POLITICS

‘จุลพันธ์’ ขออย่าด้อยค่าซอฟต์พาวเวอร์ว่าเป็นเพียงอีเวนต์

‘จุลพันธ์’ ขออย่าด้อยค่าซอฟต์พาวเวอร์ว่าเป็นเพียงอีเวนต์ เพราะเป็นความฝัน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จใน 4 ปี

วันนี้ (4 ม.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำนิยามซอฟต์พาวเวอร์ และเป็นห่วงการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านกลไกของรัฐ

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติโดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เราเดินหน้าเรื่องนี้มาได้ 2 เดือนกว่า ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่อยู่ในธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างดี เรื่องคำนิยามก็มีความแตกต่างออกไปแล้วแต่ประเทศ แต่ละบุคคลก็เข้าใจต่างกัน เป้าหมายหลักของรัฐบาลไม่ใช่คำนิยาม แต่เป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยและต่อยอดอนาคต

วันนี้ภาระหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ซึ่งกดทับประชาชนจนไม่มีหนทางในหาการหารายได้ใหม่ ไม่สำคัญว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นหมูกระทะ วัวชน หรือสงกรานต์ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนและประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการคิดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ระบุว่าเราคิดหลายชื่อ อาทิ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์, 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ และ 1 ครอบครัว 1 รายได้ใหม่ เพื่อให้ ครอบคลุม ขณะที่ Global Soft Power Index นั้นถือเป็นผลพลอยได้ หากรัฐบาลเดินหน้านโยบายได้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะไต่ลำดับได้แน่นอน ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลัก ไม่ว่าประเทศไทยจะได้อันดับ 1 อันดับ 10 หรืออันดับ 100 เพราะการสร้างรายได้ใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญกว่า

โดยนโยบายซอฟต์พาวเวอร์นี้ถูกบรรจุอยู่ในเล่มงบประมาณเกือบหมื่นล้านบาท กระจายอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนที่มีการอภิปรายว่างบประมาณซอฟต์พาวเวอร์เป็นการจัดอีเวนต์นั้น เราไม่อยากให้ด้อยค่า สิ่งที่เรียกว่า “อีเวนต์” เราจัดกิจกรรมจริงในหลายจุดแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มีการอบรมพัฒนาศักยภาพ Re Skill และ UP Skill ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วย

ทั้งนี้ในปัจจุบันทั่วโลกแย่งกันทำ Festival Economy พยายามหาจุดแข็ง และอัตลักษณ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเราหยิบยกเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับคนไทยทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามโครงสร้างของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และงบประมาณที่จัดสรร ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นโครงการที่ได้รับข้อเสนอแนะโดยตรงมาจากภาคเอกชน เป็นมิติใหม่ของการใช้เงินงบประมาณให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน และพี่น้องชุมชนในแต่ละท้องที่

“ผมขอเรียนว่ามันเป็นทั้งความฝัน ความเชื่อ เป็นเป้าหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะเดินหน้า 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เป้าหมายที่เคยวางไว้ 20 ล้านครัวเรือน 200,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือนยังเป็นเป้าหมายที่จะเดินไปให้ถึงใน 4 ปีข้างหน้า”

นายจุลพันธ์ ทิ้งท้ายว่าหลายท่านเป็นห่วงเพราะเป้าหมายสูง แต่เราเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย เชื่อว่าเราสามารถสร้างเม็ดเม็ดเงินใหม่ ๆ เพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนตามที่คาดหวัง ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน กลไกของพี่น้องประชาชนที่เข้ามาร่วมมือ

Related Posts

Send this to a friend