FEATURE

รับมือกับการถูกบูลลี่ เรื่องน้ำหนักตัวอย่างเข้าใจ ต้องภูมิใจในตัวเอง

แม้เลี่ยงไม่ได้แต่รับมือได้ สำหรับการที่วัยรุ่น ถูกบูลลี่เรื่องน้ำหนักตัวในโซเชียล เนื่องจากช่วงวัยนี้ มักชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องรูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ที่สังเกตได้ชัดเจน ดังนั้นหากพบคนที่ผิดแปลก หรือไม่เหมือนกับตัวเอง เด็กก็จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาบูลลี่กัน ไม่เว้นแม้แต่ข่าวสังคมของเด็กวัยรุ่น ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ถูกเพื่อนล้อเรื่องน้ำหนักตัว จากเดิมน้ำหนัก 49 กิโลกรัม ส่วนสูง 163 ซม. กระทั่งลดน้ำหนักภายในครึ่งปีเหลือเพียง 35 กิโลกรัม และทำให้ป่วยโรคเบื่ออาหาร เดินไม่ได้

รวมถึงทัศนคติของการที่เด็กให้ความสำคัญ กับสิ่งที่อยู่ภายนอก มากกว่าคุณความงามที่ดีภายในโดยที่วัยรุ่นนั้นไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะยุคโซเชียลในปัจจุบัน ที่บัญชีหรือแอคเค้าท์ของไอดอลคนดัง โชว์คอนเทนต์ เรื่องความผิวพรรณความสวยงาม และความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่เด็กสามารถรับชมเป็นประจำทุกวัน ในทุกช่องทางออนไลน์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ติดตาม อยากดูดีเหมือนคนที่ชื่นชอบ ทั้งรูปร่างหน้าตาเสื้อผ้า หรือแม้แต่ทรงผม ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เกี่ยวกับการถูกบูลลี่ให้เด็กไทย อย่างการสร้าง “อินเนอร์เซลฟ์” หรือการรู้สึกดีกับตัวเอง จากการเห็นความสำคัญ ของคุณค่าคุณความดี ที่ซ่อนอยู่ภายใน เพื่อรับมือกับการถูกล้อเลียน จึงเป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม

The Reporters ได้สอบถามไปยัง งามศิริ อาศิรเลิศสิริ นักจิตวิทยาเด็ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า “เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ตัวของเด็กคนเดียว แต่ทั้งสังคมต้องช่วยเหลือกัน อันดับแรกนั้นเริ่มจากค่านิยมของสังคม โดยการที่ผู้ปกครองควรปลูกฝังเรื่อง การไม่ให้คุณค่ากับสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ หรือน้ำหนักตัว เพราะอย่าลืมว่าแม้ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ทว่าเป็นหน่วยที่สามารถช่วยทำให้เด็ก เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ภายในตัวเองเองได้ หรือรู้คุณค่าภายในของตัวเอง เช่น การเป็นเด็กดี ในการช่วยคุณแม่หยิบของใช้ หรือ เป็นเด็กที่มีความพยายาม เป็นเด็กที่รู้จักเห็นใจผู้อื่น หรือเป็นเด็กที่ขยันเรียนฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้ว่าเขามีเพื่อน มีคุณครู ที่ทั้งใจดีและน่ารักแม้ว่ารูปกายภายนอกอาจจะดูธรรมดา แต่คนเหล่านี้มีความดีอยู่ภายในใจ ที่สำคัญควรปลูกฝังแนวคิดนี้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ”

นักจิตวิทยาเด็ก บอกอีกว่า การที่พ่อแม่ให้เด็กวาดรูปตัวเอง และถามว่าผู้ปกครองสวยหรือไม่ หรือดูดีหรือยัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการปลูกฝัง เรื่องการที่ทำให้เด็ก เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ภายนอกเท่านั้น แม้ว่าผู้ปกครองจะไม่ได้ตั้งใจ เพียงเพราะต้องการเล่นกับลูกเท่านั้น

พ่อแม่ช่วยลูกรับมือ การถูกเพื่อนบูลลี่เรื่องรูปหน้าตาได้ โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีในตัวเอง

งามศิริ ให้ข้อมูลว่า “สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่า เด็กมักจะมองว่าบ้านคือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเขา และสมมุติว่าลูกหลานของเราถูกเพื่อนล้อ เรื่องรูปร่างหน้าตา ดังนั้นสิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือ การถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น? และเด็กรู้สึกอย่างไร? และเมื่อเด็กบอกความรู้สึกตัวเองแล้ว เช่น เด็กรู้สึกโกธร เสียใจน้อยใจฯลฯ จากนั้นให้พ่อแม่พี่ป้าน้าอา บอกกับเด็กว่าเด็กมีความดีอย่างไร หรือให้ลูกหลานลองลิสต์ความดีของตัวเองออกมา เช่น เป็นเด็กดี หรือเด็กกตัญญู เป็นเด็กเรียนเก่ง เป็นเด็กที่เข้ากับเพื่อนได้ดี กระทั่งเป็นเด็กที่รู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเขารู้สึกว่าเขาภูมิใจ ในตัวเองเกี่ยวกับความดีนั้นๆ ได้ แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไรก็ตาม”

นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวเสริมว่า หากผู้ปกครองให้เด็ก บอกความดีของตัวเองแล้ว และลูกหลานพูดในทำนองว่าตัวเขาเอง ยังไม่เห็นมีอะไรดี ตรงนี้พ่อแม่สามารถ บอกกับลูกหลานได้เลยว่า “แม่เห็นความดีในตัวลูกน่ะ” เช่น เขาเป็นเด็กที่กตัญญูกับพ่อแม่ และชอบนวดให้เวลาที่แม่หรือพ่อเมื่อย หรือเขาเป็นเด็กที่เอาใจใส่พ่อแม่ โดยการที่หยิบยารักษาโรค ให้กินหลังรับประทานอาหาร เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าเมื่อเด็กไม่เห็น แต่ผู้ปกครองสามารถสะท้อนความดี ซึ่งถือเป็นคุณค่าภายใน ที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันเรื่องการถูกล้อเลียน จากการมองเห็นสิ่งดีๆที่อยู่ภายใน แม้รูปร่างภายนอกจะดูธรรมดา หรือ น่ารักในแบบของตัวเองก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับเพื่อน หรือเวลาที่ถูกเพื่อนล้อ เด็กก็จะไม่รู้สึกโกรธหรือน้อยใจ

ไลฟ์สไตล์โก้หรูดูดีของคนดังในโลกโซเชียล เป็นส่วนหนึ่งที่ปลูกฝัง การให้ความสำคัญความงามภายนอก ของเด็กวัยรุ่น

งามศิริ กล่าวว่า “ถามว่าเด็กผิดไหมสำหรับทัศนคติที่ว่า ผอมแล้วสวย ต้องบอกว่าเนื่องสิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยม หรือเป็นกระแสสังคม ที่เกิดขึ้นในโลกของเด็ก ดังนั้นเด็กจะพยายาม ทำให้คนที่มีความหลากหลาย หรือแตกต่างกับเอง รู้สึกว่า เธอไม่ใช่พวกฉันน่ะ และค่านิยมดังกล่าวของเด็ก ก็ไปลิงก์กับโซเชียล ที่เด็กเห็นภาพคนที่ชื่นชอบ เช่น เน็ตไอดอลที่ให้ความสำคัญ กับความสวยงามหรือรูปร่างหน้าตา และฐานะที่เพอร์เฟค ที่สำคัญสิ่งเหล่าผุดขึ้นมาให้เด็กเห็นทุกวันในโลกโซเชียล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กจะติด ค่านิยามผอมแล้วสวย หรือ ขาวแล้วสวย เป็นต้น”

“แต่สิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้เด็กมี อินเนอร์เซลฟ์ หรือการรู้สึกดีกับตัวเอง หรือการเห็นความสำคัญของคุณค่าสิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใน เพราะอย่าลืมว่าปัจจัยภัยนอกเหล่านี้ ไม่จะเป็นบ้านรถยนต์ความงามหรือผิวพรรณ ก็สามารถเหี่ยวย่น และหายไปได้ตามกาลเวลา พูดง่ายๆว่ามนุษย์ทุกคนนั้นไม่มีใครผิวตึง ไปถึงอายุ 80 ปีอย่างแน่นอน ”

นักจิตวิทยา บอกอีกว่า ในปัจจุบันกระแสของการบูลลี่นั้น ยังคงอยู่กับสังคมไทยอย่างแน่นอน เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัย ที่ชอบการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องรูปร่างหน้าตาที่สามารถเห็นได้ชัดเจนกว่าเรื่องอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กๆ จะมองเพื่อนรอบข้าง ที่เหมือนกับตัวเองว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน และมองเพื่อนที่แตกต่างกับตัวเอง เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงทำให้เกิดกระแสบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตาในสังคมไทยยังคงมีอยู่

ผู้ปกครอง-ครู ช่วยหยุดวงจรเด็กถูกเพื่อนล้อเลียน โดยการไม่มองการบูลลลี่ เป็นเรื่องเล่น พร้อมแนะเด็กแกล้งเพื่อน หาความสามารถสร้างตัวตนดีที่สุด

งามศิริ บอกอีกว่า การที่เด็กถูกบูลลี่หรือการล้อเลียนผู้อื่น เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา โดยเฉพาะการถูกดูถูก หรือผู้อื่นเหยียดหยาม ดังนั้นกลไกลสมองของมนุษย์ จะเอาตัวเองออกมาต่อสู้หรือโต้ตอบ รวมถึงการเลี่ยงที่จะพบเจอ หรืออยู่ให้ห่างเพื่อนกลุ่มนี้ แต่ทว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ครู จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเด็ก หากพบการขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการที่คุณครูในโรงเรียน จะต้องไม่มองว่าการที่เด็กล้อเลียนเพื่อนเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตานั้น เป็นเรื่องที่เด็กเล่นกัน เพราะอันที่จริงแล้วหากพูดว่าเด็กเล่นกัน เด็กจะมีความสุขทั้งสองฝ่าย แต่หากเด็กคนใดคนหนึ่งล้อหรือแกล้งเพื่อน แต่เด็กอีกคนหนึ่งไม่สนุก หรือไม่มีความสุข นั่นแปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “การแกล้ง” หรือ “บูลลี่” ซึ่งไม่ใช่การที่เด็กเล่นด้วยกัน ตรงนี้เมื่อคุณครูพบเห็น จำเป็นต้องให้ความช่วยเด็กทั้งสองฝ่าย โดยที่ต้องปราศจากการตำหนิเด็ก

“หากเป็นฝั่งของเด็กที่ถูกเพื่อนบูลลี่นั้น ก็สามารถสะท้อนให้เด็ก เห็นคุณค่าสิ่งดีๆ ในตัวเอง มากกว่ารูปร่างภายนอก ส่วนเด็กที่เป็นฝ่ายบูลลี่เพื่อน คุณครูสามารถพูดให้เด็กได้คิดว่า การที่ตัวเขารู้สึกสนุก แต่เพื่อนที่ถูกล้อนั้นรู้สึกอย่างไร และเขาเดือนร้อนอย่างไรบ้าง เพราะอย่าลืมว่าการที่เด็กไปล้อเลียนคนอื่น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ ผู้ล้อเลียนเองรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง จึงไปบูลลี่ผู้อื่น เพื่อลบสิ่งที่เด็กมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง นอกจากนี้คุณครูก็สามารถ พูดให้เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น หยุดบูลลี่เพื่อน เพราะอันที่จริงตัวเด็กที่ชอบล้อเลียนผู้อื่น ก็สามารถเป็นคนตัวใหญ่ หรือเป็นจุดสนใจได้ หากนำเรื่องความสามารถ ความดี ความรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มาให้คนที่รู้จักได้เห็นได้สัมผัสค่ะ”

มองการบูลลี่เป็นเครื่องเตือนใจ กระตุ้นเด็กวัยรุ่นหันออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ช่วยหุ่นดีร่างกายแข็งแรง

ด้าน พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. ให้ข้อมูลว่า “สิ่งที่ดีที่สุดในการรับมือกับการถูกเพื่อนบูลลี่เรื่องน้ำหนักตัวนั้น ไม่ใช่การโต้ตอบเพื่อนกลับ เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ขอให้เด็กวัยรุ่นมองว่ามันคือการที่เพื่อนเตือนเรา แม้ว่าจะแสดงออกในวิธี ที่หลากหลายออกไป ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเสียใจ แต่ให้มองเป็นเครื่องเตือนใจ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ ด้วยการรักษารูปร่างที่สมส่วนด้วยตัวเอง”

คณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. กล่าวเสริมว่า ความหมายของคำว่ารูปร่างสมส่วน ต้องไม่อ้วนจนเกินไป เพราะการที่มีน้ำหนักตัวเยอะ นำมาซึ่งไขมันลงพุง และทำให้มีรอบเอวขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนแ ละโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆอีกมาก ดังนั้นหากเพื่อทักว่าเรามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องหันมาควบคุมน้ำหนัก ด้วยออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และควบคุมอาหารหวานมันเค็มหรือกินแต่พอดี แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้เด็กวัยรุ่นอดอาหารแต่อย่างใด เพราะหากน้ำหนักลดลงจากการอดอาหาร แต่เด็กไม่ได้ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อของเราก็จะฝ่อได้เช่นกัน และทำให้มีแรงทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกาย

นอกจากการสร้างความภูมิใจในตัวเอง โดยการชี้ให้เห็นข้อดีที่มีอยู่ภายใน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การถูกบูลลี่แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่ผู้ใหญ่ไม่มองว่า เด็กล้อเลียนกันเป็นเรื่องที่ปกติ หรือทำไปเพราะเล่นสนุกเท่านั้น แต่ทว่ายังต้องคอยให้ความรู้ กับเด็กที่แกล้งผู้อื่น เพื่อให้ฝ่ายกระทำรู้ว่า คนที่ถูกล้อเลียนนั้น รู้สึกอย่างไรหากคิดกลับกันว่าเป็นตัวเอง …นั่นคือการร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อรับมือการถูกบูลลี่ ของเด็กยุคสังคมโซเชียล…จริงไหมคะ

Related Posts

Send this to a friend