FEATURE

เพลงกับการเมือง … โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 66

เพลง เป็นสื่อที่ใช้ในการส่งสาร และแสดงความรู้สึก จุดยืน เป็นกำลังใจ ปลุกใจ ให้ความรู้ จึงไม่แปลกที่การสื่อสารผ่านเพลงถูกนำมาใช้เพื่อเข้าถึงใจ และสื่อสารกับประชาชน มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายๆ เพลงถูกแต่งโดยผู้ปกครองประเทศเพื่อสื่อสารและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การให้กำลังใจ หรือการให้คำสัญญา  “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน” ไปจนถึงการแนะนำตัว และการหาเสียง!

การใช้เพลงในการหาเสียง เป็นการถ่ายทอดระหว่างผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารโดยมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกผ่านดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง สร้างความรู้สึกร่วมให้แก่ผู้ฟัง ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ ให้พรรคและนักการเมืองของพรรค (Denizli, 2019) ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกคนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฟังเพลงที่มีนัยทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งแต่ละพรรคมีวิธีการนำเสนอเพลงออกมาแตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าเพลงเหล่านี้ย่อมสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์ที่แต่ละพรรคสร้างขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งนี้

ท่วงทำนอง ดนตรี และเนื้อเพลง

ก่อนที่เราจะไปสำรวจเพลงที่แต่ละพรรคการเมืองใช้หาเสียงในครั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจเล็กน้อยกันก่อนว่า เพลงเป็นการหาเสียงทางการเมืองที่ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษา แต่ยังผนวกเข้ากับทำนองและจังหวะของดนตรี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่พรรคการเมืองใช้ในการ ‘สร้างภาพลักษณ์’ ออกมาผ่านเนื้อร้อง และแนวเพลง ที่กำลังพยายามสื่อไปถึงผู้คน เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มีทั้งความสนุกสนาน และความดึงดูด ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับสารเข้ามาง่ายขึ้น (Tanyıldızı, 2019) เป็นทั้งการโฆษณา และเชื่อมโยงกับการสร้างภาพลักษณ์ของพรรคและนักการเมือง สร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วมได้ดี

ในงานศึกษาที่มีการวิเคราะห์เพลงที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียง ได้แบ่งรูปแบบการนำเสนอผ่านเพลงของพรรคการเมืองออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ การเขียนเนื้อร้องที่ยกย่องหัวหน้าพรรคหรือตัวของพรรคเอง และอีกรูปแบบ คือการใช้เพลงที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของคนทั่วไป (Yavuz and Küpçük, 2018)

เพลงบางเพลงจึงพูดถึงประเด็นในเชิงอุดมการณ์และนโยบายของพรรค ในขณะที่บางเพลงกล่าวถึงภาพลักษณ์ของผู้นำ การใช้เนื้อเพลงที่เกี่ยวข้องอุดมการณ์และนโยบายของพรรคการเมืองมาผสมเข้ากับดนตรี จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้นำพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี

จาก MV เพลงเช้าวันใหม่ พรรคประชาธิปัตย์

เพลงประจำพรรคที่ใช้ในการเลือกตั้ง 66

หากกลับมามองถึงเพลงที่พรรคการเมืองบ้านเราใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยแยกตามแต่ละพรรค เห็นได้ว่าหลายพรรคพยายามนำเสนอนโยบายพร้อมอุดมการณ์ของพรรคอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันอีกหลายพรรคอาศัยเน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ไปพร้อมกับการใช้เพลงที่เข้าถึงผู้คนง่าย

The Reporters รวบรวมการนำเสนอ และวิธีการสื่อสารผ่านเพลงของแต่ละพรรคที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ มาดูกันว่าแต่ละพรรคมีวิธีการนำเสนอ และให้ความสำคัญไปที่จุดไหนมากกว่ากัน

เริ่มต้นที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในเพลง ลุงตู่อยู่ไหน (ลุงตู่อยู่รวมไทยสร้างชาติ) แม้จะมีการพูดถึงนโยบายของพรรค แต่จุดหลักของเพลงที่นำเสนอออกมา เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของตัวผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดูมีความน่ารัก เข้าถึงง่าย อีกทั้งมีการเชิญชวนให้เลือกเพราะ ‘การเป็นคนดี และมือสะอาด’ เป็นการเน้นที่ตัวแคนดิเดตของพรรคเป็นจุดสำคัญ ทั้งนี้ การนำเสนอจังหวะและดนตรีที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน ผนวกกับการผสมการร้องแร็ปเข้าไป ทำให้ฟังแล้วติดหูได้ง่าย

พร้อมไปกับการตอกย้ำว่า “ลุงตู่อยู่รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งคาดว่ามาจากการที่พรรคได้สำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่า “ลุงตู่” อยู่พรรคใดกันแน่ จึงต้องการย้ำให้ชัดให้ติดหู ติดในใจคนฟังว่า ลุงตู่อยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ นอกจากนี้ยังมีการทำเพลงออกมา 3 เวอร์ชั่น 3 ภาษาถิ่น เพื่อเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการหาเสียงจะพบว่าด้วยความติดหูของเนื้อร้องง่ายๆ และท่วงทำนองสนุกสนาน ทำให้เพลงลุงตู่อยู่ไหน ถูกนำไปรีมิกซ์ และเล่นกันในสื่อสังคมออนไลน์อย่าง TikTok อย่างกว้างขวาง โดยใช้แสดงจุดยืนในการเชียร์พรรคอื่นที่ผู้ใช้เชียร์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการชูนิ้วหมายเลขพรรคอื่น หรือการแสดงท่าทางให้เข้าใจว่าเชียร์พรรคอื่น ไปจนถึงการเติมเนื้อเพลงแสดงจุดยืนของตนเองอีกด้วย!

ต่อมาเป็น พรรคก้าวไกล กับเพลง ต้องก้าวไกล ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่ได้พูดถึงแคนดิเดตของพรรค แต่เน้นที่นโยบายและอุดมการณ์ของพรรคผ่านการนำเสนอด้วยจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน เข้าถึงได้ง่าย ส่วนการนำเสนอแนวทางของพรรค คือเรื่องของ ‘การก้าว’ ตามชื่อของพรรค นั่นคือ ‘ก้าวไปข้างหน้า ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง’ เป็นสิ่งที่สร้างภาพลักษณ์ของพรรคที่ดึงออกมาได้ชัดเจน และแม้จะไม่เป็นที่พูดถึงเท่ากับเพลง วิโรจน์ก้าวไก่ ที่เป็นที่นิยมอย่างมากช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ก็สามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างดี

พรรคพลังประชารัฐ ในเพลง พลังประชารัฐ แต่งโดยนักแต่งเพลงระดับตำนาน ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ซึ่งมีทำนองที่ฟังแล้วสนุกสนาน ในขณะที่เนื้อหาของเพลงมุ่งเน้นไปที่การสื่อถึงนโยบายของพรรคทั้งหมด โดยเฉพาะนโยบายหลักของพรรคที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือ การก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยใจบันดาลแรง การเข้ามาทำงานด้วยหัวใจ ทำอย่างเต็มใจ และที่สำคัญคือ ‘พูดจริง ทำได้จริง’ เป็นภาพลักษณ์ที่พรรคต้องการสื่อออกมา

แม้เพลงพลังประชารัฐจะไม่เป็นเพลงฮิตติดหู แต่เพลง “ไม่รู้ ไม่รู้” ของศิลปิน NCX ที่มีวลี “ไม่รู้ ไม่รู้” ซึ่งทำให้คนนึกถึงพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กลับเป็นที่นิยม และมี challenge บน TikTok ที่มีผู้เล่นจำนวนมาก จนเพจ เรารักลุงป้อม ถึงกับทำคลิปประกอบเพลงนี้ออกมาพร้อมระบุว่า “ลุงป้อม ไม่รู้แต่ไม่มีแล้ง พาทุกคนหายจนก้าวข้ามความขัดแย้ง” นับเป็นการเล่นกับกระแส และใช้โอกาสในการปรับภาพลักษณ์ได้เป็นอย่างดี โดยล่าสุดยังได้ร่วมเต้น challenge ไม่รู้ๆ กับคุณวู้ดดี้ พิธีกรชื่อดังอีกด้วย

สำหรับ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มีการนำเสนอด้วยหลายบทเพลง เข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม ทั้งเพลง เพื่อไทยแลนด์สไลด์ และ เพื่อไทยคือคำตอบ ต่างเป็นเพลงที่มีแนวเพลงและจังหวะแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองเพลงต่างนำเสนอภาพลักษณ์ของพรรคที่สามารถ ‘แก้ปัญหา’ ต่าง ๆ ให้ประเทศได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นคำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้

พรรคประชาธิปัตย์ กับเพลง เช้าวันใหม่ เป็นเพลงที่ให้บรรยากาศของความฮึกเหิม ชวนปลุกให้ผู้ได้ฟังรู้สึกตื่นตัวขึ้นมากับบางสิ่ง ซึ่งในที่นี้สิ่งที่พรรคอยากสื่อ คือ การลุกขึ้นมาเผชิญกับเช้าวันใหม่ กับแสงใหม่ อนาคตใหม่ และการเริ่มใหม่ สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนไปถึงการ ‘ก้าวสู่ยุคใหม่’ ของพรรค เป็นดั่งแสงของการเริ่มต้นที่พรรคอยากนำเสนอ เพลงนี้ร้องโดย นายเมธี อรุณ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนักร้องนำวงลาบานูนที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ แต่จุดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่ MV ที่มีบุคคลสำคัญในพรรคมาร่วมแสดง ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่มาโชว์ตีกลองสะบัดชัย หรือ นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคที่ขี่ม้าขาวเข้ามาพร้อมกับนายองอาจ ที่โบกธงของพรรค

พรรคภูมิใจไทย กับเพลง อนุทินเป็นนายกฯ ซึ่งชัดเจนมากว่าภาพลักษณ์ที่พรรคโฟกัสคือผู้นำของพรรคอย่าง ‘นายอนุทิน ชาญวีรกูล’ แน่นอน ถึงแม้บางช่วงจะพูดถึงตัวนโยบายบ้างก็ตาม ภาพรวมของเพลงคือการพูดถึงเหตุผลว่าทำไมถึงควรเลือก นายอนุทิน ไปเป็นนายกฯ คนต่อไป หนึ่งในเหตุผลคือ ผลงาน 4 ปี สมัยที่เป็นรัฐมนตรีกับผลงานที่พิสูจน์แล้ว ‘ทำได้จริงอย่างที่พูด’ ขณะเดียวกันในเพลงมีการใช้ภาษาถิ่นในบางช่วง แสดงถึงการเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักที่พรรคต้องการ

พรรคชาติพัฒนากล้า กับเพลง ชาติพัฒนากล้า ซึ่งในส่วนของเนื้อร้องจะวนอยู่ที่ไม่กี่ประโยค แต่ใจความหลักคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยสโลแกน ‘ชาติพัฒนากล้า กล้าพัฒนาชาติ’ สำหรับด้านเพลงของคนข้างเป็นแนวสมัยใหม่ ฟังง่าย เข้าใจง่าย และร้องง่ายด้วยเช่นกัน (เพราะมีเนื้อร้องที่ประโยคซ้ำไปมา)

จาก MV อนุทินพร้อมเป็นนายก ของพรรคภูมิใจไทย

ความเหมือนที่แตกต่างของเพลงพรรคการเมือง

จากการสำรวจเพลงที่แต่ละพรรคผลิตและเผยแพร่ออกมา เราจะเห็นว่าแต่ละพรรคต่างมีจุดยืนและจุดโฟกัสที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันในบางจุด อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของพรรคที่ได้นำเสนอออกไป ต่างแสดงถึงทิศทางและสิ่งที่พรรคกำลังจะก้าวเดิน แม้บางเพลงจะดึงแนวเพลงหรือลูกเล่นเข้ามาเพิ่มความน่าสนใจในเพลง หรือถึงขั้นที่บางเพลงจะทำให้ฟังแล้วรู้สึกติดหูได้ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดึงความนิยมของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เสมอไป การตัดสินใจสุดท้ายขึ้นอยู่กับประชาชนตามทิศทางของพรรคว่า รูปแบบไหนหรือนโยบายใดที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้น

แม้ดนตรีจะเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกทางการเมืองผ่านการใช้เพลงเป็นสื่อกลางในการนำเสนอจุดยืนและอุดมการณ์ต่าง ๆ แต่การหาเสียงโดยใช้ดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องมีข้อจำกัดอยู่ในรูปแบบของเพลงเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของประเทศไทย มาตรา 73 (3) กำหนดว่า “ห้ามผู้สมัครโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ” ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในหลากหลายมุม

ข้อถกเถียงในการห้ามจัดงานมหรสพและงานรื่นเริงในปัจจุบันมีการพูดถึงลดน้อยลง เนื่องจากความลื่นไหลของข้อมูลข่าวสารอันเกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้ดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการหาเสียง หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการโปรโมตนโยบายบนโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะเข้าถึงผู้คนได้เป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับเพลงหาเสียงที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปิดเฉพาะบนรถแห่หาเสียง แต่นำมาลงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงและแชร์ต่อกันได้ ความน่าสนใจของหารใช้เพลงหาเสียงรูปแบบเดิมจึงถูกทลายไปเมื่อบทบาทของโลกโซเชียลมีเดียเข้ามา กลายเป็นการ ‘ช่วงชิงพื้นที่สาธารณะ’ บนสื่อออนไลน์ของพรรคการเมืองด้วยกัน

ดนตรีเองก็เป็นสื่อที่ประชาชนสามารถนำมาใช้เพื่อแสดงจุดยืนของตนเองที่มีต่อพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การนำเพลงของพรรคการเมืองหนึ่งมาดัดแปลง ใส่เสียง หรือแก้ไขบางท่อน เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ใครก็ตามสามารถแสดงจุดยืนของตนออกมา กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้เป็นกระบอกเสียงส่งไปถึงผู้คนอื่น รวมถึงตัวพรรคการเมืองเองก็ดีว่าหลายคนมีมุมและต้องการจุดยืนอยากเห็นประเทศก้าวไปในทิศทางใดมากกว่ากัน

สุดท้ายนี้ เสียงที่สำคัญที่สุดอาจไม่ได้มาจากเสียงของบทเพลงที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียง แต่ที่สำคัญกว่าคือเสียงของประชาชนทุกคนที่ใช้ในวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค. นี้ เพราะเสียงของทุกคนย่อมมีคุณค่าเสมอ ขอให้ทุกคนอย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันนะครับ

เรื่อง      ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข The Reporters

อ้างอิง

Denizli, E. (2019). Politics And Music: Music As A Means To Politics And Politics As A Means To Music, Department of Political Studies Istanbul Technical University Graduate School Of Arts And Social Sciences M.A. Thesis.
Nural, I Tanyildizi. (2020). The Role Of Election Songs In The Leader Image. Nonu University Journal of Culture and Art, 6 (1), pp: 70-76.
Tanyıldızı, İ. N. (2019). Bir İletişim Dili Olarak Siyasal Halkla İlişkilerde Müzik, Ankara: Akademisyen Kitapevi.
Yavuz, C., Kupcuk, S. (2018). Use Of Electıon Musıc For Propaganda And The Song “Dombıra” Sample In The Local Electıons. MANAS Sosyal Araştırmalar Dergisi, 7(2), pp: 375-387.

Related Posts

Send this to a friend