POLITICS

นายกฯ มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง นักลงทุนไทยและต่างชาติเชื่อมั่น

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง นักลงทุนไทยและต่างชาติเชื่อมั่น ขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนปี 65 แล้ว 1,247 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มั่นใจว่าแนวนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย กำลังดำเนินไปตามแผนและอย่างเป็นระบบ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ถึงแม้ราคาพลังงานและเชืื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนสูง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเป็นที่เฝ้าระวัง ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นในแนวทางเดียวกันทั่วโลก

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 ซึ่งมีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วมูลค่ารวมกว่า 4.4 แสนล้านบาท

นายอนุชาฯ กล่าวถึงสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 ว่า มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8 และมูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เนื่องจากปีที่แล้วมีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นขอรับการส่งเสริมหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยหากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุด จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17 และมูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีน มีเงินลงทุนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนจากจีนและไต้หวัน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าการลงทุนใน 2 สาขานี้ จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 376 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,655 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56 ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 234 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 และมีเงินลงทุน 15,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย รองลงมาคือ การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนหรือการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดคาร์บอนของโลก

“นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ ถึงการให้พิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ควบคู่สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนไทยได้พิจารณาตัดสินใจในการขยายธุรกิจ อีกทั้ง เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม Startup SMEs และวิสาหกิจชุมชนของไทย ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend