FEATURE

เปิดอาชีพสงวนของคนไทย ทำไมต้องห้ามต่างด้าวทำ

แรงงานต่างด้าว เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นระเบียบ และประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ต้องมีการบริหารจัดการ และการควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และเงื่อนไขต่างๆ ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต

เพื่อปกป้องคนไทย และแรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2475 รัฐบาลได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมการทำงานของแรงงานต่างด้าว และการสงวนอาชีพ – วิชาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนไทย จนในปี 2516 มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพสงวนสำหรับคนไทย (ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ) และมีการปรับปรุงต่อมาเรื่อยๆ ให้เข้ากับบริบทสังคมในขณะนั้น

จนในปี 2563 กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงเรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยแบ่งเป็น 4 บัญชี ได้แก่

บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย

บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม

บัญชีที่ 3 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา

และบัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

เปิดเหตุผล ทำไมต้องมีงานห้าม

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน และควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวให้ถูกต้อง เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าว ความหมายคือแรงงานทุกสัญชาติที่ไม่ใช่คนไทย ซึ่งในปัจจุบันจะมีอยู่ 4 สัญชาติหลัก คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด โดยมีแรงงานถูกกฎหมายที่มีใบอนุญาตมากถึงประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่แรงงานสัญชาติอื่น ทั้งญี่ปุ่น จีน อเมริกา หรือยุโรป ทำงานอยู่ในไทยประมาณ 1.7 แสนคน

นายสมชาย อธิบายว่า งานห้ามสำหรับแรงงานข้ามชาติ เกิดขึ้นเนื่องจากงานบางจำพวกอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ซึ่งบางทีแรงงานไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมถึงงานบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ที่ต้องสงวนไว้สำหรับคนไทยทำเท่านั้น

เช่น การเร่ขายสินค้า ถือเป็นงานประเภทหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีหมวดอาชีพแรงงานข้ามชาติห้ามทำเด็ดขาด เนื่องจากงานเร่ขายสินค้าเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้ค่อนข้างสูง เป็นอาชีพที่ต้องสงวนไว้ให้คนไทยทำ ทั้งนี้ งานเร่ขายสินขายจะมีลักษณะของการไม่อยู่กับที่ ต้องมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ส่วนการขายของหน้าร้านคือตั้งอยู่กับที่ และขายของที่ผลิตสำเร็จแล้วเรียบร้อย ขายตามท้องตลาด ต้องมีนายจ้าง มีหลักแหล่ง มีที่ตั้งเป็นถาวร ซึ่งเปิดไว้สำหรับแรงงานตาม MOU

แม้จะไม่ใช่งานห้ามก็ต้องควบคุมให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

งานต้องห้ามบางงานเราต้องสงวนไว้ เพราะเป็นงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ส่วนงานที่เหลือก็เป็นงานที่เราต้องสงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะบางอาชีพเรามองว่าคนไทยควรต้องเป็นคนทำ โดยเฉพาะอาชีพที่เป็นเรื่องของอาชีพอิสระ เราต้องการให้คนไทยประกอบอาชีพอิสระมีรายได้ ถ้าเราเปิดกว้างให้แรงงานเข้ามาทำได้ทุกอาชีพ เชื่อเลยว่าแรงงานเพื่อนบ้านจะเข้ามามากมาย ส่งผลกระทบกับคนไทย อาชีพสงวนจึงยังมีความจำเป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้งานบางประเภทจะเปิดพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานได้ โดยไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่ งานที่ห้ามโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่การทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำ จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่าง
ถูกต้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานของกรมการจัดหางานในการผลักดันการทำงานอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของคนไทย รวมถึงส่งผลต่อการแข่งขันกับคนไทยในตลาดแรงงานของประเทศ

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเร่ขายสินค้า ขายของหน้าร้านบ้าง แล้วงานก่อสร้างจะเป็นเรื่องของการลักลอบเข้ามา ก็คือไม่มีใบอนุญาตทำงาน เจอค่อนข้างเยอะ ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการสู้รบตามชายแดน ก็มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลบหนีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่ได้เปิดผ่อนผันให้ลงทะเบียน แรงงานเหล่านี้ก็จะลักลอบเข้ามาทำงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ที่ลักลอบเข้ามาบางทีไม่ได้มาทำงานที่ต้องสงวน เป็นงานที่ขอใบอนุญาตทำงานได้ เพียงแต่เป็นช่วงที่ไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียน ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขออนุญาตอย่างถูกต้อง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะพบการลักลอบทำงานอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานประกอบการไทยก็ขาดแคลนแรงงาน จึงมีการลักลอบเกิดขึ้น

ณ วันนี้ นโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ก็ได้มีนโยบายในเรื่องของการทำโครงการ เจอ จับ ปรับ ผลักดัน ออกนอกประเทศ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้ง ตม. ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. ในการตรวจสอบ จับกุม ปราบปราม ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

“เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” คืออะไร

โครงการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” ถือเป็นนโยบายที่กรมการจัดหางาน ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยที่มีการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย นำไปสู่การแย่งงาน เกิดปัญหาการว่างงานของแรงงานไทย โดยโครงการนี้ มีการดำเนินการทั่วประเทศพร้อมกัน ทั้งส่วนของจังหวัด จะร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัด ฝ่ายปกครองจังหวัด ในการตรวจสอบ และส่วนกลางจะร่วมกับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ตม. และ กอ.รมน.กลาง ในการตรวจสอบ

นายสมชาย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจสอบนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติกว่าหลายหมื่นสถานประกอบการ มีแรงงานที่ผ่านการตรวจกว่าแสนคน ในจำนวนนี้มีการจับกุม ปราบปราม และผลักดันออกนอกประเทศหลายพันคน และยังคงพบเจออยู่เรื่อย ๆ

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายในประเทศไทย หรือไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน จะมีโทษคือการปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาท และผลักดันออกนอกประเทศ ขณะที่ นายจ้าง หรือสถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อการจ้าง 1 คน รวมถึงห้ามใช้แรงงานข้ามชาติเป็นระยะเวลา 3 ปี

คนที่ได้รับการผ่อนผันแล้วมีใบอนุญาตทำงานอยู่ ก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ เพราะว่าการทำงานที่ไม่ตรงกับที่เราอนุญาตก็จะมีผลกระทบตามมา ทั้งในเรื่องของการที่จะถูกดำเนินคดี และก็ถูกส่งกลับ ก็เป็นเรื่องสำคัญ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

Related Posts

Send this to a friend