HEALTH

สถิติชี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น ในผู้ที่มีอายุน้อยลง

แพทย์ แนะ หนุ่ม-สาว สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ปัจจุบันมีการค้นพบว่าผู้ป่วยที่เป็น STROKE สามารถพบในผู้ที่มีอายุน้อยลง โดยจำนวนที่มากขึ้นเกิดกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งปกติแล้วโรคดังกล่าวมักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทุกเพศทุกวัย แต่ในปัจจุบันพบได้มากกับผู้ที่มีอายุ 18-50 ปี ในประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)

ขณะเดียวกัน สถิติของกระทรวงสาธารณสุขไทย ยังระบุว่า แต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี

พญ.จิรัชญา ดีสุวรรณ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อยว่า มาจากผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด และโรคอ้วน ซึ่ง 3 ปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดโรคสมองในคนอายุน้อยมาจาก

1.หัวใจผิดปกติ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ ที่พบบ่อยคือ มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจแต่กำเนิด (patent foramen ovale) และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrial fibrillation, atrial flutter, heart block เป็นต้น

2.สาเหตุจากหลอดเลือดผิดปกติ สามารถแบ่งย่อยเป็น โครงสร้างหลอดเลือดสมองผิดปกติ (vasculopathy) เช่น โรคโมยาโมยา และภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นต้น และหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) มักเป็นผลมาจากโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบและอาการผิดปกติในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

3.สาเหตุจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (hypercoagulable state) โดยมักสัมพันธ์กับโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสังเกตุสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) ด้วยหลักการ BEFAST ประกอบด้วย Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน, Eyes ตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน, Face Dropping ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง ยิ้มแล้วมุมปากตก, Arm Weakness แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง กำมือไม่ได้, Speech Difficulty ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ และ Time to call รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลทันที

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคสมองในวัยทำงาน ให้ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง ลดดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และสารเสพติด ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำปีทุกปี

Related Posts

Send this to a friend