเท็จจริงต้องตอบว่าไม่ลดลง

ส่วนตัวเป็น ส.ส. มา 7 สมัยตั้งแต่ปี 2538 ผ่านรัฐบาลมา 10 รัฐบาล ผ่านการรัฐประหาร 2 รอบ มองว่าการทุจริตคอรัปชั่นมีวิวัฒนาการ ซึ่งหากย้อนไปดูในยุคก่อนเดิมทีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดจากการรวมอำนาจไว้ที่คนใดคนหนึ่ง แล้วให้สัมปทาน หรืออนุญาต ซึ่งก็จะแปรสภาพไปเป็นการคอรัปชั่นได้

แต่เมื่อมีการสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อไปคานกับการรวมศูนย์ การทุจริตคอรัปชั่นจึงมีการวิวัฒนาการ เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและยากที่ประชาชนจะสามารถติดตามตรวจสอบได้ และ ปัจจุบันการคอรัปชั่นก็ได้มีวิวัฒนาการไปอีก เพราะไม่ว่าจะจำกัดความอย่างไรก็ตาม แต่การคอรัปชั่นเป็นเรื่องของการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งคนที่ยอมจ่ายและคนที่ยอมรับ จึงทำให้จึงทำให้ยากที่จะมีคนออกมาพูด ยกเว้นว่าจะมีคนเสียประโยชน์

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ความน่ากลัวของการทุจริตคอรัปชั่น คือ เรื่องของเมกะโปรเจค โดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำราคา และนำไปสู่การฮั้วประมูล ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายฮั้วมานาน แต่ที่ผ่านมาแทบไม่เห็นว่ามีคดีเกี่ยวกับการฮั้วถูกฟ้อง

และอีกกรณีที่ต้องจับตามอง คือ กรณีตู้ห่าว ที่เป็นอีกหนึ่งที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้งครั้งหน้าเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยเงินสด ตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ เพราะกรณีตู้ห่าวสัมพันธ์ทั้งเรื่องของยาเสพติด เรื่องของบ่อนพนัน มีการสมคบกับระบบราชการ ระบบการเมือง มีวงเงินหมุนเวียนจำนวนมาก โดยเป็นเงินสีเทาและสีดำ ดังนั้นเมื่อเป็นประชาธิปไตยเงินสด เงินสีเทากับเงินสีดำเหล่านี้จะไปไหน และที่ผ่านมาเราไม่เคยเจอ กกต. จับกรณีทุจริตซื้อเสียงได้ชัดเจน บางกรณีกว่าจะขึ้นศาลตัดสินได้ กว่าจะเลือกตั้งซ่อมได้ผ่านไปหลายปี

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล นายสาทิตย์ กล่าวว่า พรรคมีความอ่อนไหวกับเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมาก และมองว่าเจตจำนงความมั่นคงแน่วแน่ของผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อมีข้อสงสัยว่าจะเกิดการทุจริตในโครงการใด การตัดสินใจของผู้นำเป็นสิ่งที่จำเป็น และที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น โดยเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการตรวจสอบ ป.ป.ช. เพราะที่ผ่านมาองค์กรอิสระมีข้อครหาว่ามาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ อีกทั้งยังเคยถูกยกขึ้นเป็นเงื่อนไงในการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ด้วย แต่ก็น่าเสียดายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับดังกล่าวถูกรัฐสภาตีตกไป แต่อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์ก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป

และอีกวงเสวนาคือจากภาคธุรกิจ ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) และนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายอิศเรศ กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาด ผลกระทบที่เกิดจากการคอรัปชั่นก็เป็นต้นทุนที่แฝงอยู่ในการผลิตสินค้าและบริการ เพราะหากต้นทุนการผลิตไม่สามารถสู้คู่แข่งไม่ได้ รวมถึงเรื่องของสิ่งที่เป็นโควตา หรือสัมปทาน การเข้าถึงหากมีการคอรัปชั่นเข้ามาก็จะทำให้การเข้าถึงมีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้นมองเรื่องของความสามารถในการแข่งขันเป็นเป้าหมายหลัก และอะไรที่ทำให้ไม่สามารถแข่งกับคู่แข่งได้นั่นคือปัญหา ซึ่งเรื่องของการคอรัปชั่นนั้นเป็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องแก้ไข และเรื่องคอรัปชั่นต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมือง เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องของทฤษฎีสมประโยชน์นั้นเป็นเรื่องจริง โดยมี 3 ส่วน คือ ภาคการเมือง เอกชน และราชการ เนื่องจากการจะได้ใบอนุญาตหรือเวลาที่รวดเร็วแต่ละครั้ง ภาคเอกก็ต้องใช้วิธีการจ่ายให้กับราชการ ซึ่งการที่ราชการจะทำสิ่งนี้ได้ก็ต้องผ่านฝ่ายการเมืองมาก่อน ดังนั้นหากฝ่ายการเมืองได้คนดี คนเก่ง ไม่มีประวัติด่างพร้อยเข้ามาบริหาร ทฤษฎีสมประโยชน์นี้ก็จะไม่สำเร็จ

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะ โดยได้เล่าถึงเรื่องการประมูลโครงการภาครัฐ ว่า การประมูลโครงการของรัฐ ภายใต้ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ซึ่งที่ผ่านมา BTS ได้ร่วมการประมูลและชนะการประมูลอย่างโปร่งใสมาโดยตลอด

แต่ที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้ มีอยู่หนึ่งโครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บีทีเอสได้เข้าไปร่วมประมูล แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงการนี้ได้เปิดประมูลเมื่อเดือน พ.ค. 2563 โดยมีการขายซองให้ผู้ประมูลแล้ว 10 ราย รวมถึง บริษัทบีทีเอส แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ยื่นซอง ก็มีการเปลี่ยนข้อกำหนด หลักเกณฑ์ทีโออาร์ ซึ่งปกติไม่เคยเจอเรื่องลักษณะนี้ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องแปลกและอาจจะไม่โปร่งใส บีทีเอส จึงยืนฟ้องต่อศาลปกครอง ก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่าให้กลับไปใช้เงื่อนไขเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศโดยรอบลานสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี มีประชาชนโดยเฉพาะพนักงานเอกชนสัญจรไปมาจำนวนมาก และบางส่วนติดตามวงเสวนาและการปราศรัยของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเย็นอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend