‘อนุทิน’ ประชุม “สมัชชาอนามัยโลก” หนุนการสร้างความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข
‘อนุทิน’ ประชุม “สมัชชาอนามัยโลก” หนุนการสร้างความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข ขอนานาชาติ ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่สงคราม ชี้ การสู้รบ ทำลายสันติ ระบบสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly : WHA) สมัยที่ 75 ระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤษภาคม ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ในระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม โดยในวันนี้ นายอนุทิน ได้กล่าวถ้อยแถลง ต่อที่ประชุม ภายใต้หัวข้อ การสาธารณสุข เพื่อสร้างสันติภาพ (Health for Peace, Peace for Health) ระบุว่า
สุขภาพที่ดีคือความมั่งคั่งที่แท้จริง เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง เมื่อคนเจ็บป่วยเราจะไม่มีความสุข นี่คือ อุปสรรค ในการสร้างสันติภาพ แน่นอนว่า ความร่วมมือและความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนมีสุขภาพที่ดี จากมุมมองของประเทศไทย เราภูมิใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง
หลักประกันสุขภาพฯของไทยได้พิสูจน์แล้วว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข เราสามารถดูแลทุกคนได้อย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมแห่งสันติสุข เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราใช้การสาธารณสุข เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความเสมอภาค สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจริง ในประเทศไทย
ล่าสุด กับการรับมือโควิด-19 เราได้จัดให้มีสวัสดิการที่จำเป็น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อควบคุมการระบาด อาทิ การตรวจ การรักษา และการรับวัคซีนโควิดผ่านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นชาวไทยหรือต่างชาติ เราเดินตามแนวทางนี้และเชื่อว่า “ไม่มีใครจะปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังคาดหวังจะเห็นการตอบรับว่าด้วยสนธิสัญญา จัดการโรคระบาดในปี 2024 ซึ่งจะทำให้แน่ใจได้ว่าโลกจะมีความมั่นคงทางสุขภาพสำหรับทุกคน
นอกจากนี้ ถึงเวลาที่เรา ต้องให้ความสำคัญ และตระหนักถึงการควบคุมดูแลพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขอนามัย อาทิ การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์ และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัญหาหลักด้านสุขภาพของประชาชน ตนเห็นด้วยกับท่าทีของ ผอ.องค์การอนามัยโลก ในการสนับสนุนแคมเปญส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน ควบคู่กับการป้องกันโรค
ชัดเจนว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตของโลก โลกจะรับมือได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราร่วมมือกันได้มากเพียงใด โดย ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนเมื่อสัปดาห์ก่อน ประเทศไทยได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก ให้ก่อตั้งศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ศูนย์นี้จะเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคของเราในการรับมือกับความท้าทายทางสาธารณสุขในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่น่ายิน ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกัน
ในระดับนานาชาติ สงครามเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพและสุขภาวะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรามีความห่วงใยในวิกฤตทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภัยสงคราม ทั้งปัญหาทางร่างกายและจิตใจ จึงขอเรียกร้องในที่ประชุมนี้ ให้ร่วมมือกันสนับสนุนการสาธารณสุขที่ยั่งยืนให้กับเพื่อนผู้โชคร้ายของเราที่ต้องจากบ้านเพราะภัยสงคราม การขาดหายไปของสันติภาพคืออุปสรรคของการมีสุขภาพที่ดี มีเพียงความร่วมมือของเราเท่านั้นที่จะเปลี่ยนความเศร้าโศกให้กลายเป็นความหวังได้
เป้าหมายทางสุขภาพของเรานั้นอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ทำสงคราม ทั้งหมด เพื่อให้เราอยู่อย่างมีความสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน ขอย้ำว่า เรื่องความสงบสุขและเรื่องสุขภาพ ทั้ง 2 ต้องมาคู่กัน เราไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับ สำหรับการประชุม ประชุมสมัชชาอนามัยโลก จะเป็นโอกาสที่ผู้แทนประเทศสมาชิกจะได้หารือแลกเปลี่ยนในวาระสำคัญด้านสุขภาพ และสาธารณสุข ที่รองนายกรัฐมนตรีจะได้หารือในเรื่องการเข้าร่วม BIOHUB ไปจนถึงการขับเคลื่อนสนธิสัญญา เพื่อการควบคุมโรคระบาด และนำเสนอผลสรุปจากกิจกรรมการประเมินสถานการณ์การรับมือกับโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่ง WHO ได้เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบ ลำดับที่ 3 และในโอกาสนี้ นายอนุทิน จะได้กล่าวแสดงท่าทีในนามของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวาระการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกในวันที่ 24 พฤษภาคม
ระหว่างการประชุม จะมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบังกลาเทศ มาเลเซีย คาซัคสถาน และเนปาล เพื่อกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกัน รวมทั้งพบหารือ กับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหารือการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกโดยเฉพาะประเด็นที่ประเทศไทยเข้าร่วมและได้รับการสนับสนุน
ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาอนามัยโลก จัดขึ้นเป็นประจำในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญด้านสุขภาพ โดยมีประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกทั้ง 194 ประเทศเข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิกมาร่วมประชุมแบบพบหน้ากัน หลังจากที่มีการจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา