FEATURE

โรคซึมเศร้ารับมือได้หากรู้เท่าทัน จิตแพทย์แนะรับฟัง-เข้าใจ-ไม่เปรียบเทียบ

หากรู้จักก็เข้าใจและรับมือได้ไม่ยาก สำหรับ “โรคซึมเศร้า” ที่พบได้บ่อยทั้งในกลุ่มเด็กเยาวชนที่อายุระหว่าง 11-19 ปี รวมถึงวัยผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว จนนำมาสู่การเลือกทางออกด้วยการจบชีวิตตนเองที่เราพบเป็นข่าวบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่พบว่ามีผู้ป่วยติดอันดับอยู่ที่ 5-10 แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็นโรคอันดับ 1 และ 2 ที่ไม่เพียงพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ยังเป็นโรคส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง มักนำมาซึ่งการฆ่าตัวตาย ทำให้ระบบสูญเสียกำลังคน และสร้างผลกระทบต่อสังคมและคนรอบข้างด้านจิตใจ

The Reporters ได้พูดคุยกับ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง หรือคนใกล้ตัวป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อให้สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

โรคซึมเศร้า กับอาการซึมเศร้า ต่างกันพญ.วิมลรัตน์ ให้ข้อมูลว่า “ ถ้าพูดถึงโรคซึมเศร้า อันดับแรกต้องแยกให้ออกว่า เป็นอาการหรือเป็นโรค ทั้งนี้หากเป็น “อาการซึมเศร้า” อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียของรักหรือบุคคลอันเป็นที่รัก หรือเศร้าเสียใจจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ของหาย เป็นต้น แต่หากเป็น “โรคซึมเศร้า” ผู้ป่วยจะต้องกินยาเพื่อรักษาโรค และสาเหตุการป่วยโรคซึมเศร้า คือ

1.เกิดจากสารเคมีในร่างกายไม่สมดุล นั่นจึงทำให้ผู้ป่วยคิดลบ อันเนื่องจากความคิดที่ไม่สมดุล ซึ่งสาเหตุของการคิดลบ มาจากปัจจัยด้านชีวภาพ (ปัจจัยด้านชีวภาพคือสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเราทุกเรื่อง) หรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคซึมเศร้า จึงทำให้เป็นโรคซึมเศร้า

2.ถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์ในชีวิตที่ไม่สมหวัง ไม่ได้ดั่งใจ หรือทำให้รู้สึกท้อแท้ กระทั่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าทำไมชีวิตมันไม่สมหวังสักที หรือทำไมยังทำไม่ได้สักที เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือกับปัจจัยทางชีวภาพดังกล่าวได้ดีหรือไม่ เช่น ถ้าเรามีเพื่อนสนิท หรือครอบครัวคอยดูแลอยู่ข้างกาย ก็จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

3.มนุษย์เราไม่รู้ว่าปัจจัยด้านชีวภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเราพบว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้คนเป็นโรคปอด เป็นต้น ซึ่งโรคซึมเศร้าก็คล้ายกัน

การถูกเปรียบเทียบ บุลลี่ ความคาดหวังจากครอบครัวล้วนเป็นปัจจัยลบ

“และหากย้อนกลับก่อนหน้านี้ เด็กวัยรุ่นมักจะรู้สึกว่าตัวเองเครียดและลงกระเพาะ แต่ปัจจุบันทุกอย่าง มักจะถูกมองว่าเป็นโรคซึมเศร้านั้น ส่วนหนึ่งเพราะเด็กยุคใหม่มีความรู้มากขึ้น นั่นจึงทำให้เด็กรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร ประกอบกับสังคมในยุคนี้มีแต่เรื่องน่าเศร้า เช่น “การถูกเปรียบเทียบ” กับคนใกล้ตัว หรือ “การถูกบุลลี่” จากคนรอบข้าง หรือถูกบูลลี่ได้อย่างง่ายดาย จากโซเชียล และต่างจากก่อนหน้าอีกเช่นกันที่ หากเด็กถูกเพื่อนแกล้ง นั่นแปลว่าเด็กคนนั้นเป็นอันธพาลจริงๆ จึงสามารถรังแกผู้อื่นได้ นอกจากนี้การที่เด็ก “ถูกคาดหวังจากพ่อแม่” เช่น ให้เรียนจบสูงๆ แต่ความสามารถของเด็กไม่ถึง นั่นจึงทำให้เด็กหลายคนไม่พร้อม กระทั่งเกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน รวมถึงปัญ “ครอบครัวหย่าร้าง” ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง ต้องใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ก็ถือเป็นอีกสาเหตุของโรคซึมเศร้านั่นเอง” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดในโรงเรียน เมื่อปี 2563 พบว่าเด็กอายุ 11-19 ปี ในจำนวน 5,300 คน ร้อยละ 45 พบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และอีก 17.5% มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง และต่ำกว่าร้อยละ 25 ระบุว่าตัวเองอยากตาย และเด็กอีกร้อยละ 5.19 ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีความคิดอยากฆ่าตัวตาย (โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเดียวกัน) โดยสรุปแล้วเด็กที่ป่วยโรคซึมเศร้า และคิดที่จะฆ่าตัวตาย คิดเป็นร้อยละ 9.8 ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง

เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าและเลือกจากไปมักไม่มีประวัติเข้ารับการรักษา

ที่สำคัญเด็กที่ป่วยโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายนั้น มักจะไม่มีประวัติการเข้ารับการรักษา และมีพฤติกรรมก้าวร้าว และเป็นเด็กวัยรุ่นที่เก็บตัว หงุดหงิดง่าย ประกอบกับเด็กวัยรุ่นที่ป่วยโรคซึมเศร้านั้น เด็กอยู่ในวัยที่ต้องการดูดีในสายตาเพื่อน จึงไม่แสดงอาการป่วยให้เพื่อนเห็น จึงทำให้เพื่อนที่ไม่สนิทบางคนไม่รู้ว่าเด็กป่วย หรือไม่มีเพื่อนสนใจว่าเด็กป่วย หรือบางครั้งตัวเด็กวัยรุ่นที่ป่วย ไม่ได้เล่าอาการป่วยให้เพื่อนหรือพ่อแม่ฟัง เพราะรู้สึกว่าเมื่อพูดไปแล้ว อาจจะไม่มีใครเชื่อ หรือแม้เล่าไปแล้ว คนรอบข้างบอกให้เด็กเข้มแข็งหน่อย แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่สามารถทำได้

“สำหรับสัญญาณเตือน ของเด็กที่ป่วยโรคซึมเศร้านั้น ได้แก่ บุตรหลานของท่านรู้สึกหมดแรง หมดหวังในการใช้ชีวิต และรู้สึกหมดอนาคต รู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีอนาคต นอนไม่หลับ จากที่เคยอารมณ์ดีเคยเล่นกับเพื่อนก็ไม่เล่น และในกลุ่มของเด็กป่วยโรคซึมเศร้า ที่มีอาการหนักหลายคนรู้สึกอยากตาย” “ทั้งนี้หากเพื่อนหรือพ่อแม่พบเห็นสัญญาณเตือนดังกล่าว เช่น หากเด็กบอกว่ารู้สึกอยากฆ่าตัวตาย แนะนำให้เพื่อน หรือพ่อแม่ ถามเด็กไปเลยว่าเรื่องที่จะฆ่าตัวตายนั้นจริงหรือไม่? และคิดมานานแค่ไหนแล้ว? วางแผนนานหรือยัง? เตรียมอุปกรณ์ฆ่าตัวตายหรือยัง? และถ้าเด็กตอบว่าคิดนานแล้ว และกำลังจะลงมือเตรียมอุปกรณ์ฆ่าตัวตายแล้ว ให้รีบพาบุตรหลานมาพบแพทย์ แต่ถ้าเด็กไม่ยอมมาพบแพทย์ก็ไม่เป็นไร เพราะมีช่องทางอื่นในการช่วยเหลือเด็ก เช่น เข้าไปที่ www.วัดใจ.com ซึ่งเวปไซต์ดังกล่าวจะมีแบบประเมินเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และเมื่อเด็กทำแบบประเมิน

แล้ว หากเด็กรู้สึกว่าไม่โอเค จะมีคำถามว่าต้องการให้เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กหรือไม่ ถ้าเด็กยินยอมก็จะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิต โทรไปพูดคุยกับเด็ก

หรือจะเข้า “แอพพลิเคชั่นหมอพร้อม” เพื่อทำแบบประเมินสุขภาพใจเช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบของการติกข้อมูล และถามตอบผ่านระบบเสียงสนทนาอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะประเมินจากน้ำเสียง ของผู้ป่วยในการตอบคำถาม และก็จะมีสอบถามเพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเด็กหรือไม่ ถ้าเด็กยินยอม เจ้าหน้าที่ก็จะให้แอดไลน์เพื่อสนทนากัน หรือแม้แต่ช่องทางสายด่วนออนไลน์เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตโทร “1323” ก็สามารถโทรเข้ามาได้ ทั้งนี้หากโทรไม่ติดหรือรอสายนาน ก็แนะนำว่าอย่ารีบวางสาย เพราะเราได้ตั้งเวลาไว้ 30 นาทีในการรอสาย โดยที่ผู้โทรเข้ามาไม่เสียค่าบริการขณะที่รอสาย เพราะถ้าวางสาย ก็จะต้องไปต่อคิวรอบใหม่ ทำให้เสียเวลาหรือเสียโอกาสในการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

รับฟัง เข้าใจ ไม่เปรียบเทียบว่า “เรื่องเล็กน้อย” คือกุญแจสำคัญ

“สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ดีที่สุด คือการรับฟังเขา ว่าแท้จริงแล้วปัญหาของเด็ก หรือของลูกหลานคืออะไร เพราะบางครั้งปัญหามันอาจจะนิดเดียว บวกกับความที่เด็กไม่เข้มแข็ง จึงทำให้ไม่สามารถผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้ ดังนั้นการที่เพื่อนหรือพ่อแม่ฟังเด็กอย่างเข้าใจ โดยที่ไม่ตำหนิเขา และไม่เปรียบเทียบปัญหาของเด็ก กับผู้อื่นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย กระทั่งไม่ไปตัดสินว่าสิ่งที่เด็กเล่านั้นแก้ปัญหาไม่ได้ เพียงเท่านี้เด็กก็จะรู้สึกว่าเขาสบายใจขึ้น อีกทั้งยอมรับในสิ่งที่เป็น และทำให้ปัญหาของเด็กคลี่คลายและไปต่อได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก ที่ยังถึงขึ้นป่วยโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่เด็กที่ป่วยซึมเศร้าก็ตาม เช่น หากเราโกธรกับเพื่อน และได้เล่าให้เพื่อนที่สนิทอีกคนฟัง เพียงเท่านี้เราก็หายโกธรเพื่อนอีกคนแล้ว เพราะเราได้ระบายความไม่สบายใจให้เพื่อนฟัง โรคซึมเศร้าก็เหมือนกัน ถ้าเด็กไม่รู้จะเล่าปัญหาให้ใครฟัง หรือเมื่อเล่าไปแล้วยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่ จากการที่ถูกเปรียบเทียบ ถูกตำหนิติเตียนด่าทอ จากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ย่อมเท่ากับเป็นการซ้ำเดิมปัญหาของเขาเข้าไปอีก

มีอะไรให้ช่วยไหม เราอยู่ตรงนี้นะ

ทั้งนี้นอกจากคำว่าฟังอย่างเข้าใจ “คำพูดเปิดประเด็น” ที่ทำให้เด็กที่ป่วยโรคซึมเศร้า กล้าที่จะเล่าความไม่สบายใจหรือปัญหาให้เราฟังนั้น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากคนรอบข้าง ที่พ่อแม่หรือเพื่อนควรพูด เช่น มีอะไรให้เราช่วยไหม? เราอยู่ตรงนี้และจะผ่านมันไปด้วยกัน? หรือเราพร้อมช่วยเธอเสมอน่ะ? ซึ่งคำพูดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และได้ระบายในสิ่งที่เป็นปัญหาของเขาให้เราฟัง

สุดท้ายแม้ปัญหาจะยังไม่ได้รับการแก้ไขในทันที แต่อย่างน้อยผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจ เมื่อเขาสบายใจขึ้น ปัญหาที่สั่งสมไว้ก็จะได้รับการแก้ไขในที่สุด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเด็กจะไปต่อได้ ที่สำคัญผู้ที่ให้คำปรึกษา จะต้องไม่แนะนำวิธีแก้ปัญหา ของตัวเองให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฟัง เพราะสไตล์การแก้ปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดในลักษณะของคำว่า “สู้ๆนะ” หรือ “เข้มแข็งนะ” “ทำอย่างนั้นซิ ทำอย่างนี้ซิ” เพราะอันที่จริงแล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่สามารถเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ป่วย แต่สิ่งสำคัญเขาต้องการผู้ที่รับฟังเขาอย่างเข้าใจและไม่ตำหนิเขาค่ะ และสุดท้ายปัญหาก็จะมีทางออกในที่สุดพญ.วิมลรัตน์ กล่าวเน้นทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend