วงการเกมยุคใหม่ – ต้องให้ผู้พิการเล่นได้ ไม่ต่างกับคนอื่น

หลายปีที่ผ่านมา หลายๆบริษัทในวงการเกมโลกเริ่มตื่นตัว พัฒนาสิ่งใหม่ๆเพื่อให้ผู้พิการด้านต่างๆ เล่นเกมได้ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป หรือแตกต่างให้น้อยที่สุด
ผลดีข้อแรก ก็คือได้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขวางครอบคลุมขึ้น ผลดีข้อที่สอง คือบริษัทที่มีผลงานด้านนี้ ย่อมจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีว่ามีการใส่ใจสังคม และผลดีข้อที่สาม ก็คืออาจได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆที่ใช้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วย
นั่นเพราะบุคคลทั่วไปหลายคน อาจยังไม่ถึงขึ้นพิการ แต่ก็มีปัญหา เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น ปัญหาด้านการได้ยิน หรือปัญหาทางร่างกายบางส่วน เป็นต้น
การตื่นตัวของวงการเกมโลกที่ว่านี้ เห็นได้จากทั้งการที่บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์เกมต่างๆ เพิ่ม “ตัวช่วย” ภาพและเสียงแบบพิเศษสำหรับผู้พิการ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเมนู “Accessability”
นอกจากนั้น ยังมาจากทั้งการที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อุปกรณ์เล่นเกม เช่นปุ่ม(จอยฯ)ต่างๆ ที่ออกแบบผลิตรุ่นพิเศษสำหรับผู้พิการ, …
และยังมีบริษัทต่างๆตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาเกมใหม่เพื่อผู้พิการ, และการที่ผู้จัดแข่งขันอีสปอร์ตเริ่มจัดการแข่งเกมสำหรับผู้พิการเท่านั้นแล้วด้วย

เกมเดิมๆ เพิ่มภาพและเสียงแบบพิเศษเพื่อผู้พิการ
การเพิ่ม “ตัวช่วย” พิเศษสำหรับผู้พิการในเกมต่างๆนั้น โดยรวมแล้วแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือเพื่อผู้พิการทางสายตา, เพื่อผู้พิการทางการได้ยิน, และผู้พิการทางร่างกาย
ตัวอย่างสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือมีปัญหาการมองเห็น ก็เช่น…
– เมื่อใดที่มีตัวอักษรบนหน้าจอ ก็จะมีการเพิ่มเสียงอ่านเข้าไปด้วย (Text-to-Speech)
– คำบรรยายใหญ่ขึ้น และซูมเข้าออกได้
– แยกความแตกต่างระหว่างตัวที่ผู้เล่นควบคุมอยู่ กับศัตรู ให้ชัดเจนขึ้น
– มีเสียงช่วยบอกทาง สำหรับเกมที่มีแผนที่ หรือมีเส้นทางหลากหลายซับซ้อน
– มีระบบช่วยเล็งเป้าหมายอัตโนมัติ
– ฯลฯ
ตัวอย่างสำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ก็เช่น…
– เมื่อใดที่มีเสียง จะมีคำบรรยายในจอ
– ใช้สัญญาณเตือนแทนเสียงพูด ซึ่งช่วยให้แยกแยะได้ง่ายกว่า
– ใช้การสั่นสะเทือนที่ปุ่มแทนเสียง ( ต้องใช้จอยคอนโทรลเลอร์แบบพิเศษ หรือคีย์บอร์ดที่รองรับการสั่นด้วย )
และตัวอย่างสำหรับผู้พิการทางร่างกาย เช่น…
– ระบบช่วยล็อคเป้าหมายอัตโนมัติ ช่วยให้ยิงง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้นิ้วและมือ
– ระบบสลับอาวุธอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้นิ้วและมือ
– ทุกปุ่มเป็นแบบสัมผัส ไม่ต้องออกแรงกด
– ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ ต้องสามารถช่วยให้ผู้พิการ ไม่ว่าด้านใดๆ สามารถเล่นเกมนั้นๆได้ครบทุกฉาก สามารถเล่นจนจบ และสามารถเล่นแข่งขันกับคนทั่วไปได้ด้วย ไม่ใช่ได้แค่ลองเล่นสนุกๆบางฉาก และไม่ใช่แค่เล่นกับผู้พิการด้านเดียวกันเท่านั้น
ตัวอย่างชื่อเกมที่มีโหมดตัวช่วยพิเศษเหล่านี้แล้ว ก็เช่น “The Last of Us Part 2” , “League of Legends”, “Street Fighter V”, FIFA, … และอีกหลายๆเกม

อุปกรณ์การเล่นเพื่อผู้พิการ
ปุ่ม “จอยเกม” เพื่อผู้พิการนั้น มีทั้งแบบที่ใช้ปุ่มใหญ่ ใช้แขนกดได้ง่ายโดยไม่ต้องมีมือและนิ้ว ใช้ข้อศอกหรือข้อแขนแทนได้, รองรับการสัมผัสโดยไม่ต้องออกแรงกด, ฯลฯ
ตัวอย่างเช่นจอยเกมของบริษัท Microsoft ที่มีชื่อว่า “Xbox Adaptive Controller” ซึ่งทางบริษัทร่วมออกแบบกับองค์กรต่างๆเช่น มูลนิธิโรคอัมพาตสมอง, โรงพยาบาล, ฯลฯ …เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้พิการในแง่ดีไซน์และการใช้งานจริง
ดีไซน์ของอุปกรณ์นี้ เป็นแท่นขนาดใหญ่ คล้ายเครื่องเล่นแผ่นเสียงของดีเจตามคลับ มีปุ่มกดขนาดใหญ่ที่ตั้งค่าได้หลากหลายเพื่อผู้พิการแบบต่างๆ
ซึ่งเครื่อง Xbox รุ่นใหม่ จะมีเมนู “Ease of Access” (ใช้แทนคำว่า Accesability) ซึ่งมีฟีเจอร์ต่างๆเช่น”Game and Chat Transcription” ใช้แปลงเสียงเป็นข้อความ และแปลงสลับกันได้
ประโยชน์ก็คือช่วยให้ผู้พิการสามารถพูดคุยออนไลน์กับผู้เล่นคนอื่นๆระหว่างเล่นเกม ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป
ฟีเจอร์นี้ จะเป็นตัวช่วยแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ (speech-to-text) เพื่อให้ผู้มีปัญหาในการได้ยินสามารถรับรู้เสียงพูดจากเกมได้ … และยังสามารถสร้างเสียงพูดสังเคราะห์ จากตัวอักษรข้อความบนจอแชทด้วย
ทุนสร้างเกมใหม่ๆเพื่อผู้พิการ
แค่เกมเดิมๆเพิ่มโหมดผู้พิการเท่านั้นก้ยังไม่พอ แต่โลกยังต้องการเกมใหม่ๆเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งบริษัทองค์กรต่างๆก็เริ่มก่อตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกันบ้างแล้ว
ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่ได้ตั้งโครงการใหม่ เปิดกว้างให้นักพัฒนาเกมทั่วไป ทั้งจากบริษัทอื่นๆ และนักพัฒนาอิสระจากทั่วโลก เข้าไปร่วมพัฒนาและทดสอบเกมเพื่อผู้พิการได้
นอกจากเงินทุนแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้ข้อมูลว่าผู้พิการมีอุปสรรคใดบ้างในการเล่นเกม และได้ร่วมเรียนรู้แนวทางพัฒนาเกมเพื่อผู้พิการแบบต่างๆ … และจะมีกลุ่มผู้พิการช่วยทดสอบเกมให้ด้วย

การจัดแข่งเกม ( e-sport ) สำหรับผู้พิการ
หลายปีหลังนี้ การแข่งเกมแบบจริงจังถูกเรียกว่า e-sport และจัดแข่งขันกันมากมาย และกระแสนี้ก็ถูกขยายไปครอบคลุมผู้พิการด้วย
ตัวอย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีการจัดแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับผู้พิการเป็นครั้งแรกของโลกในปี 2019 ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเยน ซึ่งผู้ที่จะลงสมัครแข่งขัน ต้องเป็นผู้พิการเท่านั้น ซึ่งต้องมีใบรับรองจากทางการด้วย
ชื่องานคือ “1st eSports Event for Disabled in 2019 GUNMA” จัดโดยสมาคม Gunma eSports Association ในจังหวัด Gunma ร่วมกับบริษัท ONELIFE.inc ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้พิการในญี่ปุ่น
เกมที่ใช้ในงานนั้น คือ “League of Legends” และยังมีกิจกรรมอื่นๆนอกจากการแข่งขันด้วย แนะนำวิธีเล่นเกมต่างๆสำหรับเกมเมอร์มือใหม่ซึ่งเป็นผู้พิการด้วย
และหลังจากนั้นยังมีงานอื่นๆตามมา เช่นล่าสุดเดือนที่แล้ว เมษายน 2022 ที่มีการจัดแข่ง Street Fighter V ซึ่งเป็นเกมแนวต่อสู้ โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 6 คนนั้นตาบอดทุกคน
งานนี้จัดโดยบริษัท ePARA ซึ่งเป็นผู้จัดแข่งขันเกม eSports ที่เน้นการแข่งขันเกมสำหรับผู้พิการในประเทศญี่ปุ่น
ส่วนในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น ก็มีการจัดแข่งเกมแนวดนตรีหลายๆงาน ซึ่งเป็นเกมที่เน้นที่ผู้เข้าแข่งตาบอดจะใช้วิธีจับจังหวะเสียง
…
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ ถือว่าสร้างสรรค์และเป็นที่ต้องการทั่วโลก ซึ่งหลายๆอย่างก็น่าจะมีบริษัทองค์กรไทยจัดขึ้นบ้าง เพื่อเป็นหนึ่งในความพยายามสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในบ้านเราต่อไป
แหล่งข้อมูล
gamesradar.com/microsoft-launches-adaptive-accessories-for-people-with-disabilities
bbc.com/news/newsbeat-56577024
engadget.com/microsoft-accessibility-testing-program-220057370.html
thenextweb.com/gaming/2018/05/17/microsoft-unveils-its-clever-new-xbox-adaptive-controller-for-gamers-with-disabilities
news.xbox.com/en-us/2021/05/12/introducing-party-chat-speech-transcription-and-synthesis