FEATURE

ใครโกง?

ใครโกงกินสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองมากกว่ากันระหว่าง ‘นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า’ ยังไม่มีใครบอกได้ เพราะบางครั้งพวกเขารวมหัวโกงบางครั้งก็แยกกันกิน การรู้เท่าทันคนโกงอย่างแยกแยะไม่เหมารวม จึงเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้คอร์รัปชันที่ประชาชนและหน่วยงานของรัฐควรเรียนรู้

‘คอร์รัปชันในภาครัฐ’ (Corruption in Public Sector) หมายถึงการโกงกินทุกประเภทในหน่วยงานของรัฐ ทั้งกระทรวง รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ โดยคนที่มีอำนาจรัฐและกินเงินเดือนหลวงที่เรียกชื่อต่างกัน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ นักการเมือง อาจารย์ ทหาร ตำรวจ พนักงาน หากเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สิทธิ์สัมปทาน ก็จะมีพ่อค้ามาสมรู้ร่วมคิดเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า ‘สามประสานผลาญชาติ’

ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนทั้งสามกลุ่มร่วมมือกัน แต่เกือบทั้งหมดต้องมีข้าราชการเป็นตัวกลาง รูปแบบของคอร์รัปชันจึงแบ่งตาม “กลุ่มคน” ที่เป็นตัวแสดงหลัก ดังนี้

  1. คอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคอร์รัปชันในระบบราชการ (Bureaucratic Corruption) มีมากและกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุด เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานโดยไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง เช่น เรียกรับสินบนจากประชาชน รีดไถ ยักยอกเอาของหลวงไปใช้ ปลอมแปลงเอกสาร ร่วมมือกับพ่อค้าในการจัดซื้อจัดจ้าง เกิดขึ้นทุกระดับตั้งแต่กระทรวง กรม จังหวัด จนถึงหน่วยงานเล็กสุด เช่น กรณีโกงเงินคนพิการของพัฒนาสังคมจังหวัดทั่วประเทศ การสร้างถนน เป็นต้น
    มีข้อแม้ว่า ความผิดเหล่านี้แม้ทำกันมานาน ทำจนเป็นธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่อาจต้องส่งส่วยหรือได้รับการยินยอมจากนักการเมืองด้วย

  2. คอร์รัปชันโดยนักการเมือง เป็นคอร์รัปชันที่บงการโดยนักการเมืองที่มีอำนาจกว้างมาก บวกด้วยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงสร้างความเสียหายรุนแรง โดยทั่วไปพบว่ามีนักธุรกิจเข้ามาร่วมวางแผนด้วยเสมอ เว้นแต่เป็นคอร์รัปชันทางการเมือง หรือการใช้อิทธิพลไปข่มขู่ – รีดไถ – ตบทรัพย์ผู้อื่น ที่นักการเมืองทำได้ด้วยตนเอง ในที่นี้จะแยกเป็น

    ก. นักการเมืองระดับชาติ ในรัฐบาลและรัฐสภา ตัวอย่างเช่น กรณีสนามฟุตซอล รถไฟฟ้าสนามบินสุวรรณภูมิ หากเป็นคนในรัฐบาลจะใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การลงทุน การกำกับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่งตั้งโยกย้าย ผ่านมติ ครม. และตำแหน่งรัฐมนตรี หากเป็น ส.ส. หรือข้าราชการการเมือง อาจใช้บทบาทการเป็น ส.ส. หรือกรรมาธิการก็ได้ พบเห็นทั้งลงมือด้วยตัวเองและผ่านเครือข่าย

    ข. นักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนกลุ่มนี้มีอำนาจบริหารและใช้งบประมาณของท้องถิ่นเต็มที่แม้จะอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทย ตัวอย่างเช่น กรณีเสาไฟกินรี
  3. คอร์รัปชันโดยเอกชน บ่อยครั้งที่พบว่ารัฐเสียรู้เอกชนโดยไม่ตั้งใจ เช่น ฮั้วประมูล ลักสเปก ทิ้งงาน ฉ้อโกง โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ร่วมรู้เห็น บางทีอาจเป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพ ความไม่รู้หรือความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ทำให้รัฐเสียหาย
    กลุ่มนี้ยังรวมถึงกรณีที่ประชาชนบางคนที่ฉวยโอกาสโกงเล็กโกงน้อยเมื่อมีโอกาส เช่น โกงเงินโครงการคนละครึ่ง โกงสิทธิ์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดโควิด ขายเสียงในการเลือกตั้ง เป็นต้น

    การแยกแยะเช่นนี้อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า สินบนและเงินทอนในการจัดซื้อจัดจ้างปีละ 2 – 3 แสนล้านบาทมีโอกาสกระจายเข้ากระเป๋าคนในรัฐบาล ข้าราชการและนักการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

    การควบคุมคอร์รัปชันให้ได้ผลจึงต้องพุ่งเป้าเล่นงานให้ถูกตัว ไม่เหมารวม ใช้มาตรการต่อต้านที่หลากหลายร่วมกัน การใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแหจะสร้างภาระเกินจำเป็นแก่หน่วยงานและข้าราชการที่ดี ทำให้ขาดความร่วมมือและไม่ได้ผลในที่สุด อ่านจบแล้วใครที่ยังอยากโทษรัฐบาล ป.ป.ช. สตง. ว่าทำหน้าที่ไม่ดี ขาดความรับผิดชอบจนคนโกงเต็มบ้านเต็มเมืองก็ทำได้ แต่คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่มีรายละเอียดมาก คนโกงเก่งขึ้นรู้วิธีหลบเลี่ยง ดังนั้นถ้าคนไทยไม่คิดว่าเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ร่วมกันลงมือต่อต้าน ก็ไม่มีทางเอาอยู่หรอกครับ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
13 กรกฎาคม 2564

Related Posts

Send this to a friend