FEATURE

จิตวิญญาณที่กำลังถูกสั่นคลอนของ “ปกาเกอะญอ” มองผ่าน “พะตีตาแยะ” และบ้านสบเมย

บ้านแต่ละหลังปลูกอยู่บนพื้นที่ลาดชันเพราะอยู่บนยอดดอย รอบๆ หมู่บ้านเป็นป่าซึ่งมีทั้งต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่เนืองแน่น บริเวณใกล้ๆ มีหุบเขาซึ่งมีลำห้วยไหลผ่าน

ถนนลูกรังที่ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ไปสิ้นสุดที่บ้านของ “พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ” ผู้อาวุโสชาวปกาเกอะญอ แห่งหมู่บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านสบลานเป็นหมู่บ้านเล็กๆมีเพียง 26 หลังคาเรือน ชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากกันมานานนับร้อยปี

ระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2563 ผู้คนหลากหลายได้เดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรม“งานบวชป่า-แนวกันไฟ พื้นที่จิตวิญญาณปกาเกอะญอ ลุ่มน้ำแม่ขาน วาระครบรอบ 10 ปี มติครม. 3 ส.ค.53 ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง”

เวทีเล็กๆถูกตั้งขึ้นบนผืนนาขั้นบันได โดยมีเสียงของลำน้ำแม่ลานบรรเลงเพลงธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา 

บริเวณรอบๆคันนาที่ลดหลั่นลงไปมีนิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงและป้ายต่างๆที่ให้ความรู้ด้านกฎหมาย รวมถึงข้อเรียกร้องที่บ่งบอกถึงสถานการณ์ของชุมชน

พะตีก็ไม่รู้แล้วว่าจะทำอย่างไร นอกจากบอกให้เขารู้ว่าพวกเราชาวปกาเกอะญออยู่กินและดูแลป่ากันอย่างไร นับวันกฎหมายยิ่งรุกคืบเข้ามาทุกทีโดยไม่ฟังเสียงพวกเราเลย

พะตีตาแยะ บอกถึงความพยายามอีกครั้งของผู้อาวุโสและชาวบ้านสบลานที่ต้องการบอกความจริงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าใหญ่ให้สังคมได้รับทราบ

“ถ้ารัฐบาลไม่แก้กฎหมาย 3 ฉบับ ปัญหาจะรุนแรงขึ้นทุกวัน เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านที่อยู่เดิมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกฎหมายไม่มีความยุติธรรม เอาเปรียบชาวบ้าน พวกเราอยู่กันดีๆ กลับจะมายึดที่ดิน ยึดป่าไม้ที่ชาวบ้านดูแล เขาตั้งท่าจะไม่ให้เราเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย” พะตีระบายความอัดอั้นตันใจ

กฎหมายที่พะตีตาแยะพูดถึงคือพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับแก้ไขล่าสุด และพระราชบัญญัติป่าชุมชน

ชาวบ้านสบลานช่วยกันดูแลรักษาป่าไว้กว่า 24,500 ไร่ หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “ป่าจิตวิญญาณ” โดยแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ไร่หมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งมีคำสอนและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเป็นแนวทาง

กว่า 30 ปีที่พะตีตาแยะ ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อเชื่อมต่อกับสังคมใหญ่ในการอธิบายให้เข้าใจถึงวิถีปกาเกอะญอ ที่อยู่ร่วมกับป่าด้วยความเกื้อกูลกัน เนื่องจากความไม่เข้าใจของภาครัฐที่มักทำตัวเป็นเจ้าของป่าและออกนโยบายที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนที่อยู่มาเก่าก่อนกฎหมาย

ตอนปี 2501 ฝรั่งที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ให้ลูกน้องเข้ามาเลือกไม้สักใหญ่และค่อยๆ ทำให้ต้นไม้แห้งตายก่อนตัด ปู่ของพะตีไปเตือนเขาว่าเป็นการผิดผี ทำให้ฝรั่งคนนั้นโกรธและข่มขู่ จนปู่ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งสิ้นสัมปทานถึงได้ย้ายกลับมา

ผู้อาวุโสวัย 73 ปีเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อตอนเป็นเด็กที่ต้องเผชิญหน้ากับคนภายนอกเป็นครั้งแรก

หลังนายทุนฝรั่งไป ทางการก็ให้สัมปทานนายทุนคนไทยต่อ ซึ่งคราวนี้ไม่ได้ตัดเฉพาะไม้สักอีกแล้ว แต่ตัดไม้ใหญ่ทุกประเภทออกจากป่า จนกระทั่งป่าไม้ลดลงมากและเกิดไฟป่าครั้งรุนแรง

“พ่อของพะตีไม่อยากให้มีการตัดป่าอีก ชาวบ้านเองก็ไม่เห็นด้วย พวกเราก็พยายามคัดค้านกัน ในที่สุดเขาก็เลิกสัมปทาน” ผู้อาวุโสปกาเกอะญอเล่าถึงความพยายามในการปกป้องป่าอีกครั้ง จนกระทั่งปี 2516 ได้มีการประกาศเขตป่าสงวนสะเมิงครอบคลุมพื้นที่ป่าและหมู่บ้านย่านนี้ทั้งหมด

“ก่อนประกาศป่าสงวนเขาก็ไม่ได้แจ้งชาวบ้านเลย ไม่ได้กันแนวเขตหมู่บ้าน เพราะเห็นว่าชุมชนตั้งเป็นไข่แดงอยู่กลางป่า ตอนนั้นพวกเราเองก็ไม่รู้ว่าป่าสงวนเป็นอย่างไร เขาบอกว่าชาวบ้านยังอยู่ได้เหมือนเดิม แต่ผู้ใหญ่บ้าน (ขณะนั้น) บอกว่าถ้าใครตัดไม้จะต้องวิ่งหนีเจ้าหน้าที่” ผู้อาวุโสนึกขำ เมื่อย้อนถึงยุคแรกของการต่อสู้ 

“ต่อมามีหน่วยจัดการต้นน้ำขึ้นมาอยู่อีก แต่แทนที่จะบำรุงดูแลต้นน้ำ กลับหลอกให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้โดยบอกว่าจะได้กินผล แต่ไม้ที่ปลูกคือกระถินเทพา ทำให้เกิดการบุกรุกป่าครั้งใหญ่ แถมเขายังลักลอบเลื่อยไม้ไปขาย จนชาวบ้านต้องช่วยกันจับตัวส่งตำรวจ แต่ตำรวจก็ปล่อยตัวไป สุดท้ายชาวบ้านต้องช่วยกันขับไล่ จนเขาถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น”

ปี 2532 มีการแสข่าวเรื่องการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติออบขาน และมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านสบลานเพื่อพบกับพะตีตาแยะ ซึ่งตอนนั้นผู้อาวุโสก็ยังไม่เข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาบอกเพียงว่ามาสำรวจ จนกระทั่งอีก 2 ปีต่อมาทางการเตรียมที่จะประกาศเอาผืนป่าแม่ขานเป็นเขตอุทยานฯ โดยพะตีจอนิ โอ่โดเชา ผู้อาวุโสปกาเกอะญอ เป็นผู้แจ้งข่าว ทำให้การต่อสู้ของชาวบ้านเข้มข้นขึ้นและเริ่มได้เรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสีย และมีการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อปี 2537 ที่ชาวบ้านนับหมื่นมารวมตัวกัน จนในที่สุดรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ สมัยนั้นคือนายประจวบ ไชยสาส์น ต้องมาเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ให้ข้อมูลไปว่าพวกเราช่วยกันดูแลป่ามาหลายชั่วอายุคน ในที่สุดเขาจึงยังไม่ประกาศ

“ตอนนี้เขาแยกมวลชนโดยตั้งอุทยานแห่งชาติขุขานขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ผนวกเอาพื้นที่ป่าบางส่วนที่ตอนแรกจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขานไปไว้ เขาบอกกับชาวบ้านที่เคยร่วมคัดค้านกับเราว่าแค่เข้ามาดูแลป่าและจะไม่ทำอะไรชาวบ้าน แต่ปีนี้เขาไปยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 100 ไร่ ชาวบ้านหลายคนที่ยอมให้เขาประกาศเขตอุทยานฯ ตอนนี้เลยรู้สึกเสียใจ บางคนเลี้ยงไก่ พอไก่หลุดเข้าป่า เมื่อไปจับคืนมากลับถูกปรับไป 800 บาท” ประสบการณ์ใกล้ตัวยิ่งทำให้พะตีตาแยะและชาวบ้านสบลานต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้ป่าชุมชนที่ร่วมกันดูแลรักษาไม่ตกอยู่ภายใต้กติกาอันแข็งกร้าวของรัฐ

เมื่อถึงหน้าแล้งในทุกๆปี ชาวบ้านสบลานจะช่วยกันทำแนวกันไฟตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ยาวกว่า 300 กิโลเมตร ทำให้ผืนป่ากว่า 2 หมื่นไร่ไม่เกิดปัญหาไฟไหม้รุนแรงเหมือนในป่าหลายพื้นที่

ถ้าเราเผาใบไม้ทุกปี สร้างแนวกันไฟ จะไม่เกิดไฟไหม้รุนแรง แต่ถ้าเศษไม้ใบหญ้าสะสมมากขึ้นหลายๆ ปี พอไฟไหม้ก็จะรุนแรง ดังนั้นทุกๆ ปีชาวบ้านจึงได้ช่วยกัน พะตีไม่รู้ว่าหากผืนป่าแห่งนี้กลายเป็นอุทยานฯ เขาจะดูแลได้ทั่วถึงหรือ ป่านนับแสนไร่ เขามีเจ้าหน้าที่อยู่ไม่กี่คน

ขณะที่สารพัดโครงการของรัฐยังรุกคืบอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่ขาน ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมป่านับหมื่นไร่ ซึ่งพะตีและชาวบ้านก็ต้องออกมาคัดค้านและวิ่งรอกอธิบายเหตุผลให้สาธารณชนและผู้มีอำนาจเข้าใจ

“เราไม่ได้คัดค้านการตั้งอุทยานฯ แต่อยากให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของพวกเราออกมาก่อน ล่าสุดพะตีได้เดินสำรวจร่วมกับตัวแทนอุทยานฯ 24 วันและทำข้อมูลร่วมกัน ตรงไหนเป็นป่าช้า เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา หรือไร่หมุนเวียน เราบอกไว้หมด หัวหน้าอุทยานฯ ก็ร่วมทำข้อมูลและบอกว่าจะเสนอขึ้นไป แต่ระดับกรมและกระทรวงจะเอาด้วยหรือไม่ ก็ไม่รู้” ผู้เฒ่ายังคงหนักใจ แม้แกพยายามทุกวิถีทาง ทั้งไปร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ และวิ่งลอกตามเวทีต่างๆ แต่ดูเหมือนเสียงเล็กเสียงน้อยของผู้อาวุโสกลับยังไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ

“เราอยู่เพื่อปากท้อง ลมหายใจของคนปกาเกอะญออยู่ในป่า แต่ถ้าเขามาคลุมป่าหมดแล้ว เราจะหายใจได้อย่างไร เขาไม่รู้จักป่าแห่งนี้เลย แต่เราอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ”

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งการบวชป่า สร้างฝายปกาเกอะญอ สาธิตการดับไฟไหม้ป่า ตลอดจนเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้าน และภาคราชการ จึงเป็นอีกครั้งที่พะตีตาแยะและชาวบ้านสบลานต้องการตะโกนบอกข้อเท็จจริงให้สังคมและผู้มีอำนาจทราบ

อาณาจักรกะเหรี่ยงที่เคยยิ่งใหญ่ตั้งแต่ลุ่มน้ำสาละวินและกระจายตัวอยู่ตามผืนป่าแดนตะวันตกของประเทศไทย ถูกแบ่งแยกด้วยเส้นเขตแดนของไทย-พม่า จนความเป็นชาติหดหายไป แต่วันนี้แม้แต่จิตวิญญาณของคนปกาเกอะญอก็กำลังถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่ เนื่องจากเถาวัลย์ที่ผูกยึดพวกเขาไว้กับธรรมชาติกำลังจะถูกทำให้ขาดสะบั้น

Related Posts

Send this to a friend