POLITICS FEATURE

แพทย์เตือน ฝุ่น PM2.5 กับมะเร็งปอด ต้องระวัง!

ผู้มีประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็ง ลดการสัมผัสฝุ่นพิษจิ๋ว หมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีคำเตือนจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับอันตรายของฝุ่นจิ๋วนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นโรคภูมิแพ้ และโรคทางเดินหายใจ แต่ล่าสุด มีข้อมูลจากหลายฝ่ายระบุตรงกันว่า ฝุ่น PM 2.5 มีความเชื่อมโยงกับมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้

The Reporters ได้สอบถามไปยัง นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และที่ปรึกษาสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ฝุ่น PM2.5 ที่เชื่อมโยงกับโรคมะเร็งไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะมะเร็งปอดในกลุ่มประเทศ เอเชียตะวันออกที่ปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นชัดเจน ทั้งจากปัญจัยด้านมลพิษในอากาศ และการสูบบุรี่ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมกันและกัน ที่ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น พร้อมแนะนำการป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคมะเร็ง ที่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการรับมือกับฝุ่นพิษจิ๋วให้มากยิ่งขึ้น

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า “สำหรับกลุ่มเด็กเล็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ ชนิดแพ้ฝุ่นละอองนั้น เป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มความระวังเป็นเท่าตัว โดยการใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก และให้เด็กเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ที่สำคัญไม่แนะนำให้ผู้ปกครอง ใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาให้บุตรหลาน โดยเฉพาะลูกหลานที่เป็นโรคภูมิแพ้ฝุ่นละออง เพราะจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันฝุ่นพิษจิ๋วในเด็ก ในส่วนของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็แนะนำให้ทำมาตรการเดียวกัน คือให้ใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 ติดตามข่าวสารว่าเขตไหน หรือจุดไหนมีความเสี่ยงของฝุ่นพิษเยอะ ก็ให้เลี่ยงจุดที่มีฝุ่นพิษอยู่ในปริมาณอากาศจำนวนมาก และงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้เช่นกัน หรือออกจากบ้านให้น้อยและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด”

“ส่วนอันตรายและความเชื่อมโยง ของฝุ่น PM 2.5 กับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ที่ประกอบด้วย ไทย ใต้หวัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และประเทศมองโกลเลียนั้น อันดับแรกในฝุ่น PM 2.5 มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด ที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยข้อมูลได้พบว่าฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งปอดมากขึ้น ในกลุ่มของผู้ที่ประวัติครอบครัว ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะในคนกลุ่มนี้จะยีนของเซลล์มะเร็งอยู่”

“ดังนั้นเมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่เกินกำหนดเป็นเวลานานๆ เช่น คนที่อยู่พื้นที่มีการก่อสร้าง หรือมีมลพิษอยู่ในอากาศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แนะนำให้เลี่ยงอยู่ในเขตที่มีปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะต้องออกไปนอกบ้าน แต่ไม่จำเป็นต้องตระหนกตกใจมากเกินไป เพราะหากอยู่บ้านก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ ที่สำคัญแนะนำให้หมั่นไปตรวจสุขภาพ เพื่อหาโรคมะเร็งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในการป่วยเป็นมะเร็งปอดจากฝุ่นพิษจิ๋ว เพราะฝุ่น PM 2.5 กับยีนมะเร็ง เป็นตัวกระตุ้นโรคร้ายที่ส่งเสริมกันและกัน”

“นอกจากนี้ผู้ชายไทยที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และมียีนมะเร็งจากประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็ง ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นมะเร็งปอดจากฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน (ยกเว้นผู้ที่สูบบุหรี่แต่ไม่ได้มีประวัติครอบครัวป่วยมะเร็ง จึงไม่เป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะไม่มียีนมะเร็ง) เพราะบุหรี่เป็นแอร์โพลูชั่น หรือมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่ง ที่สำคัญในบุหรี่ก็มีสารก่อมะเร็งอยู่แล้ว พูดง่ายๆว่ากลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว จะมีความเสี่ยงป่วยโรคมะเร็งปอดถึง 3 ปัจจัย รวมถึงผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งสูบบุหรี่เป็นประจำเช่นกัน ที่สำคัญกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด อันเนื่องจากอยู่พื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นเวลานานๆ ก็คิดเป็นอัตราสูงเช่นเดียวกับผู้ชายที่สูบบุหรี่ และสัมผัสฝุ่นพิษจิ๋วเช่นเดียวกัน เพราะผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับควันบุหรี่มือสองมือสาม ดังนั้นหากจะไปเที่ยวหรือไปพักในสถานที่ต่างๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงบุหรี่ ที่ทิ้งค้างอยู่ในที่เขี่ยบุหรี่ เพราะกลิ่นของบุหรี่ก้นมวนเหล่านี้ เป็นสาเหตุโรคมะเร็งปอดในผู้หญิง ได้อย่างคาดไม่ถึง

“ซึ่งนอกจากกำจัดกลิ่นบุหรี่ที่สูบแล้ว ก็จำเป็นเปิดห้องพักเพื่อระบายอากาศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ให้เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอกรมควัน 1 ชิ้น เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้เพื่อสุขภาพแนะนำ ให้บริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปน้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าเรามีประวัติในครอบครัวป่วยมะเร็ง การเลี่ยงอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM 2.5 และการไม่สูบบุหรี่ เท่ากับเป็นการลดโรคมะเร็งปอดในบ้านเราได้เช่นกัน เพราะโรคมะเร็งปอด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อม ยีน และสารก่อมะเร็งในบุหรี่นั่นเอง ”

Related Posts

Send this to a friend