POLITICS

‘กมธ.การกฎหมาย’ เชิญ สื่อ – ผู้ชุมนุม – จนท.ตำรวจ ประชุมเหตุสลายชุมนุม 18 พ.ย.

แกนนำยืนยัน แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย พร้อมเปิดหลักฐานสื่อโดนทำร้าย จนท.ตร. เผยขอคำสั่งศาลสลายชุมนุมแล้ว แต่ติดวันหยุดราชการจึงไม่ได้รับเรื่อง พร้อมให้ชื่อ 3 ผู้เกี่ยวข้อง แนะ กมธ.เชิญชี้แจงนัดต่อไป

วันนี้ (30 พ.ย. 65) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมี ศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาศึกษาเรื่อง มาตรการทางกฎหมายและหลักปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมตามหลักสากล กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย. 2565

คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล ภาค 1 พ.ต.อ.ธนายุทธ ภูมิงาม ผู้กำกับการสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล เป็นตัวแทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้ชี้แจง

ขณะที่ฝ่ายผู้เสียหาย ได้แก่ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, นายสมบูรณ์ กำแหง ประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), นายพายุ บุญโสภณ หรือ ‘พายุ ดาวดิน’ รวมถึงตัวแทนสื่อมวลชนผู้บันทึกเหตุการณ์และได้รับผลกระทบจากเหตุสลายการชุมนุม ได้แก่ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าว The Matter และ ชาลินี ถิระศุภะ ผู้สื่อข่าว Reuters รวมถึงตัวแทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ฝั่งผู้เสียหาย ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และได้แจ้งการชุมนุมแล้วกับ สน. ในทุกพื้นที่ซึ่งมวลชน ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ จะเคลื่อนขบวนผ่าน พร้อมทั้งได้แจ้งแล้วว่าจะมีการทำกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านอาหารศรแดง ไปแล้วด้วย อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี เพื่อแสดงความเห็นต่อรัฐบาลเท่านั้น

สำหรับการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) นั้น ต้องมีการขอคำสั่งสลายการชุมนุมจากศาลแพ่ง และต้องมีการปิดคำสั่งศาลพร้อมประกาศให้ผู้ชุมนุมรับทราบ หากผู้ชุมนุมยังไม่สลายตัว จึงประกาศให้เป็นพื้นที่ชุมนุม จากนั้นจึงจะสามารถเข้าจับกุมตามมาตรา 23 และ 24 ได้ และจากหลักฐานที่ปรากฏตามสื่อ การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ได้สอดคล้องต่อหลักการชุมนุม และกฏบัตรสหประชาชาติ

นายพงศ์พิพัฒน์ ได้รวบรวมคลิปหลักฐานที่สื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากมาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 8 คลิป ทั้งผู้สื่อข่าว The Matter ที่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีและเตะจนล้ม แม้จะแสดงตนเป็นสื่อมวลชนแล้ว รวมถึงช่างภาพ Reuters ที่ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาขาว เพราะเศษแก้วจากขวดที่ถูกโยนมาจากฝั่งตำรวจกระเด็นใส่ดวงตา

พร้อมกันนี้ นายพงศ์พิพัฒน์ ยังได้ขออำนาจผ่านคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเรียกข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ว่าจากที่มีการเปิดเผยว่า บช.น. ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการสลายการชุมนุม ว่ามีสมาชิกเป็นใคร มีขอบเขตของอำนาจและกระบวนการสืบความอย่างไร

ด้านทนายความจากภาคีนักกฎหมายฯ ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ผิดตั้งแต่ปิดทางไม่ให้ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะตามกฎหมายไม่ใช่พื้นที่ดังกล่าวไม่ถือเป็นพื้นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด การชุมนุมก็ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขั้นตอนการสลายไม่มีการขอคำสั่งศาลใด ๆ ทั้งสิ้น

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่า การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 นี้ ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 16-17 พ.ย.แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเต็มที่ในการเจรจา ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เพราะเคารพในสิทธิของประชาชน เพื่อให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ แต่ช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ย. เจ้าหน้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต้องดูแลเส้นทาง เนื่องจากช่วงสาย จะมีแขกวีไอพีต่างชาติ และเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ จึงมีการประกาศเจรจาให้กลับเข้าไปในลานคนเมือง

จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องนำรถตำรวจมาจอดขวางไว้ ซึ่งความจริงๆไม่ต้องก็ได้ เพียงขีดเส้นชอล์กไว้ก็ได้ ให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เผชิญหน้าและตีกันเลย พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และได้ร้องขอต่อศาลแพ่งแล้ว

ด้านการคุ้มครองสิทธิสื่อมวลชนซึ่งมีคำสั่งคุ้มครองของศาลแพ่ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเลย ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ก็มีพัฒนาการ แต่เหตุการณ์ในคลิปที่ทำร้ายสื่อมวลชน ตนก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ต้องลงไปถามข้อเท็จจริง ว่าเจ้าหน้าที่หน้างานมีความวิตกหรือคิดไปเองหรือไม่ เพราะทำงานด้วยความกดดัน มีความจำเป็นแค่ไหนอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ เป็นหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบความจริง

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ในโลกความเป็นจริงไม่มีใครบริสุทธิ์ 100% และการชุมนุมคือเรียกร้องให้แก้ปัญหา ต้องมีการแสดงความโกรธ เป็นเรื่องธรรมดาของทั่วโลก ผู้ชุมนุมบางคนก็ทำผิด ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ก็อาจมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำถามคือต้องทำอย่างไรให้กฎหมายเสมอหน้าเท่าเทียมกัน ซึ่งกังวลว่าจะมีแต่ผู้ชุมนุมโดนฝ่ายเดียว ขณะเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ดำเนินคดีอะไรเลย ด้านหนึ่งอาจมีความขัดแย้งกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ แต่อีกด้านท่านก็มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน

นายรังสิมันต์ ตั้งคำถามต่อว่า ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าทำคำร้องค่อศาลแพ่งแล้ว ศาลได้มีคำสั่งสลายการชุมนุมหรือยัง

ด้านเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า มาตรการในวันที่ 18 พ.ย. ไม่ใช่การสลายการชุมนุม เพราะหลังจากเหตุการณ์ก็ยังมีการชุมนุมต่อไปที่บริเวณลานคนเมือง ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งนั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างวันหยุดราชการ และยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ศาลแพ่งจึงยังไม่รับคำร้องขอสลายการชุมนุมไว้พิจารณา เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการจับกุมกว่า 23 คน เพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณากรณีดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จำเป็นต้องฟังความรอบด้าน ขณะนี้ยังไม่ได้ยินคำชี้แจงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชา หรือวางนโยบาย แต่ส่งตัวแทนมา คณะกรรมาธิการฯ จึงอาจทำงานได้ไม่เป็นกลาง มองว่าควรได้คุยกับผู้อยู่หน้างาน

จากนั้น ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงได้เสนอรายชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวมาอย่างเฉพาะเจาะจง โดยมี 3 รายชื่อ ได้แก่ พ.ต.อ.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1, พ.ต.อ.ธนันท์ธร รัตนสิทธิภาคย์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 และ พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์

ก่อนที่ประธานฯ จะสั่งปิดประชุม คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงความเห็นว่าในการประชุมนัดต่อไปในสัปดาห์หน้า จะต้องเชิญเจ้าหน้าที่ซึ่งมีรายชื่อดังกล่าวมาให้ถ้อยคำ เพื่อพิจารณากรณีนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

Related Posts

Send this to a friend