PEOPLE

บทเรียนจาก ‘oPuTo’ อดีตนักกีฬา E-Sports ผู้ไขว่คว้าความฝันบนเวทีแห่งการแข่งขันระดับสากล

“การเป็นนักแข่งเกมมันไม่ได้สนุกขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เราอยากได้รับมากที่สุดคือ ‘ชัยชนะ’ ถ้าเราอยู่ในทีมที่ต้องแพ้ทุกสัปดาห์คุณต้องแบกรับอะไรไว้ ถ้าเราเก่งมันจะมีทีมที่ดีกว่าดึงตัวเราไป แต่ถ้าเราเป็นผู้เล่นที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมแพ้ ก็มีโอกาสที่จะตกงานสูงมาก นั่นคือสิ่งที่เราแบกรับ”

พุฒ-อุบล ดารา หรือ ‘oPuTo’ อดีตนักกีฬา E-sports บนเวทีระดับโลก ผู้ฝากผลงานไว้ในเกม Overwatch และ Overwatch 2 ก่อนจะผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์ (streamer) ในปัจจุบัน บอกเล่าเรื่องราวถึงช่วงเวลาครั้งหนึ่งที่ต้องย้ายไปอยู่ไต้หวัน เพื่อลงแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาค แม้ในสายตาของเหล่าคนดูจะมองว่านี่คืออาชีพที่อยู่กับความสนุก ความบันเทิงตลอดเวลา แต่สิ่งที่เขาต้องเผชิญกลับมีช่วงเวลาทั้งดีและหนักหน่วงถาโถมเข้ามาจนครั้งหนึ่งต้องรักษาตัวกับจิตแพทย์

ท่ามกลางแสงสปอตไลท์ที่กำลังฉายมาบนตัวของเขาตั้งแต่วินาทีที่เขานำเกมมาเป็นอาชีพแทนที่ของงานอดิเรก สิ่งที่เขาต้องแบกรับไว้ตลอด คือ การทำในสิ่งที่สังคมคาดหวังอยากจะให้เป็น นั่นคือการเป็นตัวแทนของคนไทยสร้างชื่อเวทีในระดับสากล รวมไปถึงคำว่า ‘แชมป์’ ของโลก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการกดดันให้นักกีฬา E-sports ต้องพยายามฝ่าฟันเพื่อความฝันของตัวเองและประเทศไปพร้อมกัน

เส้นทางของนักกีฬา E-sports จึงเป็นเหมือนดาบสองคม การได้เป็นตัวแทนระดับประเทศย่อมได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับ รวมถึงสังกัดต่าง ๆ ที่จะคอยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและเงินทุน ขณะเดียวกันหากผลงานของทีมกำลังระส่ำระสาย สังคมเองก็พร้อมตั้งคำถามและต้องการให้ทีมเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่น (นักกีฬาของทีม) นั่นหมายถึงอาจจะมีผู้เล่นบางคนที่ต้องก้าวออกมาจากเวทีนั้น

การจะเป็นนักกีฬา E-sports จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความฝัน หรือการเอาความสนุกมาเป็นแรงผลักดันเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการทำอย่างไรก็ได้เพื่อยืนระยะอยู่ในวงการให้ได้ยาวนานที่สุดเช่นเดียวกับพุฒ แม้ปัจจุบันเขาจะเริ่มวางมือจากการเป็นนักแข่งเกมไปบ้างแล้ว แต่เขายังคงไม่ทิ้งความฝันที่วันหนึ่งจะกลับไปโลดแล่นอยู่บนเส้นทางนั้นอีกครั้ง เหมือนการวิ่งมาราธานบนเส้นทางแห่งความฝันของตัวเองที่ไม่มีวันสิ้นสุด หากเพียงแต่วิ่งด้วยความเร็วของตัวเอง และอยู่บนลู่วิ่งนั้นให้นานที่สุด

“ผมมองว่าทุกสิ่งที่เราทำในชีวิตคือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งให้เข้าเส้นชัยให้ได้เร็วที่สุด แต่คือการวิ่งไปเรื่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ หาตัวตนของตัวเองให้เจอให้ไวที่สุดแล้วทำมันให้ต่อเนื่อง อย่าหยุด อย่าเค้นตัวเองมากเกินไป ช้าก็ไม่เป็นไร แต่ละคนมีสปีดของตัวเองไม่เหมือนกัน พยายามหาทางของตัวเองให้เจอ แล้วก็ลุยมันซะ เต็มที่กับมัน”

นักกีฬา E-Sports อาชีพ (อันแสนสั้น) บนสนามแห่งการแข่งขัน

พุฒเล่าให้ฟังว่า นักกีฬา E-sports เป็นอาชีพที่ต้องทำงานอยู่ตลอด 24 ชม. แม้จะใช้คำว่าเป็นการแข่งเกม ซึ่งดูเหมือนกับว่าแค่แข่งก็จบ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น 24 ชม.ของพุฒ ความหมายคือ การซ้อมอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีข้อกำหนดว่าให้ซ้อม 8 ชม. แต่ถ้าไม่ได้พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่รู้จักที่จะรักษาสภาพร่างกาย โดยเฉพาะนิ้วอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อฝีมือการเล่นนำไปสู่ฟอร์มที่ตกลง

“คำว่าแข่งเกมกับนักแข่งเกมไม่เหมือนกัน สมมุติเราเป็นนักเรียน ซ้อมหลังเลิกเรียนแล้วเราค่อยแข่ง แต่ถ้าเราเป็นนักแข่งเกมหมายความว่าเรามีสังกัด มีผู้ว่าจ้างเราให้เราต้องเล่นให้ดีที่สุดแล้วเราจะได้เงินเดือน หน้าที่ของเราคือต้องพาทีมให้เป็นแชมป์ แปลว่าเราต้องทำทุกอย่างให้ทีมและตัวเราเก่งขึ้น”

อันที่จริงหากเปรียบเทียบกีฬา E-sports ก็เหมือนการกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันสูง มีการเซ็นสัญญาเข้าทีม มีการฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ วงการ E-sports เองก็ไม่ต่างกัน นักกีฬาจะมีเงินเดือนประจำ แต่มีเงินรางวัลจากการแข่งเป็นแรงจูงใจ โดยเงินที่ได้จากการชนะไม่ได้หมายความว่านักกีฬาจะได้ไปทั้งหมด แต่จะแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่ตกลงกับสังกัดที่นักกีฬาเข้าไปอยู่และทำข้อตกลงไว้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเงินเดือนประจำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักกีฬาเล่นโดยไม่คำนึงถึงอันดับของทีมได้ เพราะหากผลงานส่วนตัวแย่ ผลงานทีมแย่ นั่นอาจหมายถึงช่วงเวลาของการเป็นนักกีฬา E-sports ก็กำลังเดินถอยหลังลงไปทุกที แต่กลับกันหากฟอร์มส่วนตัวดี ก็อาจทำให้สังกัดอื่นสนใจที่จะเซ็นสัญญาเอานักกีฬาคนนั้นไปร่วมทีมได้เสมอ ดังนั้นแล้วชีวิตการเป็นนักฬา E-sports จึงผูกอยู่กับการแข่งขัน และการพัฒนาเพื่อโอกาสที่จะอยู่บนเวทีได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

“มีโอกาสสูงที่เราจะตกงานถ้าฟอร์มตก เว้นแต่ว่ามีโค้ชหรือทีมอื่นมองว่าทีมเราใช้งานเราผิดรูปแบบ เหมือนกีฬาฟุตบอล สุดท้ายจะมีทางเลือกให้เราสองทางคือฝึกฝนในสิ่งที่ไม่ถนัดเพื่อขยายขอบเขตความสามารถ หรือพัฒนาในสิ่งที่ถนัดให้เก่งยิ่งขึ้น”

การเป็นนักกีฬา E-sports จึงเปรียบได้กับช่วงเวลาของการ ‘เก็บเกี่ยว’ เสียมากกว่า เพราะอาชีพนี้มีช่วงเวลาที่สั้น ถึงขนาดที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันใดวันหนึ่งทีมจะหาคนใหม่เข้ามาแทนที่หากเราทำผลงานย่ำแย่ หรือเลวร้ายที่สุดคือตกงานไปโดยที่ไม่มีทีมไหนต้องการตัวไป พุฒจึงเน้นย้ำเสมอว่า ‘การพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างสม่ำเสมอ’ คือสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ยืนระยะได้นานในวงการนี้

“อาชีพนี้สั้นมาก เราไม่มีทางรู้ว่าวันใดวันนึงจะมีคนเก่งกว่าเรา หรือเราไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อนร่วมทีมเมื่อไหร่ แล้วถ้าไม่เป็นที่ต้องการของทีมแล้ว จะมีทีมไหนต้องการเรามั้ย เพราะฉะนั้นมันเลยพูดยากว่าจะยืนยาวหรือไม่ยืนยาว เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ทำงานนี้ได้อย่างยืนยาวก็มี แต่น้อยมาก ๆ เพราะฉะนั้นอยากให้มองว่ามันเป็นโอกาสระยะสั้นมากกว่า”

ก้าวของนักแข่งเกมอาชีพ กับเส้นทางที่ต้องเลือกเดิน

“ผมเริ่มแข่งเกมตอนช่วงประมาณ ม.ต้น ช่วงนั้นได้เปิดอินเทอร์เน็ตไปเจอการแข่งขันของประเทศ ก็เลยตั้งเป้าหมายเลยว่าจะแข่งให้ได้ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าโลกของเกมมาก ตอนผมแข่งเกมแรก ๆ ผมแพ้ตั้งแต่รอบแรก ๆ หมดเลย เพราะไม่รู้ว่าเราต้องซ้อมด้วยหรอ เข้าใจแค่ว่าเล่นสนุก ๆ แล้วเอาสิ่งที่เรามีไปลงแข่ง ค่อนข้างล้มเหลวในช่วงแรก ๆ ถึงจุดหนึ่งก็ได้เรียนรู้ว่าต้องซ้อมถึงจะเป็นผู้เล่นแข่งได้”

พุฒเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาแรกเริ่มที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางการแข่งเกม พุฒเริ่มต้นด้วยการลองผิดลองถูก อาศัยประสบการณ์จากความพ่ายแพ้และความล้มเหลวจากการแข่ง นำกลับมาย้อนมองตัวเองว่าสิ่งที่ไหนที่ผิดพลาดไป แล้วนำมาต่อยอดใช้ในการพัฒนาฝีมือการเล่นของเขา นำไปสู่การได้เป็นแชมป์ของประเทศไทนครั้งแรกในเกม GIGA Slave อย่างไรก็ดี เกมที่พุฒคว้าแชมป์มาได้มันยังใหญ่ไม่พอที่จะต่อยอดเขาสู่เวทีที่ใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากเกมไม่ได้เป็นที่นิยมในระดับสากล

พุฒอธิบายว่า การเลือกเกมที่แข่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การนักกีฬา E-sports เป็นอย่างมาก หากเราเลือกที่จะแข่งเกมที่มีคนรู้จักน้อย ต่อให้ได้ที่ 1 ของเกมนั้น ก็จะไม่มีคนสนใจหรือได้รับการสนับสนุน ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเป็นนักกีฬา E-sports คือเลือกเกมให้เป็น และเมื่อเลือกเกมได้แล้ว ต้องรู้จักที่จะทำตัวเองให้โดดเด่น นั่นคือการเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุด หรือสามารถไต่ไปอยู่ระดับ top ของเกมนั้นให้ได้ หรืออีกวิธีคือการสตรีม หรืออัพวีดีโอลงแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้คนได้เห็นฝีมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทีมต่าง ๆ สนใจที่จะดึงตัวเข้าไปแข่ง หรือมีผู้สนับสนุนติดต่อเข้ามา

ช่วงปี 2559 เป็นช่วงเวลาที่เกม ‘Overwatch’ เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ด้วยรูปแบบการเล่นที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้การเล่นเกมนี้เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นใหม่ของคนทั้งโลก พุฒคือหนึ่งในคนที่เข้าไปสัมผัสกับเกมนี้ ก่อนที่จะไปกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตที่ทำให้พุฒสร้างชื่อของเขาจวบจนถึงปัจจุบัน

“หัวหน้าทีมของทีมที่ดีที่สุดในไทยอยากได้เราไปอยู่ในทีมเขา แรก ๆ เราก็ปฏิเสธ เพราะมองว่าต้องเรียน ไม่มีเวลาซ้อม แต่สุดท้ายเขาพูดอยู่คำเดียวที่ทำให้ผมยอม เป็นตัวสำรองก็ได้หนิ ไม่ว่างแข่งก็ไม่เป็นไร แต่สุดท้ายเราดันแข่งทุกรายการนี่สิ มันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงได้รับโหวตเป็นอันดับ 1 ให้เป็นตัวแทนคนไทยไปแข่งที่ประเทศอเมริกา”

ถึงแม้ว่าการได้รับโหวตในครั้งนี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่หาได้ยากมากในชีวิตการเป็นนักกีฬา E-sports แต่ปัญหาที่ตามมาคือการต้องแบ่งเวลาระหว่าง ‘การเรียนและการแข่ง’ เนื่องจากพุฒในขณะนั้นกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย พุฒเข้าใจมุมมองดีว่าหากต้องเลือกที่จะไปแข่ง จะต้องทิ้งการเรียนในประเทศไทยเพื่อไปใช้ชีวิตกับการแข่งอยู่ที่อเมริกาเป็นเดือน ๆ ซึ่งนั่นอาจกระทบต่อการเรียนอย่างชัดเจน สิ่งพุฒต้องแบกรับไว้คือ การเลือกจะทิ้งความฝันที่เขาพยายามตามหามาตลอด หรือเลือกที่จะเรียนจนกว่าจะจบ แล้วค่อยเดินตามความฝัน ซึ่งไม่รู้ว่าโอกาสเช่นนี้จะเข้ามาหาอีกหรือไม่

“มันเป็นตัวเลือกที่ยากมาก ผมมองว่าโอกาสแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ สุดท้ายเลยตัดสินใจที่จะไปแข่งเพื่อค้นหาตัวเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทุกวันนี้ยังไม่รู้สึกผิดกับตัวเองเลยที่ตัดสินใจวันนั้นเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่พาผมมาถึงทุกวันนี้”

นักกีฬา E-Sports อาชีพที่แบกรับความ (คาด) หวังจากสังคม

พุฒตัดสินใจก้าวสู่การเป็นนักแข่งเกมระดับอาชีพบนเวทีสากลตามที่เขาเคยวาดฝันไว้ อย่างไรก็ตามการเดินทางไปถึงอเมริกาของพุฒ อาจไม่ได้ออกมาดั่งที่คาดหวังไว้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ฝากผลงานของทีมชาติไว้ที่ top 16 ของโลก แม้ไม่ได้เข้าไปถึงรอบชิง แต่การกลับมายังประเทศไทยกลับเปลี่ยนชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนคลับเป็นอย่างมาก กลายเป็นการเปิดเส้นทางของเขาเข้าไปอยู่ในวงการ E-sports อย่างเต็มตัว

แรงสนับสนุนจากแฟนคลับที่เขาได้รับ ทำให้เขายังมุ่งมั่นและเทกับการแข่งขันต่อในทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาค แต่เมื่อก้าวขาเข้าสู่การเป็นนักกีฬา E-sports อย่างเต็มตัวแล้ว ย่อมทำให้เขาต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมาจากการกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง นั่นคือ ‘ความคาดหวัง’ จากสังคมที่เพิ่มขึ้น กลายเป็น ‘การกดดัน’ ตัวเองและเพื่อน ๆ ร่วมทีม หากไม่สามารถทำผลงานได้ดีดั่งที่หวัง

“ปัจจุบันเจ้าของพยายามทำเกมให้เป็นกีฬา มีระบบลีกไม่ต่างกับฟุตบอลที่มีต้นสังกัด แล้วค่อยไปเฟ้นหาผู้เล่นจากทั่วโลกมาอยู่ในทีมคุณแล้วแข่งในลีกกลางโดยมีตารางแข่งเป็นกิจลักษณะเพื่อให้มีคนดู ซึ่งเป็นมิตรกับคนดู แต่มันไม่เป็นมิตรกับคนแข่งเลย เพราะว่ามันทำงานหนักมาก ฟีลแบบเพิ่งแข่งไปเอง ไม่ทันไรต้องแข่งอีกแล้ว ไม่ได้มีเวลาให้พักผ่อน พักหายใจ หรือได้พัฒนาเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอาชีพที่เครียดมาก โดยเฉพาะต้องย้ายไปอยู่ที่ต่างประเทศ มันจะมีอาการ โฮมซิก (homesick) ได้ง่ายมาก”

ทัวร์นาเมนต์ที่พุฒกล่าวถึง คือการเดินทางไปแข่งขันที่ไต้หวัน เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีสปอนเซอร์จากฮ่องกงติดต่อมาให้ทีมร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาค ‘เอเชียแปซิฟิก’ และต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวัน 2-3 รอบ รอบละ 3 เดือน นั่นคือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทำให้พุฒยอมรับว่าเป็นช่วงภาวะความเครียดของชีวิต จากผลงานทีมที่แย่ลง ความกดดันจากสังคม รวมถึงอาการโฮซิก

“ผมกลับทำงานได้ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวังจนเกิดความวิตกกังวล เกิดความกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะทำไม่ได้ จนต้องหาหมอเลย จบปี 2017 ต้องไปหาจิตแพทย์เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ เล่นจนชนิดที่นอนไม่หลับ ถึงขั้นได้ยินเสียงเท้า เสียงเดิน เรารู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย ทุกอย่างทำให้เราหวาดระแวงไปหมด”

นอกจากนี้ การเป็นนักแข่งเกมระดับชีพ มักถูกสังคมภายนอกมองว่าเป็นอาชีพที่อยู่การเล่นเกม ซึ่งดูเหมือนการได้พักผ่อน มีแค่ความสนุก ไม่ซีเรียสมากมาย แต่ความเป็นจริงกลับเป็นอาชีพที่ต้องแบกรับความกดดันจากสังคมเป็นอย่างมาก อิทธิพลจากสังคมและผู้คนที่ต่อนักกีฬา เป็นเหมือนแรงกดทับที่ทำให้พวกเขาต้องรับมือกับผลงานไปพร้อมกับการทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับจากสังคม

ถึงตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า สังคม (ผู้ชม) เป็นเหมือนผู้ตัดสินชีวิตและเส้นทางอาชีพของนักแข่งคนหนึ่งให้เปลี่ยนไปได้ หากสังคมไม่พอใจในพฤติกรรม หรือมองว่าใครคือปัญหาที่ทำให้ทีมผลงานแย่ ก็มักจะถูกสังคมกดดันจนต้องออกจากทีมไปในที่สุด บางคนอาจรับมือได้และปรับตัวเพื่ออยู่ต่อ แต่กับบางคนอาจหมายถึงการจบอาชีพของเขาไปในทันที ซ้ำยังทำให้เขาเกิดความรู้สึกแย่จนไม่สามารถกลับไปเล่นเกมที่เขาเคยลงแข่งได้อีกเลย

“ทัวร์นาเมนต์หลังจากนั้น ผลงานกลับไม่ได้เป็นเหมือนที่ทุกคนคาดหวัง ซึ่งเรามีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่น กลายเป็นว่าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาแทนผู้เล่นที่ออกไปโดนสังคมรุม สังคมมองว่าผู้เล่นคนนี้เป็น ‘แพะ’ เมื่อเขาแบกรับความคาดหวัง (จากสังคม) ไม่ได้ เขาเลยตัดสินใจต้องออกจากทีม”

วินัย ทีม และการพัฒนา หัวใจสำคัญของการเป็นผู้ชนะบนเวทีระดับสากล

พุฒเล่าให้ฟังว่า การเป็นนักกีฬา E-sports มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีไปพร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับตัวบุคคลด้วยว่า หากเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้หรือล้มเหลวติดต่อกัน คน ๆ นั้นเลือกที่จะทิ้งความฝันของตัวเองในการเป็นนักแข่ง หรือจะพัฒนาต่อเพื่อที่วันหนึ่งจะมีทีมอื่นสนใจ หรือเพื่อให้เรายังคงโลดแล่นอยู่ในวงการต่อไปได้ ซึ่งพุฒเองเลือกที่จะเดินต่อไปในวงการจนวันหนึ่งโอกาสใหม่ ๆ ก็เข้ามา

พุฒได้รับการติดต่อจากต้นสังกัดใหม่ เพื่อนำตัวเขาไปเล่นให้ทีมจากเกาหลี ซึ่งแน่นอนว่าการตอบรับข้อเสนอครั้งนี้จะทำให้พุฒต้องเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่กับทีมใหม่ที่ประเทศเกาหลี ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ แม้กระทั่งเรื่องของการฝึกซ้อม หรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิม

พุฒเล่าว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่จริงจังกับการแข่งเกมมากที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึง วิธีการฝึกซ้อมแตกต่างออกไปจากที่พุฒเคยพบเจออย่างสิ้นเชิง มีการกำหนดว่าต้องทำงานกี่โมง ตื่นกี่โมง และประชุมกี่โมง รวมถึงแม้แต่เลิกเวลาซ้อมไปแล้ว โค้ชเกาหลีจะเดินมาบอกว่าต้องปรับปรุงอย่างไรถึงจะเก่งขึ้น

นอกจากวินัยเรื่องการฝึกซ้อมแล้ว ทีมถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้การแข่งขันได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยเฉพาะทัศนติเป็นสิ่งสำคัญ หากเข้าไปอยุ่ในทีมที่มีมุมมองแบบเดียวกัน แนวคิดแบบเดียวกัน มีความตั้งใจที่จะพัฒนาฝีมือเช่นเดียวกัน จะช่วยให้สภาพแวดล้อมของการฝึกซ้อมร่วมกันออกมาดี

“มันเลยเป็นสิ่งที่ผมบอกว่างานนี้มันต้องทำอยู่ 24 ชม. มันเป็นงานที่เหนื่อยมาก ผลงานคือการอยู่กับทีมนี้ทำให้ได้แชมป์ทุกรายการ ได้อันดับ 1 ทุกครั้งของทัวนาเมนต์แข่ง ไม่มีทีมไหนสู้ทีมนี้ได้เลย มันเลยทำให้เข้าใจว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้พยายามอย่างสูญเปล่า แต่เราแค่พยายามเพื่อรอวันที่จะเจอคนที่พยายามไปกับเราแล้วเป็นแชมป์ได้”

อย่างไรก็ตาม พุฒในวัย 25 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องอายุที่มากขึ้น ในการแข่งระดับที่ไปไกลกว่าเดิมกับต้องการนักแข่งที่มีอายุ 18-23 ปี เนื่องจากมีโอกาสพัฒนาและไปต่อได้นานกว่า เป็นสัญญาณกลาย ๆ ที่บอกว่าถึงเวลาที่จำเป็นต้องวางมือแม้จะไม่ได้อยากเลิกก็ตาม

“ตอนที่รู้ว่าไปต่อไม่ได้ ผมไม่ได้เล่น Overwatch ประมาณเกือบ 2 เดือน ไม่ใช่เพราะว่าผิดหวัง แต่เพราะยังทำใจไม่ได้ที่เราจะไปต่อไม่ได้แล้ว เลยเลิกเล่นให้ตัวเองได้พักบ้าง”

วิ่งต่อไปบนหนทาง ก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความเร็วของตัวเอง

แม้ชีวิตการเป็นนักกีฬา E-sports ของพุฒจะเริ่มเลือนลางลง แต่การเดินทางบนลู่วิ่งมาราธอนของพุฒที่ผ่านมากลับเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะได้สัมผัส และตัวเขาก็ไม่เคยคิดเสียใจที่เส้นทางที่เขาเลือกเดินมา ปัจจุบันพุฒยังคงสานต่อเกมที่เขาเคยแข่งผ่านการสตรีมอยู่บนแพลตฟอร์มที่ชื่อ twitch ช่อง “oPuTo” เขาเล่าว่าการสตรีมเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้เขามีความสุข และเป็นวิธีที่ทำให้เขาได้พูดคุย ช่วยแก้ปัญหาให้กับแฟนคลับในเกมที่เขาเล่น

“ตอนนี้ผมพยายามเป็นสตรีมเมอร์ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับเกมที่ผมเล่นอยู่มากขึ้น ทำให้เขาไม่ต้องไปขวนขวายหาความรู้จากที่อื่น เขาเข้ามาดูเขามาถามเราว่าทำยังไงให้ตัวเองเก่งขึ้น เจอตรงนี้ทำยังไง เราเป็นที่ปรึกษาให้เขาได้”

อันที่จริงแล้ว พุฒเล่าให้ฟังว่าปัญหาของวงการ E-sports ไทยที่ยังพบเจออยู่คือ ‘การผลิตผู้เล่นหน้าใหม่ (นักกีฬา)’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะส่วนใหญ่ในเวทีการแข่งขันจริง การโยกย้ายตำแหน่งภายในทีมมักมาจากการดึงผู้เล่นหน้าเก่าจากทีมอื่นเข้ามา หรือจะดึงมาจากคนที่รู้จักอยู่ก่อนแล้วเข้าร่วมทีม ทำให้โอกาสที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะพัฒนาหรือสร้างชื่อตัวเองในฐานะนักแข่งกลายเป็นเรื่องที่ยากในวงการ E-sports ไทย

“การผลิตผู้เล่นหน้าใหม่เป็นปัญหาสำหรับการเป็นนักแข่งจากไทย ผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ได้มีโอกาสโชว์ความสามารถ รวมถึงการส่งต่อข้อมูล ความรู้ ทริคต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาถ้าอยากจะไปถึงจุดสูง ๆ ต้องเริ่มจากการไต่ใหม่หมด กลายเป็นว่าเขาไม่ได้ต้องยอดจากเรา ต่างกับต่างชาติที่ผู้เล่นเก่าผันตัวกลายเป็นโค้ช กลายเป็นว่าผู้เล่นใหม่ไปได้ไกลกว่าผู้เล่นหน้าเก่า เพราะมีการส่งต่อความรู้ให้ อีกทั้งเงินสนับสนุนผู้เล่นเบื้องหลังน้อย เลยทำให้คนที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชนั้นไม่มีหรือมีน้อยมาก ๆ เพราะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ”

สิ่งที่พุฒทำเปรียบเหมือนเสมือนการนำสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาตลอดจากอาชีพการแข่งขัน รวมทั้งทริคต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยได้รับ ส่งต่อให้ผู้คนที่เข้ามาชมได้นำไปทดลอง ฝึกฝน ซึ่งพุฒเองก็มองว่าถึงแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโค้ช แต่การเป็นสตรีมเมอร์ก็ทำหน้าที่ในจุดนี้ได้เช่นกัน โดยที่ไม่จำกัดจำเพาะเพียงแค่การเป็นนักกีฬาเท่านั้น ซึ่งพุฒเองก็เชื่อว่าการส่งต่อโอกาสแก่คนทุกคน คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้วงการ E-sports ไทยพัฒนาต่อไปได้ รวมถึงยังเป็นการเติมเต็มความฝันให้คนที่อยากจะเป็นนักกีฬา E-sports ได้เดินตามความฝันในสักวันเหมือนอย่างที่เขาเคยเป็น หรืออาจไปได้ไกลกว่าที่เขาเคยทำไว้

ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข

Related Posts

Send this to a friend