FEATURE

‘หมอประเวศ’ เสนอ “การเมืองทางสายกลาง” ทางออกจากวิกฤตประเทศไทย

ศ.นพ.ประเวศ วะสี เสนอ “การเมืองทางสายกลาง” ทางออกจากวิกฤตประเทศไทย ระบุต้นเหตุวิกฤตความขัดแย้งมาจาก การเมืองแบบตาบอดคลำช้างมากว่า 100 ปี ถึงเวลาต้องเห็นช้างทั้งตัว คือ มีจิตสำนึกแห่งความเป็นองค์รวมประเทศไทย

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เผยแพร่บทความ ข้อเสนอ “การเมืองทางสายกลาง” ทางออกจากวิกฤตประเทศไทย โดยระบุว่า

คนไทยกลุ่มต่าง ๆ พยายามดิ้นรนหารูปแบบทางการเมือง ที่จะทำให้ประเทศไทยลงตัว มาตั้งแต่ครั้ง ร.5 ผ่านความขัดแย้งรุนแรงหลายครั้ง ขั้วขัดแย้งที่รุนแรง คือ ระหว่าง “ขวา” กับ “ซ้าย”ความไม่ลงตัวทางการเมืองอย่างเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 100 ปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสมาก เช่นเดียวกับครั้งกรุงศรีอยุธยา ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ คือ “การเมืองแบบตาบอดคลำช้าง”

ตามนิทาน คนตาบอดหลายคนคลำช้างเพื่อจะได้รู้ว่าช้างคืออะไร แล้วทะเลาะกันยกใหญ่เพราะคลำพบส่วนของช้างที่ต่างกัน บ้างว่าช้างเหมือนเชือกเพราะคลำเจอหาง บ้างว่าช้างเหมือนพัดเพราะคลำเจอหู บ้างว่าเหมือนกำแพงเพราะคลำเจอตัว ฯลฯ จึงทะเลาะกันใหญ่เพราะการรู้ต่าง เนื่องจากตาบอด ถ้าตาไม่บอดเห็นช้างทั้งตัวก็ไม่มีอะไรจะทะเลาะกัน เพราะส่วนต่างล้วนเป็นของช้างตัวเดียวกัน

การที่ตาไม่บอดแล้วเห็นทั้งหมด คือ เห็นความเป็นองค์รวมประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้พ้นวิกฤต

ถ้าเห็น “องค์รวม” ของประเทศ ก็จะไม่มีความขัดแย้งระหว่าง “ขวา” กับ “ซ้าย” อีกต่อไปเพราะเครื่องบินที่จะบินได้ก็ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา คนที่ไม่พิการก็ต้องมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวา ซ้ายกับขวาไม่ใช่ปฏิปักษ์หรือปรปักษ์ แต่ทั้งซ้ายและขวาเป็นขององค์รวมเดียวกัน

การที่เกิดกรณีพิฆาตระหว่างขวากับซ้าย เช่น ไทยฆ่าไทยอย่างทารุณในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เพราะเห็นแบบแยกส่วนไม่เห็นองค์รวม

ฉะนั้น สำคัญที่สุดของอนาคตประเทศไทย คือ “การเห็นช้างทั้งตัว” หรือ เห็นความเป็นองค์รวมประเทศไทย

ความเป็นองค์รวมจะทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์

เฉกเช่นเครื่องบิน เมื่อประกอบส่วนต่าง ๆ สมมุติว่ามี 10,000 ครบตามโครงสร้าง เกิดเป็นองค์รวมเครื่องบิน มีคุณสมบัติใหม่เกิดขึ้น คือ บินได้ ในขณะที่แต่ละชิ้นส่วนทั้ง 10,000 ชิ้น ไม่มีชิ้นไหนบินได้เลย ต้องประกอบกันเป็นองค์รวมจึงบินได้หรือ ระบบร่างกายของเราประกอบด้วยส่วนย่อย คือ เซลล์เป็นล้าน ๆ และอวัยวะหลายสิบ เมื่อเป็นองค์รวม คือ คนทั้งคน ความเป็นคนก็มีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์ ในขณะที่อวัยวะต่าง ๆ ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นคนเลย ต้องเป็นองค์รวมคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์จึงผุดบังเกิดขึ้น

เมื่อใดที่ประเทศไทยมีความเป็นองค์รวม เมื่อนั้นจะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ คนไทยไม่เคยรู้รสอันมหัศจรรย์ของประเทศที่มีความเป็นองค์รวมเลย เพราะเห็นแบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน ที่เรียกว่า “แบบตาบอดคลำช้าง” จึงตกอยู่ในความขัดแย้งเรื้อรังมากว่า 100 ปี

ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องเห็นช้างทั้งตัวแล้ว คือ มีจิตสำนึกแห่งความเป็นองค์รวมประเทศไทย

วิถีคิดที่แพร่หลายอยู่ในโลกทำให้โลกวิกฤตและไทยก็วิกฤตด้วย นั่นคือ คิดแบบตายตัว แยกส่วน แยกข้างแยกขั้ว คิดเชิงปฏิปักษ์ หรือปรปักษ์ ที่จะต้องต่อสู้โค่นล้มทำลายกัน วิถีคิดแบบนี้ ทำให้เสียสมดุล ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรงไปทั่วโลก แม้ในสหรัฐอเมริกาเองก็กลัวกันว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง เพราะมีการแยกขั้วอย่างรุนแรง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า “เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้” ท่านไม่ได้กล่าวว่าวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิงนั้นคืออะไร เป็นเพราะท่านรู้แต่ไม่พูด หรือท่านก็ไม่รู้เหมือนกัน ที่จริงคำตอบนี้มีตั้ง 2,000 กว่าปีมาแล้ว โดย ศาสดาเอกของโลก นั่นคือ “ทางสายกลาง”

ทางสายกลางคือทางสายปัญญาตามธรรมชาติ อันได้แก่ ความเป็นเหตุเป็นผลล้วน ๆ หรือความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีความสุดโต่ง ไม่แยกข้างแยกขั้ว ไม่คิดเชิงปฏิปักษ์ แต่คิดเชิงปัญญา เมตตาหรือไมตรีจิตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล

คนไทยต้องใช้วิถีคิดทางสายกลางในการดำรงชีวิต และกิจการทางสังคมทุกชนิด เช่น
• การเมืองทางสายกลาง
• เศรษฐกิจทางสายกลาง
• การศึกษาทางสายกลาง
ฯลฯ

ปี พ.ศ.2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนใหญ่ทางการเมือง ถ้าพรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองทางสายกลางพรรคการเมืองต้องมีความเป็นสถาบัน นำประชาชนไปบนวิถีทางที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากวิถีคิดที่ถูกต้อง วิถีคิดทางสายกลางไม่น่าจะผิด เพราะเกิดจากการบรรลุธรรมหรือบรรลุทางปัญญา ผู้ทรงได้รับการเรียกขานว่าเป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดา ดังคำสวดที่ว่า “สัตถา เทวมนุสสานัง” (สัตถา = ศาสดา) ขอให้พรรคการเมืองไทย และคนไทยทั้งมวล โดยเฉพาะสื่อมวลชนเป็นปฐม ทำความเข้าใจเรื่อง “ทางสายกลาง” แล้วไทยจะพ้นวิกฤต โลกก็เช่นเดียวกัน ทางสายกลางเป็นความจริงตามธรรมชาติ จึงเป็นสากล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

“ความจริงมีชัยเหนือทุกสิ่ง” – จารึกเสาพระเจ้าอโศก

Related Posts

Send this to a friend