POLITICS

กรมการค้าภายใน เตรียม 18 มาตรการ ดันราคามังคุดช่วยเกษตรกร

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกรณีราคามังคุดปรับตัวลดลง ว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์การผลิตมาต่อเนื่อง ทั้งในแหล่งผลิต และตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก โดยปัจจุบัน เป็นช่วงฤดูการผลิตผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศออกสู่ตลาด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ โดยเฉพาะผลไม้ของภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง และตราด) ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา แต่ปริมาณยังไม่มากนัก จะออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิต สำหรับผลผลิตมังคุดทั้งประเทศ

สำหรับปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ คาดว่ามีปริมาณรวม 373,378 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 เนื่องจากปีที่ผ่านมาผลผลิตได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวนและคุณภาพไม่ดี ทำให้มังคุดได้พักต้น ต้นมังคุดมีความสมบูรณ์จึงให้ผลผลิตในปีนี้มากขึ้น แต่จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมังคุดในภาคใต้ที่ประสบปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย คาดว่าผลผลิตในภาพรวมปีนี้มีแนวโน้มจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

จากปริมาณมังคุดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้ มีมากขึ้น ประกอบกับการใช้มาตรการ ZERO COVID ของจีน ทำให้จีนปิดด่านโม่ฮานชั่วคราวในวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เพื่อทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อฯ ส่งผลให้มีสินค้าส่งออกตกค้างที่หน้าด่านเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ส่งออกไทย/ล้ง หยุดรับซื้อชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดพื้นที่และคัดกรองสุขภาพของแรงงานที่จะปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุ 1-2 วัน ซึ่งตรงกับช่วงที่ราคามังคุดอ่อนตัวลง ล่าสุด ผู้ส่งออก/ล้ง ได้เปิดรับซื้อตามปกติแล้ว มีผลทำให้ราคามังคุดผิวมันรวม (เกรดส่งออก) ที่เกษตรกรขายได้ ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (2-8 พ.ค.65) ที่มีราคาเฉลี่ย กก.ละ 50 – 55 บาท เป็นเฉลี่ย กก.ละ 60 – 70 บาท สำหรับราคาประมูล เฉลี่ย กก.ละ 80-85 บาท ส่วนราคามังคุดคละ (กาก) ปรับตัวสูงจาก กก. 30 – 35 บาท เป็น กก.ละ 40-45 บาท

สำหรับกรณีการเทียบเคียงราคามังคุดตามที่ปรากฎเป็นข่าว ที่เทียบเคียงราคาขายในตลาดปลายทางประเทศจีนกับราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดียวกันนั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในกระบวนการรับซื้อผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังตลาดปลายทาง เนื่องจากการส่งออกต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งจากไทยไปจีนหลายวัน เช่น การขนส่งทางบก ใช้เวลา 7 – 10 วัน หากจะเทียบเคียงความเหมาะสมของราคาส่งออกกับราคาเกษตรกรขายได้ ต้องพิจารณาจากราคาปัจจุบันในจีน เทียบกับราคาที่เกษตรกรขายได้หน้าสวนนับย้อนหลังอย่างน้อยประมาณ 12 – 14 วัน (วันที่รับซื้อรวมเวลาคัดแยก/บรรจุ และระยะเวลาขนส่ง)

เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์นี้แล้วจะพบว่า ราคามังคุดตามข่าวในประเทศจีนที่มีราคาสูงมากถึงกก.ละ 167 – 240 บาท จะสอดคล้องกับราคามังคุดที่เกษตรกรขายได้ (ย้อยหลัง 12 – 14 วัน) ที่ราคา กก.ละ 140 – 160 บาท

กรมการค้าภายในและภาคีเครือข่าย ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ฤดูการผลิตปี 2565 ซึ่งรวมถึงมังคุด ไว้รองรับเป็นการล่วงหน้ากว่า 18 มาตรการ และได้นำมาตรการลงสู่การปฏิบัติแล้ว มีผลการดำเนินการในส่วนของสินค้ามังคุดที่สำคัญ ดังนี้ จับคู่เจรจาซื้อขายล่วงหน้า (อมก๋อยโมเดล) รวม 4,700 ตัน , สนับสนุนค่าบริหารจัดการในการเชื่อมโยงกระจายออกนอกแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท ปริมาณ 7,800 ตัน , เปิดพื้นที่ขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ณ ห้างท้องถิ่น ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ปั้มน้ำมัน รวม 1,000 ตัน , จัดสรรกล่องไปรษณีย์ ขนาด 10 กก. ไปยังไปรษณีย์สาขาทั่วประเทศ รวม 300,000 กล่อง , กรณีผลผลิตกระจุกตัว ได้จัดเตรียมรถเร่ Mobile เข้าไปเร่งรับซื้อผลผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคนอกพื้นที่โดยตรง , เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อเร่งรับซื้อผลิตได้มากขึ้น โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการ กก.ละ 4 บาท , ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรวบรวมรับซื้อผลไม้ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

Related Posts

Send this to a friend