FEATURE

หอมกลิ่นความเจริญ… ทำไมกลิ่นและการพัฒนาเมืองจึงสัมพันธ์กัน ?

ช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราต่างทราบผลค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศพอจะออกมาในทิศทางหรือรูปแบบใดกัน สิ่งที่ตามมาคือปรากฏการณ์ที่ใครหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “กลิ่นความเจริญกำลังลอยมา” ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมกลิ่นแทนที่จะเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ถึงกลายเป็นความหมายในแง่มุมเชิงสังคม หรือบ่งบอกถึงการพัฒนาของเมืองได้เหมือนกัน

บทความนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจพร้อม ๆ กันว่า ทำไมการใช้กลิ่นกับสังคมรอบตัวจึงสัมพันธ์กันมากไปกว่าการเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว ดังเช่นคำว่า “เรื่องนี้มันมีกลิ่นตุ ๆ” แล้วประโยคดังกล่าวเป็นเพียงแค่การอุปมาอุปมัยขึ้นมาจริง ๆ เพียงเท่านั้นหรือ ? บางทีอาจเกี่ยวข้องไปถึงกลิ่นที่เราอยากจะได้รับมากกว่ากลิ่นอีกแบบก็ได้

กลิ่น กับความรู้สึกที่ชวนนึกถึงบางสิ่งที่คล้ายกัน

กลิ่นเป็นหนึ่งในการรับความรู้สึกที่มีความแตกต่างไปจากการรับรู้รสชาติด้วยลิ้นที่สามารถบรรยายออกมาด้วยลักษณะของความหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม เป็นต้น แต่การบรรยายถึงลักษณะของกลิ่นนั้น อาศัยวิธีการเทียบเคียงความคล้ายกับบางสิ่งเพราะไม่สามารถบรรยายได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น “กลิ่นของช็อคโก้มิ้น ทำให้นึกถึงกลิ่นยาสีฟันสูตรมิ้นที่เคยใช้เลย” “กลิ่นเท้าเน่าเหมือนกับกลิ่นปลาเค็ม”

กลิ่นและการบรรยายถึงลักษณะจึงมีความพิเศษ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้คนที่เคยได้รับกลิ่นชนิดหนึ่งมาก่อน กล่าวคือ เมื่อช่วงเวลาหนึ่งเคยได้รับความรู้สึกถึงกลิ่น A มาก่อน เมื่อวันหนึ่งได้กลิ่น B ขึ้นมา ทำให้หวนไปรู้สึกถึงความคับคล้ายคับคลาถึงกลิ่น A ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้กลิ่นของสิ่ง ๆ หนึ่งจึงมาพร้อมกับความรู้สึกถึงประสบการณ์ที่เคยสัมผัสที่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเคยพบเจอมา ในขณะที่บุคคลอื่นอาจเทียบเคียงกลิ่น B เหมือนกับกลิ่น C ก็ได้

กลิ่นจึงมาพร้อมกับความรู้สึกที่ทำให้ชวนนึกถึงบางสิ่ง ซึ่งในบางครั้งอาจชวนให้นึกถึงอดีตของตน หรือสิ่งที่เคยได้สัมผัสแล้วคิดถึงมัน เช่น “กลิ่นของดินหลังฝนตกบริเวณที่ทำงาน ชวนให้นึกถึงกลิ่นของโคลนแถวบ้านเกิดในแถบชนบทที่จากมา” อีกทั้งความรู้สึกของกลิ่นยังแบ่งตามความชอบออกเป็นเพียงกลิ่นที่หอม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ กับกลิ่นที่เหม็น สะท้อนถึงความรู้สึกรังเกียจ หรือไม่สันทัด

ความน่าสนใจของกลิ่นนั้นสามารถเปรียบเทียบไปถึงบริบททางสังคมการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้กลิ่นของแต่ละบุคคลประกอบสร้างขึ้นมาผ่านความทรงจำเวลานึกถึงบางกลิ่น อีกทั้งความรู้สึกหอมและเหม็นในทางสังคม ก็เคยถูกศึกษาและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองที่พูดถึงความสะอาดของเมือง และกลิ่นเหม็นโชย เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเมืองในมุมที่ต้องการการแก้ไขและปรับปรุง ไม่ว่าจะมาจากน้ำเน่า หรือขยะก็ตาม

การศึกษากลิ่นผ่านเลนส์ของนักมานุษยวิทยา

กลิ่นในการศึกษาของนักมานุษยวิทยานั้น เริ่มต้นมาจากความต้องการศึกษาสังคมของตะวันตก ที่พยายามทำความเข้าใจโลกของคนที่แตกต่างกัน นำไปสู่การศึกษาที่เรียกว่า ‘มานุษยวิทยาผัสสะ’ (Sensory Anthropology) โดยให้ความสนใจต่อการรับรู้โลกที่หลากหลายของผู้คน อาศัยการรับรู้ที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็น การมอง การฟัง การได้กลิ่น การรับรู้ถึงรสชาติ เป็นต้น ซึ่งโจทย์สำคัญคือ วิธีการที่กลุ่มคนจะเรียนรู้โลกด้วยการฝึกผัสสะในแต่ละด้านที่ต่างกัน เช่นเดียวกับกลิ่นที่มีบทบาทต่อการสร้างความหมายแก่คน มีผลให้การรับรู้โลกต่างกันได้เช่นกัน

แรกเริ่มเดิมที มุมมองด้านกลิ่นมาจากความเข้าใจในฐานะที่เป็นการรับรู้หนึ่งภายใน ‘ร่างกาย’ (body) ของมนุษย์ นักมานุษยวิทยาช่วงแรกพยายามศึกษาผัสสะด้วยการวิเคราะห์เชิงนามธรรม นั่นคือแนวคิดของความรู้จากประสบการณ์ที่ได้มาจากการสัมผัสโดยร่างกาย สิ่งที่มนุษย์เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวนั้น มาจากการเอาร่างกายของตัวเองไปแฝงฝังการรับรู้ในบริบทต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับ “ปรากฏการณ์วิทยาแห่งการรับรู้” (Phenomenology of Perception) ของ Merleau-Ponty ที่กล่าวถึงการแบ่งร่างกายกับโลกภายนอกออกมา ดังนั้น ร่างกายจึงกลายเป็นเงื่อนไขในประสบการณ์ของมนุษย์ (Csordsas 1994, 37)

มนุษย์เราใช้ร่างกายในการเข้าไปรับรู้สื่งต่าง ๆ รอบตัว จนเกิดเป็นประสบการณ์ที่แต่ละคนเข้าใจโลกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ในมุมมองนี้ ‘กลิ่น’ จึงเป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์รับรู้ผ่าน ‘การได้รับกลิ่น’ นั้น ๆ เข้ามา และสร้างความหมายทางสังคมขึ้น Bettina Beer (2014) อธิบายว่ากลิ่นที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากความรู้สึกทางสังคม เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้กลิ่นมีระดับของความเข้มข้นและรับรู้ต่างกัน สิ่งนี้ยังเป็นผลมาจากมิติของเชื้อชาติ เพศภาวะ และชนชั้นทางสังคม ที่ทำให้กลิ่นไม่ได้มีเพียงการแยกความแตกต่างอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น คำศัพท์ที่ถูกใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกที่มีต่อกลิ่นนั้น ๆ จึงเป็นการพรรณนาในแง่ของการสื่อความหมายทางสังคมวัฒนธรรมตลอดจนการตีความเชิงสัญลักษณ์

นอกจากนี้ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม ยังถูกใช้ในการอธิบายการแยกคุณลักษณะของกลิ่นด้วยลักษณะแบบคู่ตรงข้าม กลิ่นในแง่มุมของชีวิตทางสังคมถูกแบ่งความแตกต่างในการระบุ กลิ่นที่หอมและกลิ่นที่เหม็น ความสะอาดและความสกปรก หรือแม้กระทั่งกลิ่นที่อยู่ในพิธีกรรมถูกจัดแบ่งไว้ในขอบเขตของความศักดิ์สิทธิ์ กลิ่นหอมแสดงถึงการมาถึงของเทพ ในขณะที่กลิ่นเหม็นถูกเชื่อมโยงถึงปีศาจร้าย สิ่งนี้ปรากฏในงานศึกษาศาสนาคริสต์ ฮินดู และอิสลามเช่นกัน กลิ่นยังใช้สำหรับการแบ่งความเป็นชายและหญิงออกจากกัน เช่นเดียวกับการแบ่งกลิ่นของความเป็นธรรมชาติและวัฒนธรรม (Low, 2009)

เรื่องของกลิ่นจึงไม่ได้มีเพียงเรื่องของชีววิทยา จิตวิทยา หรือปัจเจก เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม (Howes, 2005) ซึ่งกลิ่นอาจบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือบาป อำนาจทางการเมืองหรือการกีดกันทางสังคม เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจทางกาย รวมไปถึงเป็นสิ่งประกอบสร้างทางการเมืองเช่นกัน (Classen, 1997)

Brian Moeran (2007) สรุปประเด็นคุณลักษะของกลิ่นต่อการศึกษาเชิงผัสสะไว้อย่างน่าสนใจ เขาชี้ให้เห็นถึงประเด็นของกลิ่นไว้สองประการด้วยกัน ดังนี้

ประการแรก กลิ่นไม่สามารถแยกลักษณะในแบบลำดับขั้นได้เหมือนกับที่เราแยกเป็นเฉดของสี แต่เราสามารถเข้าใจผ่านผลกระทบที่กลิ่นสร้างขึ้น เช่น ความรู้สึกสงบ ความรู้สึกอาการวิงเวียน

ประการที่สอง กลิ่นจะถูกเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดและแฝงฝังเข้าไปในความทรงจำของผู้รับกลิ่น

ดังนั้นกลิ่นจึงไม่ได้มีความหมายตั้งต้นด้วยตัวของมันเอง แต่ความทรงจำของผู้รับที่มีต่อกลิ่นเองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอธิบาย ในชีวิตประจำวันของเราจะพบเจอกลิ่นเป็นพัน ๆ กลิ่น แต่เราจะไม่สามารถจดจำกลิ่นได้หากปราศจากการกระตุ้นจากบริบทภายนอกที่มีส่วนต่อการสร้างกลิ่นนั้นขึ้นมา

กลิ่นกับการเมือง ไปด้วยกันได้อย่างไร ?

มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จะถูกจำกัดร่างกายให้มีกลิ่นอันพึงประสงค์ที่ไม่ได้มาจากกลิ่นดั้งเดิมจากร่างกายซึ่งแสดงถึงความสกปรกและเสื่อมโทรมในการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ความสนใจในการดมกลิ่นกลายเป็นประเด็นที่ถูกใช้สำหรับการแบ่งลำดับชั้นทางสังคม ซึ่งเป็นแง่มุมหนึ่งของการใช้กลิ่นทางการเมือง

หากย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 18 การเกิดโรคระบาดใหญ่ทำให้เกิดกลิ่นเน่าเปื่อยของร่างกาย การสูดเข้าไปจะส่งผลต่อสุขภาพและเกิดการติดต่อของโรคได้ ความกลัวในกลิ่นที่เน่าเหม็นเป็นแรงผลักให้เกิดการควบคุมสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด (Vigarello, 1988: 149) ในขณะเดียวกับที่มีการนำกลิ่นหอมจากสมุนไพรมาใช้ในการรักษาและกลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไป แพทย์ที่ลงสนามต่อสู่กับโรคจะสวมชุดที่คลุมทั้งตัวไม่ให้กลิ่นเข้ามาและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หน้ากากถูกทำให้เป็นจงอยปากยาวแบบนกที่เต็มไปด้วยเครื่องสมุนไพรหอมที่อันแน่นไว้สำหรับสูดกลิ่นหอมเข้าไป (Finger, 2001: 177-180)

การเข้าถึงกลิ่นหอมเพื่อป้องกันโรคระบาดก็สร้างความแตกต่างทางชนชั้นได้อย่างชัดเจน น้ำหอมที่เข้าถึงมีราคาแพงในขณะเดียวกับที่ห้องอาบน้ำยังไม่ใช่สิ่งที่มีในทุกบ้าน การใช้ห้องน้ำตามโบสถ์หรือสถานที่สาธารณะก็เป็นสิ่งที่ผู้คนตื่นตระหนกและพยายามหลีกเลี่ยง สิ่งนี้ยิ่งชี้ให้เห็นว่ากลิ่นสร้างผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอย่างมาก

ภายหลังในช่วงศตวรรษที่ 19 กลิ่นกลายเป็นประเด็นที่ต้องถูกควบคุมและจัดการโดยรัฐ พื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะพื้นที่สำคัญสำหรับการรวมกลุ่ม เช่น โรงพยาบาล จะถูกควบคุมเป็นพิเศษ กลิ่นกลายเป็นเรื่องของสุขอนามัยและความสะอาดรวมเข้าด้วยกัน กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จะถูกควบคุมไม่ให้เล็ดลอดออกมาและขณะเดียวกันก็ปล่อยให้กลิ่นไม่น่าพึงประสงค์เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของความอันตรายและความไร้ระเบียบ เช่น ท่อระบายน้ำและชุมชนสลัม

สิ่งนี้แฝงมาด้วยอคติทางชนชั้นและชาติพันธุ์เนื่องจากกลิ่นถูกควบคุมโดยรัฐและชนชั้นนำของประเทศ การจัดระเบียบกลิ่นและความสะอาดยังสอดคล้องกับภาวะของความเป็นสมัยใหม่และความมีอารยะของสังคม เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิตแบบธรรมชาติ เช่นเดียวกับกลิ่นที่ออกมาจากร่างกายถือว่าเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์และเป็นสิ่งสกปรกในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมการอาบน้ำเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพื่อกลิ่นที่พึงประสงค์และร่างกายที่สะอาดจะต้องเข้าถึงผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย

ความสกปรกจากกลิ่นเหงื่อของร่างกายจะสัมพันธ์กับความยากจนและความเป็นแรงงานกรรมาชีพ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่กลุ่มของความเจ็บป่วยเนื่องจากมีกลิ่นที่สกปรกจากการทำงานหนัก (Vigarello, 1988: 149-150) ในแง่นี้การจัดระเบียบความสะอาดมาพร้อมกับการกีดกันทางสังคม กลิ่นที่ออกมาจากร่างกายกลายเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนถึงสถานะทางสังคม

บรรยากาศของกลิ่นที่ถูกจัดระเบียบในพื้นที่สาธารณะได้เคลื่อนตัวมาสู่การจัดการกลิ่นในบริบทร่วมสมัยผ่านการผลิตกลิ่นเทียมในสังคมของการบริโภคนิยม กลิ่นสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่กลายเป็นความหอมที่สร้างความสดชื่นและความสะอาดอย่างน่าหลงไหลที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นได้ระหว่างการเดินทางหรือระหว่างการไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ความสดชื่นของกลิ่นที่ถูกผลิตสร้างบรรยากาศแบบใหม่แก่ผู้มาเยือนให้รู้สึกน่าจดจำเช่นเดียวกับสถานที่พักผ่อนอย่างโรงแรมหรือร้านกาแฟ (Classen, Howes and Synnott, 1994)

ความรู้สึกที่เกิดจากการได้รับกลิ่นต่าง ๆ นั้น จึงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับระเบียบทางสังคม และวัฒนธรรม กลิ่นของบางสิ่งที่ได้เรารับ จะตีความไปถึงอีกสิ่งผ่านประสบกาณณ์ของมนุษย์ที่เอาร่างกายตัวเองไปอยู่บริบทต่าง ๆ การดมกลิ่นของมนุษย์ในสิ่งที่เคยดม ทำให้มนุษย์มีประสบการณ์ในสิ่ง ๆ นั้นต่างกัน หรือก็คือ ได้กลิ่นหนึ่งแล้วนึกถึงอีกสิ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยเมื่อเราเคยได้รับกลิ่นของเมืองรูปแบบหนึ่งที่เราเคยไปเยือนมา อาจจะมาจากอีกประเทศหนึ่ง พอเดินทางไปอีกประเทศหนึ่งจึงเกิดข้อเปรียบเทียบได้ว่า กลิ่นแบบไหนคือกลิ่นที่ทำให้เรารู้สึกชื่นชอบมากกว่า

เช่นเดียวกับการพัฒนาเมือง กลิ่นที่คนอาศัยในเมืองอยากจะได้รับ จึงไม่ใช่กลิ่นของควันดำของรถที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ กลิ่นริมคลองที่เหม็นเน่า กลิ่นของขยะเปียกตามทางเดิน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลิ่นที่สัมผัสในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น นั่นทำให้เรานึกถึงกลิ่นของเมืองที่อาจเรียกได้ว่า ‘กลิ่นของเมืองที่เจริญแล้ว’ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เราอยากสัมผัส แน่นอนว่าแต่ละคนอาจมีจินตนาการถึงกลิ่นนี้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน รวมถึงที่ที่แต่ละคนเคยไปมา

แม้ว่ากลิ่นของความเจริญที่แต่ละคนนึกถึงอาจไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะ ‘เปลี่ยนแปลง’ กลิ่นที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบางทีอาจสะท้อนไปถึงความไม่พอใจในกลิ่นบางอย่างที่มีอยู่ของเมือง ยิ่งผลการเลือกตั้ง 66 ที่ออกมา ยิ่งทำให้ผู้คนเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเมืองมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คำว่า “หอมกลิ่นความเจริญ” จะออกมาเต็มโซเชียล ซึ่งคำนี้ไม่ได้หมายความตรงตัวไปซะทีเดียวว่าเมืองจะออกมาในรูปแบบใด แต่ความหมายแฝงของคำนี้อาจหมายถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ครั้งสำคัญ ที่พอจะทำให้ผู้คนจินตนาการได้ว่า กลิ่นของเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน และเมืองที่พวกเขา (รวมถึงเรา) วาดฝันกำลังมาพร้อมกับกลิ่นใหม่ ๆ และการจัดระเบียบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างออกไปเช่นกัน

ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข ผู้เขียน

อ้างอิง

Beer, Bettina. (2014). Boholano Olfaction: Odor Terms, Categories, and Discourses. Senses &Society. 9(2), 151–73.
Classen, Constance, David Howes and Anthony Synnott, (1994). Aroma: The Cultural History of Smell. Routledge: New York.
Classen, Constance. (1997). Foundations for an Anthropology of the Senses. International Social Sciences Journal. 153, 401–412.
Csordas, Thomas J., ed. (1994). Embodiment and Experience: The Existential Ground of Culture and Self. Cambridge: Cambridge University Press.
Finger, Stanley. (2001). Origins of Neuroscience: A History of Explorations. In BrainFunction. Oxford UP.
Howes, David. (2005). Introduction and Forming Perceptions. In Empire of the Senses: The Sensory Culture Reader. Oxford: Berg.
Low, Kelvin E. Y. (2009). Scents and Scent-sibilities: Smell and Everyday Life Experiences. Newcastleupon Tyne: Cambridge Scholars.
Moeran, Brian. (2007). Marketing Scents and the Anthropology of Smell. Social Anthropology. 15(2),153–168.
Vigarello, Georges. (1988). Concepts of Cleanliness: Changing Attitudes in France since the MiddleAges. Cambridge: Cambridge University Press.

Related Posts

Send this to a friend