HEALTH

กรมควบคุมโรค เตือน ครึ่งปีแรกมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สะสมสูงกว่า 27,000 ราย

แนะประชาชนควบคุมและป้องกันโรค เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยึดหลัก 3 เก็บ หลังพบเดือน ก.ค.ของทุกปี พบผู้ป่วยสูงสุด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม – 28 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง 27,377 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 3 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้าระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ 33 ราย

โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน พบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500-2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกชุก ในหลายพื้นที่ ทำให้แหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ย้ำเตือนประชาชนควบคุม และป้องกันโรคไข้เลือดออกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงสุดของปี

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค เพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทย ให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือ ในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้ แก่ประชาชนแล้ว การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น”

“ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเอง และบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงเลยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหาร และยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัว จากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลาย ภายในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน”

“โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และ 3.เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อ นำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

Related Posts

Send this to a friend