PEOPLE

เปิดใจกงสุลใหญ่หญิงไทยคนแรกในอ่าวอาหรับ กับภารกิจกู้ภาพลักษณ์นวดไทย

ช่วยชีวิตเหยื่อค้าประเวณี บ้างถูกกักขังจนบาดเจ็บ-เสียสุขภาพจิต ไปจนถึงเนรเทศจาก ‘ดูไบ’ เมืองที่คนไทยตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในตะวันออกกลาง

นางสาวนิภา นิรันดร์นุต กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับขบวนการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และบังคับหญิงไทยค้าประเวณี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ มีหน้าที่หลักในการดูแลและคุ้มครองคนไทยในเมืองดูไบ และรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ รัฐชาร์จาห์ รัฐอัจมาน รัฐราส อัลไคมาห์ รัฐฟูไจราห์ และรัฐอุม อัลเควน โดยรวมคาดว่า มีคนไทยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างถูกกฎหมายประมาณ 5,000 – 5,500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแรงงาน พนักงานบริษัท ลูกเรือ พนักงานร้านนวดสปา เชฟ พนักงานร้านอาหารไทย และนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม มีคนไทยที่เดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยวแล้วลักลอบทำงานอีกจำนวนมาก ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี คาดว่ามีจำนวนประมาณ 7,000 คน ส่วนทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รายงานข้อมูลล่าสุดว่า มีจำนวนถึง 10,000 คน

ในปี 2566 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ให้ความช่วยเหลือคนไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทั้งสิ้น 3,943 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 4,459 คนตลอดทั้งปี จำแนกกลุ่มตามความช่วยเหลือในปีนี้ ได้แก่

  • คนไทยตกทุกข์ได้ยาก 608 คน
  • คนไทยถูกจับกุม 376 คน (เฉพาะรับแจ้งจากตำรวจดูไบ)
  • แรงงานไทย 17 คน
  • การให้คำปรึกษาช่องทางต่าง ๆ เช่น สายด่วน โทรศัพท์ เฟศบุ๊ก อีเมล และไลน์ รวม 2,865 คน

ทั้งนี้ ช่วงปี 2561 – 2565 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือการบังคับใช้แรงงาน ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว จำนวน 197 คน นับเป็นประเทศที่มีชาวไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลักษณะการลักลอบทำงานผิดกฎหมายของคนไทยในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะที่นำไปสู่การบังคับค้าประเวณี ไม่ว่าในรูปแบบแอบแฝง หรือค้าประเวณีโดยตรง มักพบในกลุ่มร้านนวดสปา และร้านอาหาร

นางสาวนิภา เล่าว่า บุคคลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับการชักชวนผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต่อก หรือแม้แต่นายหน้า และคนรู้จัก ให้เดินทางมาทำงานที่มีค่าตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าเยี่ยมเยือนอย่างผิดกฎหมาย แต่เมื่อเดินทางมาถึงกลับถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้เป็นประกันค่าแทร็ก หรือค่าใช้จ่ายที่นายจ้างสำรองจ่ายให้ก่อน อาทิ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าธรรมเนียมวีซ่า มูลค่ารวมตั้งแต่ 40,000 – 50,000 บาท ก่อนเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณถึง 80,000 บาทก็มี แล้วใช้ภาระหนี้สินนี้มาบังคับ

อย่างไรก็ตาม หญิงไทยหลายคนเมื่อเริ่มทำงานไปสักระยะแล้ว พบว่าสภาพการทำงานและค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือตามที่ตกลงไว้ หลายครั้งจึงพบหญิงไทยลากกระเป๋า มาขอนอนพักค้างแรมในสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ หรือแม้แต่บางครั้ง สถานกงสุลใหญ่เอง ก็ต้องประสานกับตำรวจดูไบ เพื่อให้ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจค้นเคหสถาน จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และเข้าช่วยเหลือเหยื่อ โดยไม่ให้นายจ้างรู้ล่วงหน้า

“กงสุลใหญ่หลบเข้าไปตอนตี 5 เพราะกลัวว่าเขาจะย้ายน้อง บางคนอยู่ในสภาพเละ ร้องไห้ มดลูกอักเสบ”

นางสาวนิภา เปิดเผยถึงการถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจของเหยื่อว่า ความทรมานที่เกิดขึ้นทำให้บางคนถึงกับกรีดข้อมือตัวเอง หรือแม้แต่ป่วยจนรักษาไม่ได้ และเสียชีวิตด้วยวัณโรคในเวลาต่อมา หากไม่เสียชีวิต หลายคนก็มีกรณีมีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง โดยขณะนี้มี 3 รายอยู่โรงพยาบาลจิตเวช

มากไปกว่านั้น มีเหยื่ออีก 8 ราย เป็นหญิงที่มีลูกไม่มีพ่อ ทำให้รัฐบาลทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และไทย ไม่สามารถออกสูติบัตรได้ ลูกจึงกลายเป็นบุคคลไม่มีเอกสาร ต้องขอเอกสารจากศาล ซึ่งใช้เวลายาวนานมาก ลูกบางคนโตแล้วยังไม่ได้กลับประเทศไทยก็มี และหากโชคร้ายมีหนี้สินติดพัน ลูกก็จะติดคุกไปกับแม่ด้วยเช่นกัน

“บางคนไม่อยากค้าประเวณี แต่ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกยึดหนังสือเดินทาง หลายครั้งถูกกักเข้าไปข้างใน หนีไม่ได้ ต้องสั่งอาหารอย่างเดียว จนกลายเป็นธุรกิจต่อเนื่อง คือ ธุรกิจทำอาหารส่งเล้าต่าง ๆ และธุรกิจต่อวีซ่าด้วย หลายคนทนอยู่ได้ แต่บางคนถูกหลอกมาและทนอยู่ไม่ได้” กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ กล่าว

นางสาวนิภา ยังกล่าวต่อไปว่า บางส่วนหากหลบหนีมาถึงสถานกงสุลใหญ่ได้แล้ว ก็จะแจ้งหนังสือเดินทางสูญหาย และสถานกงสุลใหญ่จะพิจารณาออกเอกสารเดินทางฉุกเฉินกลับประเทศไทยให้ หรือบางส่วนหากเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานโดยสถานประกอบการไปแล้ว ก็จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการออก (Exit Pass) เพื่อยกเลิกวีซ่าทำงานก่อนเดินทางกลับด้วย แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าเป็นผู้กระทำความผิด ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี โดยเฉพาะในข้อหาทำงานขณะถือวีซ่าท่องเที่ยวอย่างผิดกฎหมาย และอาจถูกเนรเทศกลับประเทศไทยได้

“สารพัดรูปแบบ ไม่มีเงินติดตัวเพราะเขาไม่มีเงินเดือน ต้องทำงานจ่ายสัญญา มันคือการค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด หลายคนออกมาไม่มีแม้กระทั่งค่าแท็กซี่ ต้องขอค่าแท็กซี่กับสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่”

สำหรับกลไกความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ระหว่างไทยและสหรัฐเอมิเรตส์ เพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์นั้น นางสาวนิภา เปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศมีกลไกการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาล โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งไทยเสนอให้มีการบูรณาการความร่วมมือ และยกระดับความร่วมมือด้านแรงงานถูกกฎหมายด้วย

กลไกที่น่าสนใจคือ เครือข่ายคนไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งนางสาวนิภา เปิดเผยว่า มีการรวมกลุ่มกันโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้อย่างครอบคลุมและเป็นระบบ ซึ่งกลุ่มนี้เห็นพ้องในแนวทางจัดตั้งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อรองรับการบริจาคและให้ความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ตลอดจนกระชับการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดำเนินการได้สอดคล้องตามจุดมุ่งหมายเดียวกันต่อไป

นอกจากนี้ นางสาวนิภา ในฐานะกงสุลใหญ่หญิงคนแรก ที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่งไปประจำในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) เปิดเผยว่า มีความคิดริเริ่มที่จะจัดทำโครงการกู้ภาพลักษณ์ของนวดขาว โดยการประสานกับกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ และกรมแพทย์แผนไทยและโบราณ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนวดแผนไทย ลงทะเบียนหมอนวดตัวจริงเข้ามาในระบบ เพื่อจัดการฝึกอบรม และมอบสติกเกอร์รับรองนวดขาวให้

“ภาพลักษณ์นวดไทย หรือ Thai Massage กลายเป็นเรื่องอย่างว่าไปแล้ว นวดไทยในต่างประเทศต้องใช้คำว่า Thai Therapy แทน ซึ่งไม่ได้ เพราะนวดไทยเป็นมรดกโลก ต้องดึงคนนวดเทาออกมา ทำให้นวดขาวมีรายได้ และทำนวดดำให้กระเจิงไปเลย เราก็ต้องสู้ด้วยสีขาวไปเรื่อย ๆ” กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ กล่าว

สุดท้าย นางสาวนิภา ยังประชาสัมพันธ์สายด่วนของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ สำหรับกรณีคุ้มครองหรือช่วยเหลือคนไทย คือ (+971) 506525945 และเพจเฟซบุ๊กของสถานกงสุลใหญ่ด้วย ตลอดจนแนะนำช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากตำรวจดูไบ ทั้งกรณีถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกบังคับค้าประเวณี ถูกทำร้ายร่างกาย ผ่านแอปพลิเคชัน และเพจเฟซบุ๊ก Dubai Police หรือผ่านหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 999 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องมีซิมการ์ด ตำรวจสามารถเข้าช่วยเหลือจากการสืบทราบพิกัดทางสัญญาณโทรศัพท์ได้

Related Posts

Send this to a friend