FEATURE

2565 ของแพงครองเมือง – ทั้งน้ำมัน, เนื้อสัตว์ อาหารจานเดียว, ไข่, ฯลฯ

การที่ของแพงขึ้น หรือ “เงินเฟ้อ” นั้นมีอยู่แทบทุกปี  ส่วนใหญ่ก็แค่ปีละเล็กน้อยสะสมกันไป … แต่ปีนี้2565 ราคาสินค้าทุกอย่างแพงขึ้นอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยมีราคาน้ำมันนำขบวนดึงทุกอย่างตามขึ้นมากน้อยต่างกันไป

สิ่งที่ใกล้ตัวและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตนั้นก็แพงขึ้นทุกอย่าง  ซึ่ง The Reporters ได้เลือกข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจมาถ่ายทอดกันในนี้แล้ว

อาหารจานเดียวแพงขึ้นเฉลี่ย 7%

ยุคนี้คนไทยนิยมใช้แอพสั่งอาหารกันมาก การสำรวจราคาอาหารจึงง่ายกว่าสมัยก่อน โดยสามารถทำได้ผ่านแอพแบบนี้ได้เลย  ซึ่งล่าสุดทางบริษัท LINEMAN Wongnai ก็ได้เก็บข้อมูลทั่วไทยและเผยแพร่ออกมาแล้ว เพื่อสะท้อนสถานการณ์เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตอนนี้

และแม้อาหารในไทยจะมีหลากหลายมาก  แต่เพื่อความเข้าใจง่ายและใกล้ตัว  ทาง LINEMAN จึงเลือกเก็บข้อมูลและรายงานเฉพาะ “อาหารจานเดียว” ซึ่งเป็นเมนูที่คนส่วนใหญ่ของประเทศกินบ่อยๆเมื่อทานอาหารนอกบ้าน  โดยเฉพาะมื้อเที่ยงวันทำงาน

ตัวอย่างอาหารจานเดียวที่ LINEMAN เก็บข้อมูล ก็เช่น ข้าวราดผัดกะเพรา  ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ราดหน้า ฯลฯ ที่ขายในแต่ละเดือนช่วง 2 ปีครึ่ง ระหว่างปีต้น 2563 ถึงกลางปีนี้ 2565

ทั้งนี้ทาง LINE MAN ใช้ข้อมูลจากกว่า 7 แสนร้านอาหารที่ขายเดลิเวอรีบนระบบ LINE MAN ระหว่างปี2563 – 2565 แล้วได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น …

1. ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยในรอบปี แพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่างพฤษภาคม2564 และพฤษภาคม 2565) ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์

2. ราคาเฉลี่ยอาหารในต่างจังหวัดถูกกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑล เฉลี่ยแล้วจานละ 7 บาท … แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ราคาอาหารต่างจังหวัดมีอัตราการแพงขึ้นเร็วกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑล

3. แม้ก่อนนี้จะมีข่าวราคาหมูแพงขึ้นมากมานาน แต่ว่า 3 เดือนล่าสุดคือตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมานั้น อาหารที่มีเนื้อไก่ กลับราคาแพงขึ้นกว่าอาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบเสียอีก สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่าเนื้อไก่แพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี

4. เมนูข้าวกะเพราราคาแพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ 2565 ที่ผ่านมา โดยขึ้นจากราคาเฉลี่ยจานละ 56 บาทเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท

ปี 64 ยังไม่แพงขึ้นเท่าไรนัก แต่ปี 65 ขึ้นหนักจริง

รายงานนี้ยังระบุด้วยว่า ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวในปี 2564 นั้นถูกลงกว่าปี 2563 เล็กน้อยด้วยซ้ำโดยอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 บีบให้แม่ค้าพ่อค้าไม่สามารถขึ้นราคาได้เลย

แต่เมื่อมาถึงปีนี้ 2565 เมื่อผู้คนกลับมาเดินตลาด เดินถนน นั่งร้านได้ปกติแล้ว ก็ทำให้ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวพุ่งขึ้นอย่างชัดเจน

มกราฯปีนี้เริ่มแพง – พอพฤษภาแพงขึ้นอีกแบบมีอัตราเร่ง

– ราคาอาหารเฉลี่ยเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 55.33 บาท แพงขึ้น 2 บาทจากเดือนมกราคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 53.33 บาท (แพงขึ้น 2 บาท ในรอบ 1 ปี)

– แต่พอมาเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาเ)ลี่ยไปที่จานละ 57.87 บาท แพงขึ้น 3.66 บาทจากเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 54.21 บาท คือแพงขึ้นราว 6.7%

เจาะตัวเลขรายภาค

ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวแยกตามภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน 2565 (ราคาที่เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2565)

– ภาคกลาง 59.63 บาท (+3.97 บาท)

– ภาคตะวันออก 59.96 บาท (+3.16 บาท)

– ภาคเหนือ 50.26 บาท (+2.94 บาท)

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56.04 บาท (+3.51 บาท)

– ภาคใต้ 57.46 บาท (+2.58 บาท)

– ภาคตะวันตก 49.92 บาท (+2.43 บาท)

ทั้งนี้ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของอาหารจานเดียวแพงที่สุดอยู่ที่ 59.96 บาท

ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 49.92 บาท (มิถุนายน 2565) โดยภาคกลางเป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 3.97 บาท (เทียบระหว่างมกราคมและมิถุนายน 2565)

และโดยรวมแล้ว ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ย 7 บาท แต่มีอัตราราคาอาหารเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในกรุงเทพและปริมณฑล

นั่นคือตลอดทั้งปี 2564 ราคาอาหารจานเดียวในต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.9% ซึ่งขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

และพอมาปีนี้ 2565 ราคาอาหารยังเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยราคาอาหารจานเดียวเฉลี่ยต่างจังหวัดเพิ่ม7.98% ส่วนในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มขึ้นมา 6.68%

เมนูไก่ราคาขึ้นแรงแต่เริ่มชะลอแล้วช่วงนี้

แม้ราคาเมนูไก่เฉลี่ยแล้วจะขึ้นแรงปีนี้ แต่ใน 1 – 2 เดือนหลังก็เริ่มชะลอตัว ปรับลดลงบ้างแล้ว ตามข้อมูลดังนี้

ดัชนีราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวที่มีไก่

1 มีนาคม 80.37 บาท

1 เมษายน 109 บาท

13 เมษายน 134 บาท (ปรับขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงหยุดสงกรานต์)

1 พฤษภาคม 113 บาท

1 มิถุนายน 93.9 บาท

เมนูหมูหยุดขึ้นมาได้หลายเดือนแล้ว

ส่วนเมนูอาหารที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบ คงอยู่ที่ราว 64-69 บาทตลอดทั้งช่วงครึ่งปีแรก 2565 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอาหารเฉลี่ย (รวมเนื้อสัตว์ทุกประเภท) ที่อยู่ราว 64-80 บาท

ข้าวกระเพราราคาขึ้นแรง

จากการสำรวจราคาเฉลี่ยของ “ข้าวกะเพรา” ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในไทย โดยนับรวมทั้งข้าวผัดกะเพรา ข้าวราดกะเพรา ไม่ว่าจะใส่เนื้อสัตว์ประเภทใด โดยไม่นับรวมส่วนเสริม เช่น ไข่ดาว ไข่เจียวระหว่างปี 2563-2565 นั้น พบว่า …

1. ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่จานละ 52.78 บาทและค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จนอยู่ที่ 54.73 บาทในช่วงปลายปี (เพิ่มแค่ประมาณ 2 บาท)

2. แต่พอมาถึงปีนี้ 2565 ราคา “ข้าวกระเพรา” พุ่งขึ้นรวดเร็ว โดยราคาเฉลี่ยของข้าวกะเพราเพิ่มมาเป็น59 บาทในเดือนพฤษภาคม (แพงขึ้น 3 บาทภายใน 4 เดือน)

โดยภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราแพงที่สุดอยู่ที่ 62.24 บาท ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 50.08 บาท

ราคาเฉลี่ยข้าวกะเพราแยกตามภาค

– ภาคกลาง 60.63 บาท

– ภาคตะวันออก 62.24 บาท

– ภาคเหนือ 50.57 บาท

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57.30 บาท

– ภาคใต้ 56.79 บาท

– ภาคตะวันตก 50.08 บาท

ราคาไข่รอซ้ำเติม ?

รายงานข้างบนนี้สำรวจจบถึงแค่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา  และทีมงาน The Reporters เองก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกหลายๆปัจจัยที่อาจผลักดันให้ราคาอาหารจานเดียวแพงขึ้นอีกก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่นเมื่อ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายจังหวัด ทั้งแปดริ้ว(ฉะเชิงเทรา), เชียงใหม่, ลำพูน, ชลบุรี, ฯลฯ  ได้ประกาศขึ้นราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม โดยขึ้นถึง 6 บาทต่อแผง ( 30 ฟอง ) หรือขึ้นฟองละ 20 สตางค์นั่นเอง

โดยราคาใหม่หน้าฟาร์ม อยู่ที่ 3.20 บาท/ฟอง จากเดิม 3 บาทถ้วนต่อฟอง มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม2565 เป็นต้นไป 

… ซึ่งนี่เป็นแค่ราคาหน้าฟาร์ม  จากนั้นกว่าไข่จะมาถึงร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ  ก็แน่นอนว่าจะถูกบวกไปอีกหลายขั้น

ราคาน้ำมันแพงขึ้น 60% จากปีที่แล้ว – แพงขึ้น 40% นับจากมกราฯ

ราคาน้ำมันเปรียบเสมือนหัวรถจักรที่ลากสินค้าอื่นๆทุกอย่างขึ้นตามเป็นขบวนลดหลั่นกันไป  โดยปี2565 นี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือนกว่า ราคาน้ำมันหน้าปั๊มพ์ขึ้นมาแล้วกว่า 40%  …และถ้าเทียบกับกลางปีที่แล้ว 2564 ก็ขึ้นมาถึงกว่า 60%

เงินเฟ้อภาพรวมสอดคล้องกัน

นอกจากนั้นโดยภาพรวมแล้ว สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ก็เพิ่งประกาศ “ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป” หรือดัชนีราคาผู้บริโภคออกมา

ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 65 เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 7.66% เมื่อเทียบกับ มิ.ย. 64 ปีที่แล้ว  นั่นคือโดยเฉลี่ยแล้วของทุกอย่างแพงขึ้นเกือบ 8% ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา

… ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อปีต่อปี 7.66% นี้ ถือว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ13 ปีในไทย !

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ?  …ราคาน้ำมันโลกเริ่มดิ่งแรง !

ล่าสุดมีสถานการณ์ที่อาจเป็นสัญญาณว่าปัญหาอาจกำลังจะจบลง ?!?  … เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมา ( 6 ก.ค. 2565 ) ราคาน้ำมันโลกติดลบดิ่งคืนเดียว 13 เปอร์เซนต์

… และถ้าเทียบกับจุดสูงสุดของรอบนี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันโลกก็ลดลงไปแล้วกว่า 20 เปอร์เซนต์ !  … ( แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มพ์ในไทยยังไม่ลดลงในสัดส่วนเดียวกัน เพราะยังมีกองทุนน้ำมันมาควบคุมการขึ้นลงอีกขั้น )

ถ้าราคาน้ำมันโลกยังลดลงต่อเนื่องไปอย่างนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่รีบกลับขึ้นไปรอบ  ก็เริ่มมีความหวังเล็กๆขึ้นมาว่าภาวะเงินเฟ้อ ของแพง ทั้งทั่วโลกและในไทย  อาจจะเริ่มทุเลาลงจากนี้ไป  ถึงแม้ไม่ถูกลง  ก็อย่าแพงขึ้นมากไปเรื่อยๆก็พอ

ข้อมูลจาก
lmwn.com/line-man-wongnai-price-index-2022
thereporters.co/tw-politics/0607221255
thereporters.co/tw-politics/0403221556
bangchak.co.th/th/oilprice/historical

Related Posts

Send this to a friend