HEALTH

แพทย์จุฬาฯ เผยงานวิจัยใหม่ ใช้เกล็ดเลือดคนไข้ ฉีดลดอาการปวดเอ็นข้อไหล่ และฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์มาร์วิน เทพโสพรรณ แพทย์ประจำคลินิกระงับปวด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ หน่วยการกีฬาของโรงพยาบาลจุฬาฯ ร่วมวิจัยการใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นของคนไข้เอง ฉีดเข้าเอ็นข้อไหล่ ลดปวด สมานเอ็นฉีกขาด และฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ฉีกขาดได้ ทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เหมาะสำหรับนักกีฬา และคนทำงานออฟฟิศ ที่มีปัญหาบาดเจ็บดังกล่าว ที่มีสาเหตุจากการทำงาน ได้รับอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬา และการเคลื่อนไหวที่ผิดท่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์มาร์วิน กล่าวว่า “วิธีการบรรเทาอาการปวดด้วยเกล็ดเลือด วิทยาการนี้เป็นงานวิจัยที่คลินิกระงับปวด ร่วมมือกับหน่วยการกีฬาของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อศึกษาการดูแลความปวด ให้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดท่า ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ และเอ็นฉีกขาด ซึ่งบางรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด บางรายรักษาไม่หายขาด พัฒนาไปสู่อาการปวดเรื้อรังตลอดชีวิต สำหรับอาการปวดที่ไม่มีใครอยากเป็น และเมื่อเกิดอาการปวดแล้ว ก็อยากจะหายปวดให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการกินยาแก้ปวด หรือแนวทางการแพทย์ทางเลือกต่างๆ เช่น ฝังเข็ม นวด ใช้คลื่นความถี่ คลื่นไฟฟ้าฯลฯ แต่ในวันนี้ที่คลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแนวทางบำบัดรักษาอาการปวดแบบใหม่ ที่ได้มาจาก “เกล็ดเลือด” ของ “ผู้ปวด” เอง”

“การฉีดเกล็ดเลือดฟื้นฟูเอ็นข้อหัวไหล่ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาคนไข้ ที่เราทำมากว่า 5 ปีแล้ว แนวทางนี้ช่วยลดผลข้างเคียง ของยากลุ่มแก้ปวดได้และมีความปลอดภัยสูงมาก เพราะเป็นการเอาเกล็ดเลือดและพลาสมาของคนไข้เอง ออกมาแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นซ่อมแซมตัวเอง”

“ในการศึกษานี้เราเปรียบเทียบ การรักษาโดยทำ MRI ที่หัวไหล่ของคนไข้ ที่ได้รับการฉีดเกล็ดเลือดไปแล้ว 6 เดือน กับคนไข้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการฉีดเกล็ดเลือด ในการรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ซึ่งเราพบว่าการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น เข้าไปในเอ็นข้อไหล่ ช่วยลดอาการปวด ได้อย่างมีนัยยะสำคัญภายใน 1-2 เดือน และยังช่วยซ่อมแซมรอยฉีกขาด ทำให้เอ็นข้อไหล่ติดกันได้ดีขึ้นด้วย ขนาดแผลที่ฉีกขาดก็ลดขนาดลง ทำให้คนไข้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน กับอาการปวดเรื้อรัง เลี่ยงการผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน”

สำหรับแนวทางที่ใช้ในการรักษาอาการปวด โดยทั่วไปในปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การใช้ยา และการไม่ใช้ยา

1.การรักษาอาการปวดโดยการใช้ยา ยาแก้ปวดมาตรฐานที่นิยมใช้กัน ได้แก่

-ยากลุ่มพาราเซตามอล ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการปวดได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง คนไข้ก็ไม่ควรกินยากลุ่มนี้มากเกินไป หรือกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไป เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ
-ยากลุ่มแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ายากลุ่มนี้ให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวด แต่ก็มักจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง หรือ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คนไข้ที่กินยากลุ่มนี้นาน ๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจได้ ดังนั้น จึงไม่ควรกินต่อเนื่องนานๆ เช่นกัน

-ยากลุ่มมอร์ฟีน แพทย์ในประเทศไทยไม่แนะนำ ให้ใช้รักษาอาการปวดในผู้ป่วยที่ไม่ได้ปวดจากมะเร็ง

2.การรักษาอาการปวดโดยไม่ใช้ยา ซึ่งแบ่งคร่าวๆ เป็นการใช้หัตถการในการระงับปวด (Pain Intervention) และกายภาพบำบัดของเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ความร้อน การนวด การประคบเย็น การฝังเข็ม การการฟังเพลง การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการฉีดเกล็ดเลือด เป็นต้น

“สำหรับการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อฟื้นฟูร่างกาย จัดอยู่กลุ่มเวชศาสตร์ทางเลือก ที่เกิดขึ้นราว 10 ปีมาแล้วในต่างประเทศ ในเกล็ดเลือดมีสารต่างๆ ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง เป็นสารที่มีไว้ซ่อมแซมร่างกาย จึงมีการศึกษาการฉีดเกล็ดเลือด ทั้งเพื่อความสวยงามและเพื่อลดการปวดข้อเข่า ข้อไหล่ และอวัยวะต่างๆในร่างกาย และปัจจุบันหลายโรงพยาบาลในประเทศไทย ได้ปรับใช้แนวทางนี้เป็นเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วย และเนื่องจากวิธีการนี้ เป็นการใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วย (ผู้ปวด) เอง ดังนั้นประสิทธิผลของการรักษาจึงแตกต่างกันไป ขึ้นกับสภาพร่างกายของคนไข้ ช่วงอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และคุณภาพเลือดของคนไข้แต่ละบุคคล แต่ถ้าคนไข้เป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายดี เป็นนักกีฬา คุณภาพเลือดก็จะดี ผลการซ่อมแซมร่างกายก็จะดีไปด้วย อีกทั้งการศึกษาการฉีดเกล็ดเลือดของต่างประเทศได้ระบุด้วยว่า ประสิทธิผลการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น จะช่วยซ่อมแซมร่างกายได้ผลดีมาก กับคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี”

“เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยมาก เพราะใช้เลือดของคนไข้เองในการรักษาตนเอง จึงไม่มีผลข้างเคียง เหมือนการใช้ยารับงับปวดทั่วไป หลายครั้งจึงมีคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี มาขอรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งหมอก็ทำให้ได้ แต่ก็จะแจ้งคนไข้ด้วยว่า ประสิทธิผลอาจไม่ดีไม่เท่ากับคนที่อายุน้อยกว่า 55 ปี สำหรับการรักษาทำโดยการดูดเลือดดำ มาประมาณ 15 มิลลิลิตร แล้วนำไปปั่นแยกพลาสมาและเลือดแดง จากนั้นนำพลาสมาที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้น นำไปเพื่อการรักษาฉีดทันที”

ทั้งนี้การรักษาอาการปวด ด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น แม้จะดีแต่ก็ไม่เหมาะกับคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะไข้ 2 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้ที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากเลือดของผู้ป่วยมะเร็งอาจจะมีเชื้อมะเร็ง ซึ่งหากนำเลือดของคนไข้มาปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายคนไข้แล้ว ก็อาจทำให้เกิดการกระจาย ของเชื้อมะเร็งไปที่อวัยวะอื่นๆ ได้

2.ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดยาก การทำให้เกิดแผลจากเข็มฉีดยาอาจจะทำให้เลือดไหลมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนไข้

ที่ผ่านมาคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ดูแลคนไข้อาการปวดเรื้อรัง จากปัญหาเอ็นข้อไหล่เป็นจำนวนมาก โดยพบคนที่มีปัญหาเอ็นข้อหัวไหล่ อันเกิดมาจากการยกของหนัก การทำงาน และการเล่นกีฬา ซึ่งการบาดเจ็บในส่วนนี้ต้องใช้เวลา ในการรักษาฟื้นฟูร่างกายนาน ดังนั้นการฉีดเกล็ดเลือดจึงมีประโยชน์ต่อนักกีฬา คนทำงานออฟฟิศ และผู้ที่ต้องการรักษาอาการบาดเจ็บหายดี และใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการพักฟื้นร่างกาย เพื่อให้พร้อมกลับไปทำงาน แข่งกีฬา และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเร็วที่สุด”

“สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ เริ่มจากแพทย์คัดเลือกทั้งคนไข้ และวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย เพื่อประสิทธิผลการรักษาที่ดีที่สุด และเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไข้ ซึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อคนไข้ได้รับการตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ หรือ MRI ว่ามีอาการบาดเจ็บของเอ็นหัวไหล่ ไหล่ติด และทีมแพทย์ร่วมกันวินิจฉัยและลงความเห็นว่า คนไข้รายนี้ไม่เหมาะที่จะผ่าตัด หรือการออกกำลังกาย ก็ไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ควรรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดแทน คนไข้ก็จะถูกส่งตัวมารักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือด ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะฉีด 1 หรือไม่เกิน 2 เข็มเท่านั้น อาการปวดก็จะทุเลาลงถึง 80% ความปวดที่เหลืออีก 20 % ขึ้นกับเวลาและการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ ประมาณ 9,000 บาทต่อครั้ง (การทำหัตถการ)”

“ในทางการแพทย์เราก็ไม่หยุดทำวิจัย เพื่อช่วยผู้ป่วยหลุดพ้น จากความเจ็บปวดทรมานเพียงแค่นี้ มีการขยายการวิจัยไปที่อวัยวะอื่นด้วย เช่น การศึกษาการฉีดเกล็ดเลือดระงับปวดบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ ซึ่งตอนนี้คืบหน้าไป 50% แล้ว และยังต้องการหาคนไข้มาเข้าร่วมโครงการวิจัยอีก ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้มีอาการปวดกลางหลัง ให้มาร่วมโครงการวิจัยการฉีดเกล็ดเลือดระงับปวดบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ โดยสามารถติดต่อขอทำนัดที่คลินิกระงับปวด รพ.จุฬาฯ เพื่อให้หมอตรวจวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบหรือไม่ และหากเข้าเกณฑ์ คนไข้สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัย ได้ตามความสมัครใจเพื่อรับการรักษาโดยไม่มีค่าใช่จ่าย”

ผู้สนใจที่มีอาการปวดข้อต่อเอ็นหัวไหล่ หรือปวดอวัยวะอื่นๆในร่างกาย สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาที่ถูกทาง ได้ที่คลินิกระงับปวด Pain Clinic https://painchula.com/ ชั้นที่ 17 อาคาร ภปร.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. โดยนัดหมายล่วงหน้า หรือสอบถามได้ที่ โทร. 0 2-256-5230

Related Posts

Send this to a friend