POLITICS

กรมวิชาการเกษตร ออกใบรับรอง GAP ใหม่ ครบ 100% ทั่วประเทศแล้ว

กรมวิชาการเกษตร ออกใบรับรอง GAP ใหม่ ครบ 100% ทั่วประเทศแล้ว เอื้อส่งออกผลไม้ไทยให้เกษตรกร

วันนี้ (10 ธ.ค. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการเปลี่ยนใบรับรองมาตรฐาน GAP เป็นรหัสรับรองรูปแบบใหม่ให้กับพืชทุกชนิดในระบบ GAP ครบ 100% ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เกือบ 1 เดือน

โดยการเปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่นี้ ได้มีการปรับรหัสรับรองสำหรับสินค้าผลไม้ส่งออกไปจีนและบางประเทศ ตามระเบียบสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศผู้นำเข้าได้เพิ่มเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น ทั้งคุณภาพสินค้าและสุขอนามัยพืช เช่น สินค้าเกษตรที่จะส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิต GAP เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานสำนักงานศุลกากรจีน เพื่อจัดส่งเลขทะเบียนแปลง GAP รหัสใหม่ ครอบคลุม 299,076 แปลง เกษตรกร 185,808 ราย พื้นที่รวม 1,860,454.31 ไร่ ให้สำนักงานศุลการกรจีน เพื่ออัพเดทข้อมูลรหัส GAP ใหม่ ในข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนให้เป็นปัจจุบัน จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกทุเรียนและลำไยของไทย ที่จะเริ่มมีผลผลิตในเดือน ก.พ. ปีหน้า

น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวถึงใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่นี้ ว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต มีการระบุรหัสหน่วยรับรอง รหัสมาตรฐานการผลิต รหัสผู้ได้รับการรับรอง รหัสจังหวัด รหัสชนิดขอบข่าย ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และตามประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าที่ต้องการนำเข้าสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย และตรวจสอบที่มาแหล่งผลิตได้ เสริมสร้างการส่งออกผลไม้ไทยให้มีความยั่งยืน

“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอเตือนผู้ประกอบการ ห้ามลักลอบนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านหรือจากแหล่งอื่นมาสวมสิทธิใบรับรอง GAP เพื่อการส่งออก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศทั้งระบบ หากพบเบาะแสหรือการกระทำผิดสามารถแจ้งให้กรมวิชาการเกษตร ทราบเพื่อดำเนินการทันที โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว หากพบการทำผิดจะลงโทษตามกฎหมาย และหากพบว่าเจ้าหน้ารัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือมีการทุจริต จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและกฎหมายอย่างเด็ดขาดด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Related Posts

Send this to a friend