FEATURE

“ชีวิตในที่สาธารณะ” ปลายทางของปัญหาที่ไร้ทางออก

มูลนิธิอิสรชนหวังรัฐทำงานเชิงรุก ปรับนโยบายให้มอง “คนเท่ากัน” พร้อมปลดล็อก ท้องถิ่น-กทม. ดูแลคนไร้ที่พึ่งเองได้

วิกฤตสาธารณสุขในช่วงสองปีนี้ ไม่เพียงนำพาเราเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” แต่ยังผลักไสอีกหลายคนให้กลายเป็น “ชีวิตในที่สาธารณะ” ทั้งในสถานะคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน หรือผู้ป่วยริมทาง ที่ตกขบวนจากระบบสวัสดิการภาครัฐ และมักถูกทิ้งไว้นอกสมการของการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิต จนถึงปัจจุบันที่มีแนวโน้มการแพร่ระบาดอีกรอบหนึ่งนี้ The Reporters ลงพื้นที่กับอาสาสมัครมูลนิธิอิสรชน เพื่อสำรวจกิจวัตรของเหล่าลมหายใจริมทาง ที่ปราศจาก “บ้าน” ตามนิยามอย่างที่เราเข้าใจ

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ “เจดีย์ขาว” บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ปรากฏคนไร้บ้านนอนหลบแดดเป็นประจำ นอกเหนือจากจุดอื่นที่มักสังเกตได้จนชินตา อย่างถนนราชดำเนินกลาง และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งเมื่อได้พูดคุยกับผู้คนรอบเจดีย์ขาวก็พบว่า ต่างคนต่างมีเบื้องหลังหลากหลาย ที่สุดท้ายร้อยพันเหตุผลก็พัดพาให้พวกเขามาอยู่จุดเดียวกันที่นี่

“…แม่ก็ตายแล้ว ไม่มีบ้าน ถ้ามีบ้านก็ไปนอนหลับ นอนฝันอยู่บ้านแล้ว” หญิงกรรมกรไร้บ้านคนหนึ่งกล่าวหลังกลับมาจากที่ทำงาน

“มีญาติหมดเลย มีบ้านอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ดีกัน หลานกันหันหน้าหนี เพราะเป็นกะเทยด้วย เลยอยากอยู่คนเดียว ถือว่าตรงนี้ปลอดภัยสุด ไม่ก็ไปนอนอาศัยหน้าแม่พระธรณี…” หนึ่งในคนเร่ร่อนบอกเล่ากิจวัตรที่มักอาศัยรอบสนามหลวงเป็นประจำ

นอกจากเหตุผลระดับปัจเจกที่แตกต่างกันแล้วนั้น มูลนิธิอิสรชนในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อคนไร้บ้านมาหลายสิบปี ยังคลี่ภาพในหลายมิติเชิงโครงสร้างสังคม ที่เป็นต้นเหตุของชีวิตในที่สาธารณะที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครด้วย

“คนส่วนใหญ่เป็นปลายปัญหา… ของทุกปัญหาที่ไม่มีทางออก” อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ตั้งต้นคำสำคัญของปมคนไร้ที่พึ่ง “ทุกสาเหตุเลย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภาวะครอบครัว การเข้าไม่ถึงสวัสดิการ การรักษาพยาบาล บางคนมาจากชนบทเข้ามาในเมืองหลวง หรือแม้แต่คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด”

อัจฉรา ฉายภาพปัญหาที่กระจ่างชัดขึ้นจากสถานการณ์โควิดว่า เมื่อคราวรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เมืองถูกปิด หลายคนอยู่บ้านได้ แต่คนในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่มีบ้านให้อยู่ เราจึงเห็นภาพคนเสียชีวิตข้างถนนมากขึ้นจากที่เราเห็นอยู่แล้วมาหลายปี ด้วยเหตุนี้จึงสะท้อนว่า “ตัวตน” ของคนไร้บ้านเอง ไม่ถูกมองอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป

“เขาเป็นคนเท่ากับเรา เขาก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีเหมือนกับเรา กฎหมายก็ต้องลงโทษคนไม่ดีไปตามกฎ แต่ในส่วนของคนที่ดีที่กำลังฟื้นตัวได้ ก็ควรจะมีที่ยืนให้กับเขาด้วย”

คำถามสำคัญจึงผุดขึ้นมาว่า รัฐควรมีบทบาทในการจัดสรรสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานให้คนเร่ร่อนและไร้บ้านเหล่านี้อย่างไรบ้าง แต่คำตอบที่ได้จากคนไร้บ้านรอบเจดีย์ขาว กลับออกมาในทิศทางเดียวกันว่า

“พูดถึงบ้าน บ้านก็อยากได้แหละ อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ แต่ใครจะมาทุ่ม จะมาช่วย โอกาสมันเป็นไปได้น้อยมาก ว่าไหมล่ะ…”

“…คงไม่มีทางแล้วล่ะ รอวันตายอย่างเดียว คิดอย่างนั้น แต่ว่า มันคงไม่ตายง่าย ๆ หรอก”

ความสิ้นหวังของลมหายใจเหล่านี้ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า อุปสรรคที่ภาครัฐยังตอบสนองวิกฤตคนไร้ที่พึ่งได้ไม่ดีพอคืออะไร ? เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ปัจจุบันฝ่ายปฏิบัติการของภาครัฐทำงานล้นมือ เพราะฝ่ายบริหารหรือนโยบายไม่ได้คิดถึงคนทำงาน ไม่ได้ลงมาสัมผัสจริง เมื่อมีคนร้องเรียนมาก็ไปดูตามเรื่องร้องเรียน ทั้งที่มันไม่ควรเป็นลักษณะ “วัวหายล้อมคอก” ณ วันนี้ รัฐควรต้องสร้างระบบป้องกัน ปรับปรุงระบบภายใน สื่อสารกับสังคมให้ชัดเจน รวมไปถึงทำงานแบบเชิงรุกด้วย

“ควรมีการศึกษากฎระเบียบ เก็บข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง ประสานต่อยอดไปยังหน่วยงานหลังบ้านที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ และปรับให้บ้านอิ่มใจที่เคยมีอยู่นั้นเป็นที่พักพิงฉุกเฉินชั่วคราว คนไร้ที่พึ่งคนใดกลับคืนสู่ครอบครัวได้ก็ให้คืน แต่หากใครประสงค์จะอาศัยพื้นที่สาธารณะ ก็ควรมีนโยบายเชิงรุก อย่างการจัดที่พักพิงให้อาบน้ำและรับประทานอาหารโดยไม่ต้องจับจอง นโยบายเหล่านี้สามารถคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาและยังสร้างรายได้ได้อีกด้วย” เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าว

อย่างไรก็ตาม “บ้านอิ่มใจ” ที่ถูกมองว่าเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย” ก็เปิดทำการมาได้เพียง 7 ปี ก่อนปิดตัวลงไปตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เหตุผลว่าแบกรับภาระค่าเช่าที่ดินไม่ไหว และคนไร้ที่พึ่งยังเข้าพักอาศัยในจำนวนไม่มาก มากไปกว่านั้นคือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542 มาตรา 18 บัญญัติให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเองตามอำนาจเฉกเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ซึ่งมีการสังคมสงเคราะห์และพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ครอบคลุมเพียง เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส โดยไม่มีคนไร้ที่พึ่งอยู่ในกฎหมาย หรือกล่าวโดยสรุปคือ กฎหมายยังเป็นอุปสรรคต่ออำนาจของ กทม. ในการดูแลคนไร้ที่พึ่งได้เองอย่างเป็นอิสระ

ในประเด็นนี้ เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เห็นว่า นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดใหม่ที่นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยกฎหมายและกลไกข้างในยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ยังลงมือทำเองไม่ได้ทั้งหมด มูลนิธิอิสรชนจึงเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศควรดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ เพราะไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร แต่ท้องถิ่นอื่นก็มีคนไร้ที่พึ่งอยู่

สุดท้าย มูลนิธิอิสรชน ยังมองว่า เรื่องคนเร่ร่อน-ไร้บ้านเป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนมีโอกาสเป็นสถานะนี้ได้เนื่องด้วยความไม่มั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่สถานการณ์ขาดความมั่นคง จึงทำให้ปัญหาใกล้ตัวเรามาก

“เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนมานอนบนถนน แต่เราจะมาบริหารจัดการและสร้างกฎระเบียบให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ … และเราไม่ได้ทำเพื่อคนไร้บ้านข้างถนนเพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังสร้างระบบที่เข้าถึงสิทธิได้ และที่สำคัญคือเราอยากให้มองว่าตัวตนของเขาเป็นคนเท่ากัน”

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend