POLITICS

‘กัณวีร์’ ผิดหวังงบ 67 ไม่มืออาชีพ แค่คัดลอก-วางจากรัฐบาลประยุทธ์

‘กัณวีร์’ ผิดหวังงบ 67 พรรคเพื่อไทยไม่มืออาชีพ แค่คัดลอก-วางจากรัฐบาลประยุทธ์ ยกงบความมั่นคงเพิ่มขึ้นสูง เหมือนงบฝากเลี้ยง เปลี่ยนกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นเซลล์แมน ผิดหน้าที่ มองไม่เน้นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในไม่มีทางได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

วันนี้ (4 ม.ค. 67) นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยระบุว่าผิดหวังกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บนเหตุผลว่าการจัดทำงบประมาณแผ่นดินใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ ที่เสมือนการคัดลอกมาวาง และคล้ายกับการฝากเลี้ยง ที่ฝากส่งต่อมาจากรัฐบาลชุดก่อนเท่านั้นเอง

นายกัณวีร์ กล่าวว่าสำหรับยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง เมื่อเทียบตัวเลขล่าสุด ระหว่างปีงบประมาณ 2566 กับตัวเลขในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะพบว่ามีการกำหนดงบประมาณในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 97,555 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2 และยังคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันร้อยละ 0.5

“บ่งชี้ชัดว่า รัฐบาลชุดนี้ให้น้ำหนักที่จะใช้จ่ายงบในกิจการด้านความมั่นคงมากกว่าปีงบประมาณสุดท้ายของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ข้อสังเกตแรกจึงอยู่ตรงที่ว่างบความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นนั้น จะใช้ไปกับอะไร โดยพบว่า
มีแผนงาน 13 แผน แต่ด้วยวงเงินงบประมาณรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากงบด้านความมั่นคงในปีงบประมาณก่อนหน้า ก็น่าตกใจว่าจะทำอะไรที่เกิดมรรคผลหรือไม่ และรวมแล้ว 7 ปีที่ผ่านมา ใช้งบ 2.1 ล้านล้านบาท มันช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ “

นายกัณวีร์ ยกตัวอย่างปัญหายาเสพติด ที่กำหนดงบแผนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไข 4,914.51 ล้านบาท แต่ปัญหายาเสพติดยังสูง แสดงว่า มันถูกทางแล้วจริงหรือไม่ รวมถึงงบจัดการภัยพิบัติ วงเงิน 89,579.50 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วตกปีงบประมาณละเกือบ 1.5 หมื่น ล้านบาท เป็นงบสูงแต่ไม่เห็นประสิทธิภาพ อย่างที่เกิดผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 77 ปี

“ถ้ามีงบประมาณมากขนาดนี้ จะเป็นหลักประทันให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ว่าปี 67 ถ้ามีน้ำท่วมพวกเขาจะเตรียมตัวรับมือได้ และไม่เสียหายมากขนาดนี้”

นายกัณวีร์ ยังอภิราย งบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ 5,063,050,800 บาท ซึ่งเพิ่มจากงบประมาณในปี 2566 ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่าเพิ่มขึ้นเพราะรัฐบาลเน้นเพิ่มการค้าการลงทุน อย่างที่นายนพดล ปัทมะ สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การที่นายกรัฐมนตรี เป็นเซลล์แมน เป็นเรื่องดี แต่การให้บทบาทกระทรวงการต่างประเทศ ไปทำงานนี้ ทั้งๆที่ควรจะเป็นงานกระทรวงพาณิชย์ ใช่หรือไม่ และกระทรวงการต่างประเทศควรเป็น “หน่วยงานในการสนับสนุน” ผ่านช่องทางความสัมพันธ์ทางการทูตที่ท่านมีอยู่ มิใช่ใช้กระทรวงการต่างประเทศไปทำงานคู่ขนานกันไปเสียเอง ตนจึงตกใจที่ทาง กต. เริ่มต้นใส่พันธกิจหลักของกระทรวงตรงที่ “ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถของไทยและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

“นี่แหละครับที่เป็นสิ่งที่เรียกว่ากลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาด จึงนำมาซึ่งการใส่ผลสัมฤทธิ์ที่ผิดจุด จึงทำให้การเสนองบประมาณเกินความจำเป็นต่อพันธกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศในท้ายที่สุด แล้วจะมีทูตพาณิชย์ ทูตแรงงาน ไว้ทำอะไรครับ’

นายกัณวีร์ เห็นว่าจะตอบโจทย์มากกว่าถ้าไทยต้องแสดงความเป็นผู้นำในการชูประเด็นต่างๆ ที่เป็นวาระที่สำคัญในประชาคมโลกที่เค้าให้ความสนใจอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน อาทิ การต่อต้านขบวนการนำพาและการค้ามนุษย์ การบริหารจัดการสถานการณ์แรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ และเรื่องผู้ลี้ภัย แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ และพบถูกซ่อนอยู่แต่งบไม่กี่แสนบาท
นายกัณวีร์ กล่าวว่า เห็นถึงความพยายามของท่านในการผลักดันให้ไทยเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกผ่านสิ่งที่ตนเรียกว่า Soft Approach คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ผ่านโครงการยกระดับบทบาทและสถานะของไทยในประชาคมโลก โดยการสร้างโครงการรณรงค์สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วยวงเงินงบประมาณ 5.6 กว่าล้านบาท แต่ขอถามตรง ๆ ว่าเราจะได้เป็นหรือ

“ใครจะเลือกเราครับ เพราะสิทธิมนุษยชนในไทยยังไม่เน้นเลย เรายังมีปัญหาผู้ลี้ภัยพม่า 9 แห่งที่ชายแดนไทยอยู่มากว่า 10 มี มีชาวโรฮิงญา ชาวอุยกูร์ ที่ถูกขังในห้องกักกว่า 10 ปี เรายังไม่แก้ปัญหาเลย ต่อให้ใส่เงินไปเป็น 100 เป็น 1,000 ล้าน ก็ไม่ได้รับเลือกหรอกครับ และที่นั่นซื้อเสียงไม่ได้นะครับ”

นายกัณวีร์ยังกล่าวถึงงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างความเสมอภาคที่แท้จริง เช่นการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ต้องถูกกลไกการส่งต่อและคัดกรองแห่งชาติ หรือ National Referral Machanism/NRM อย่างกรณีจากเมืองเล้าก์ก่าย สะท้อนการวางแผนงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ

นายกัณวีร์ กล่าวสรุปว่า แม้รัฐบาลนี้จะไม่ได้มาจากเจตนารมณ์โดยตรงของประชาชน ภายหลังการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ที่แสดงความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่ามีประสปการณ์จากพรรคไทยรักไทยในอดีต เน้นปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรี ที่มาจากภาคธุรกิจ ก็อาจทำให้ประชาชนคาดหวังได้เช่นเดียวกันว่า หน้าตาของร่างประราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะมีหน้าตาต่างไปจากรัฐบาลก่อนหน้านี้บ้าง

“แต่เวลา 3 เดือนที่เข้ามาบริหารประเทศ อาจจะมากพอที่จะให้รัฐบาลนี้แก้ไข สาระสำคัญของ ร่างงบประมาณ ปี 2567 อย่างน้อยให้ต่างจากปี 2566 แต่กลับพบว่า มันเหมือนงบ Copy-Paste ที่คัดลอกมาวาง แล้วแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงตัวเลขให้มากขึ้น-น้อยลง เท่านั้นเข้าใจดีว่าหน่วยงานในการจัดทำงบประมาณ คือ สำนักงบประมาณ ที่ต้องจัดทำแบบนี้ทุกปี แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจได้มาด้วยวิธีใด ผมไม่ขอก้าวล่วง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทย บอกว่า คิดเป็น ทำเป็น แต่ท่านสามารถคิด ได้คิด และ ทำงบประมาณ ปี 2567 ให้สมกับเป็นที่คาดหวังของประชาชน ให้มีหลักคิดเป็นของตัวเอง ไม่ให้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ได้หรือไม่”

นายกัณวีร์ ระบุว่า เมื่อดูสาระสำคัญของงบประมาณ ปี 2567 แล้ว คิดว่ากำลังอ่านงบประมาณรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเข้าใจดีว่า ประชาชนคาดหวัง ถ้อยคำใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาต่างๆเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการ แต่ประชาชนอาจคาดหวังมากเกินไป ว่าจะเห็นถ้อยคำใดๆที่มาจากรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่เดินตามรัฐบาลเก่า

“แม้แต่ถ้อยคำที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทำให้อดคิดถึงรัฐบาลเก่าไม่ได้จริงๆ จึงรู้สึกผิดหวังกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลนี้ นอกจากจะ Copy-Paste แล้ว มันอาจจะเป็นแค่ งบฝากเลี้ยง ที่ฝากส่งต่อมาจากรัฐบาลชุดก่อนเท่านั้นเองใช่หรือไม่ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี พ.ศ. 2567 ได้” นายกัณวีร์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend