FEATURE

เสียงแม่โขง: ทุ่งไหหินสะเทือน การมาเยือนของ “ม้าเหล็กรัสเซีย”

“ทุ่งไหหิน” แห่งพูเพียงเชียงขวาง หรือที่ราบสูงเชียงขวาง มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก ในฐานะสมรภูมิสงครามลับของซีไอเอ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ สมัยสงครามเย็น

ปี 2562 องค์การยูเนสโก ได้มีมติรับรองทุ่งไหหินเป็นมรดกโลก โดยรัฐบาล สปป.ลาว ยื่นเสนอไหหินทั้งหมด 999 ไห ในพื้นที่ 11 แห่งของแขวงเชียงขวาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 เมืองคือ เมืองแปก เมืองพูกูด เมืองผาไซ และเมืองคำ เป็นมรดกโลกเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

หลายคนที่ไปเยือนเชียงขวาง และเที่ยวชมทุ่งไหหิน คงเคยเห็นซากรถถังของอดีตสหภาพโซเวียตจอดทิ้งอยู่กลางป่าสน ซึ่งสมัยสงครามปลดปล่อยทุ่งไหหินของฝ่ายแนวลาวอิสระ (ลาวฝ่ายซ้าย) ก็ได้อาสาสมัครทหารเวียดนามมาช่วยรบ และทหารโซเวียตในฐานะผู้เชี่ยวชาญมาฝึกยุทธวิธีการสู้รบให้ทหารปฏิวัติลาว

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2518 ในฐานะพี่ใหญ่ค่ายสังคมนิยม สหภาพโซเวียตได้ยื่นมือมาโอบอุ้ม สปป.ลาว ที่เกิดใหม่ในทุกด้านและนับแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ แห่งมิตรภาพลาว – โซเวียต ค่อยๆเลือนหายไปจากแผ่นดินลาว

ผ่านพ้นการฉลองวันชาติลาว 2 ธันวาคม ครบรอบ 44 ปี ไปได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ เสียงรถยานเกราะ รถถัง ดังกระหึ่มเหนือพูเพียงเชียงขวาง รถถังประดับธงสีขาว น้ำเงิน แดงของสหพันธรัฐรัสเซีย วิ่งฝุ่นคลุ้ง ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ แถวเมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง

นับจากผู้เชี่ยวชาญโซเวียตคนสุดท้ายเก็บกระเป๋ากลับบ้านเมื่อปี 2533 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว   ผู้ชี้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และความแนบแน่นของสองชาติ “ลาว-จีน” ได้กลายมาเป็น “ผู้ร่วมชะตากรรมสังคมนิยม” ในวันนี้

การซ้อมรบของเหล่ารบรถถัง-ยานเกราะ “ลาว-รัสเซีย” รหัส Laros 2019 ที่บ้านแปน เมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง ภายใต้คำขวัญ “เคียงบ่า เคียงไหล่ ต่อสู้เพื่อสันติภาพ” ระหว่างวันที่ 10-17 ธ.ค.2562 จึงมิใช่แค่ความสัมพันธ์ระดับกองทัพ หากแต่แฝงไว้ด้วยนัยยะแห่งการเมืองระหว่างประเทศ

พิธีเปิดการซ้อมรบร่วมลาว-รัสเซีย เริ่มจากการสวนสนามของทหารกองทัพประชาชนลาว และทหารกรมรถถังที่ 29 เขตทหารตะวันออกของกองทัพรัสเซีย ภายในสนามกีฬาโรงเรียนการทหารท้องถิ่น กองบัญชาการทหารแขวงเชียงขวาง

หลังจากนั้น ทหารลาว – รัสเซีย ได้เคลื่อนรถยานเกราะ และรถถัง เข้าสู่บ้านแปน เมืองพูกูด ซึ่งเป็นยุทธภูมิการสู้รบ อันโด่งดังสมัยสงครามลับ (ปี 2510-2517)

สหาย พล.ต.ปะสิด เที่ยงทำ รองหัวหน้ากรมใหญ่ เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว บรรยายสรุปว่า สองกองทัพ ได้ถ่ายทอดบทเรียนยุทธวิธีการสู้รบแบบใหม่ และการใช้กำลังรถถัง – ยานเกราะ ในการเคลื่อนไหวบนภูมิประเทศตัวจริง โดยมีนายและพลทหารรัสเซีย 170 สหาย ผู้เชี่ยวชาญ 36 สหาย พร้อมกับนายและพลทหารลาว 700 สหาย เข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้

วันที่ 17 ธ.ค.2562 วันสุดท้ายของการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง เสนาธิการสองกองทัพ ได้วางแผนจำลองการโจมตีเป้าหมายข้าศึก มอบหมายให้ทัพรถถังลาว เข้าตีด้านขวา และทัพรถถังรัสเซีย เข้าตีด้านซ้าย

การฝึกซ้อมดำเนินไปด้วยความราบรื่น ต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติของสองชาติลาว-รัสเซีย อาทิ สหาย พล.อ.จันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีป้องกันประเทศ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำลาว และสหาย พล.จ.ซาราโกบส์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด แม่ทัพใหญ่รถถังที่ 29 เขตทหารตะวันออก

ท่านบุนยัง วอละจิด เลขาธิการใหญ่คณะบริหารศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และประธานประเทศ สปป.ลาวในงานเลี้ยงรับรอง

อันที่สัญญาณการฟื้นความสัมพันธ์ระดับกองทัพ ระหว่างกองทัพประชาชนลาว กับกองทัพรัสเซียนั้น น่าจะเริ่มมาจากโครงการ “รถถังเก่าแลกรถถังใหม่” เมื่อปลายปี 2561

เมื่อกองทัพประชาชนลาว ได้จัดส่ง “ลดตัง” หรือ รถถัง T-34-85 จำนวน 30 คัน กลับสู่แผ่นดินเกิด-รัสเซีย โดยการลำเลียงออกจาก สปป.ลาว ไปขึ้นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ Nikolay Vilkov (081) ของกองทัพรัสเซีย ที่ท่าเรือในเวียดนาม

ดังที่รู้กัน อดีตสหภาพโซเวียตส่งรถถัง T-34 มาประจำการในกองทัพประชาชนลาว ในฐานะพันธมิตรสังคมนิยม ซึ่งวันนี้ รถถังรุ่นนี้ ยังมีสภาพใช้การได้ แต่ในบ้านเกิดก็เหลือแต่เศษซาก และรัสเซียจึงต้องการนำรถถังในตำนานจากลาว เข้าร่วมพิธีรำลึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มอสโคว์      

ห้วงเวลาเดียวกัน กองทัพประชาชนลาว ได้รับ รถถังรุ่นใหม่ T-72B1MS White Eagle จากรัสเซียมาเข้าประจำหน่วยรบ “ลดตัง” (รถถัง) ซึ่งในการฉลองวันก่อตั้งกองทัพประชาชนลาว ครบรอบ 70 ปี เมื่อ 20 มกราคา 2562 รถถังอินทรีขาว ได้เข้าร่วมการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพกองทัพลาวด้วย

การซ้อมรบของทหารรถถังลาว-รัสเซีย ที่เพิ่งจบไป รถถังสายพันธุ์รัสเซีย T-72B1MS ก็เป็นพระเอกของยุทธการ Laros-2019 บนยุทธภูมิบ้านแปน

เครดิตภาพ: Lao people’s Army News / Pathedlao

Related Posts

Send this to a friend