FEATURE

เสียงแม่โขง: ล่ามโซ่สายน้ำอู “เมืองงอย” อกแตก แปลกวิถีแยกพี่น้อง

นักท่องเที่ยวที่เบื่อความพลุกพล่านของวังเวียง ความแออัดของนครหลวงพระบาง ต้องการปลีกวิเวก จึงมุ่งหน้าไป “เมืองงอย แขวงหลวงพระบาง”

หลายปีก่อน การเดินทางไปเมืองงอย ไม่สะดวกสบาย นั่งรถโดยสารออกจากหลวงพระบาง ไปตั้งหลักที่หนองเขียว (เมืองงอยใหม่) แล้วนั่งเรือทวนสายน้ำอูขึ้นไปเมืองงอย

ชุมชนริมฝั่งน้ำอูในวิถีดั้งเดิม ท่ามกลางขุนเขาน้อยใหญ่ จึงมีหมอกขาวปกคลุมทั้งวันในฤดูหนาว  นักเดินทางผู้ต้องการใช้ชีวิตเงียบๆ กักขังตัวเองอยู่ในอ้อมกอดธรรมชาติ จึงหลงใหลเมืองงอย (เก่า) เป็นยิ่งนัก

จากอดีตถึงปัจจุบัน แม่น้ำอู สายเลือดใหญ่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝั่งมาเนิ่นนาน และเป็นเส้นทางคมนาคม เชื่อมระหว่างเมืองขวา แขวงพงสาลี กับเมืองงอย แขวงหลวงพระบาง

พลันที่มีโครงการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้า 7 เขื่อนบนสายน้ำอู ตั้งแต่ยอดอู แขวงพงสาลี ไปจนถึงปากอู แขวงหลวงพระบาง ก็มีการสร้างถนนสายใหม่ จากนครหลวงพระบางถึงเมืองงอย เพื่อลำเลียงวัสดุก่อสร้างสำหรับการก่อสร้างเขื่อนน้ำอู 3 เมืองงอย

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าอาวาสวัดหาดสา บ้านหาดสา เมืองงอย แขวงหลวงพระบาง ได้บันทึกความเปลี่ยนแปลงของชุมชนริมสายน้ำอู ในแฟนเพจ “วัดบ้านหาดสาสีบุนเฮืองวอละวิหาร”

เขื่อนพลังงานไฟฟ้า บนสาย "น้ำอู"

6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอู 3 เป็นชุมชนในการปกครองของเมืองงอย ที่เรียกว่า เขต 2 ส่วน เขต 1 ก็ไล่ตั้งแต่เมืองงอย (เก่า) ลงไปหาเมืองงอยใหม่ หรือ หนองเขียว

จุดก่อสร้างเขื่อนน้ำอู 3 อยู่ในเขต 2 เมืองงอย 6 หมู่บ้านที่อยู่ด้านหน้าเขื่อน ประกอบด้วย บ้านหาดขาม บ้านสบขิง บ้านโพนชะนะ บ้านหาดสา บ้านปากลวง และบ้านห้วยแรม จึงเสมือนถูกตัดขาดจากตัวเมืองงอย และหนองเขียว

สภาพการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ส่งผลให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ที่อาศัยน้ำอู เป็นเส้นทางคมนาคม จะมีความใกล้ชิดกับเมืองขวา แขวงพงสาลี มากขึ้น เพราะเขื่อนขวางหน้า การไปมาหาพี่น้องทางเมืองงอย และหนองเขียว โดยทางเรือจะยากลำบากขึ้น

ในอนาคต 6 หมู่บ้านของเมืองงอย อาจถูกโอนย้ายไปขึ้นกับการปกครองของเมืองขวา แขวงพงสาลี เพราะมีความสะดวกในการเดินทางมากกว่า 

มิเพียงชาวบ้านที่ต้องกลายเป็นผู้เสียสละ ยินยอมอพยพออกจากถิ่นฐานเดิมริมน้ำอูไปอยู่ในชุมชนใหม่ พระและสามเณร วัดบ้านหาดสา ก็ต้องละทิ้งวัดเก่าริมน้ำอู ไปอยู่วัดแห่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลสายน้ำ

ตัวแทนโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำอู 3 และฝ่ายปกครองเมืองงอย ได้มาเจรจากับเจ้าอาวาสวัดหาดสา (เก่า) โดยกรรมการหมู่บ้านหาดสา ไม่อยากให้บริษัทไซสมบูน เป็นผู้ก่อสร้างวัดใหม่ กลัวทำไม่เหมือนวัดเก่า และชาวบ้านเสนอจะจ้างช่างมีฝีมือที่รู้จักมาสร้างวัดเอง “ท้าวอู” ตัวแทนกลุ่มทุนจีน ถามว่า ใช้เงินเท่าไหร่ สร้างวัด กรรมการบ้านบอก 3 พันล้านกีบ ท้าวอูส่ายหัว

บ้านหาดสา เมืองงอย แขวงหลวงพระบาง

ถ้าไม่มีปัญญาจ่ายชดเชย ให้แก่หมู่บ้าน ให้แก่วัด ก็อย่ามาสร้างเขื่อน ให้น้ำท่วมบ้านเรือนพวกเขา

กรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งโพล่งกลางที่ประชุม ท้าวอูก็เงียบไป

อุโบสถ วัดบ้านหาดสา (เก่า)

ในที่สุด ฝ่ายปกครองเมืองงอย ยืนยันให้บริษัทไซสมบูน เป็นผู้สร้างวัด เพราะได้สัมปทานก่อสร้างบ้านและวัดแห่งใหม่ไปแล้ว วัดหาดสาใหม่ จึงถูกสร้างขึ้นแบบที่ไม่เหมือนเก่า แถมบริษัทไซสมบูนสร้างไม่เสร็จ โดยงานสร้างโบสถ์ สร้างศาลาที่เหลือ ให้เป็นภาระของชาวบ้านสร้างต่อกันเอง

เจ้าอาวาสวัดบ้านหาดสา ทำหนังสือถึงเมืองงอยก็เงียบ ทวงถามบริษัทก็ไม่มีคำตอบ จึงได้มีการขอ บริจาคจากชาวบ้านนำเงินมาจ้างช่างดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ปลายเดือนตุลาคม 2562 เจ้าอาวาสบ้านหาดสา ได้ชาวบ้านและพระลูกวัดไปทำความสะอาดวัดเก่า เช็ดถูภายในพระอุโบสถ และศาลา พร้อมอัพภาพขึ้นเฟซบุ๊ก ด้วยสเตตัส “มีวัดใหม่ แต่บ่ลืมวัดเก่า” โดยเจ้าอาวาสยังหวังว่า 

“เผื่อในอนาคต น้ำเขื่อนท่วมบ่ถึง จะได้ดูแลรักษาไว้เป็นสถานปฏิบัติธรรม ให้รุ่นลูกๆ หลานๆ ได้เห็นสิ่งที่บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายของพวกตน ได้สร้างเอาไว้ด้วยกำลังกาย กำลังวัตถุ กำลังจิตใจ กำลังศรัทธา..”

สรุปว่า เจ้าอาวาสไม่ยอมให้มีการทุบทำลายวัด หากวัดจะจมอยู่ใต้น้ำ ก็ขอให้คงสภาพวัดเดิมไว้ให้นานที่สุด

อุโบสถ วัดบ้านหาดสา (ใหม่)

เจ้าอาวาสวัดบ้านหาดสา ฝากความหวังไว้ว่า  “การเสียสละอย่างหนึ่ง เพื่อได้มาอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้านหาดสา คงจะบ่สูญเปล่า เพื่อการพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตามแผนการพัฒนาของบ้านเมืองเพิ่น (ภาครัฐ)…”

อนึ่ง เขื่อนไฟฟ้า “น้ำอู” แบบขั้นบันได เป็นโครงการของ กลุ่มบริษัท ก่อสร้างพลังไฟฟ้าจีน จำกัด โดยจะมีการสร้างเขื่อนลดหลั่นกันไปตามระดับน้ำ จากยอดน้ำอู แขวงพงสาลี จนถึงตอนกลางและปลายน้ำอู แขวงหลวงพระบาง รวมทั้งหมด 7 เขื่อน

เขื่อนน้ำอู 1   2 และ 3 จะมีที่ตั้งอยู่ในแขวงหลวงพระบาง ส่วนเขื่อนน้ำอู 4   5   6 และ 7 จะอยู่ในแขวงพงสาลี เฉพาะเขื่อนน้ำอู 3 น่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากเมืองงอย เป็นเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ผู้มีไลฟ์สไตล์ชอบสันโดษ เมืองงอยเป็นเหมือนหลุมหลบภัย หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่

ลาก่อนเมืองงอย ลาก่อนหนองเขียว…สเตตัสในวันที่เจ้าอาวาสวัด พาพระลูกวัด เก็บข้าวออกจากวัดเก่าไปอยู่วัดใหม่

เครดิตภาพ:วัดบ้านหาดสาสีบุนเฮืองวอละวิหาร

Related Posts

Send this to a friend