FEATURE

เทคนิคหยุดพฤติกรรม ‘นักดอง’ หลังซื้อหนังสือมา ‘กองรอ’

เพียงแค่เปิดอ่านเท่ากับเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นการเปลี่ยนพฤติกรรมกองดอง หรือกองไว้รออ่านจึงเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว เพียงแค่จัดคิววันว่างสำหรับหนังสือเล่มโปรดของคุณ ที่ไม่เพียงแค่ปลูกฝังการอ่านให้ติดตัว แต่ยังช่วยลดสะสมตำรับตำรา ให้กับคนรักหนังสือ ที่เน้นซื้อแต่ไม่เน้นอ่านได้เป็นอย่างดี เพราะหากซื้อมาเก็บแต่ไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่าน นั่นเท่ากับว่าคุณได้ฝากความรู้ เอาไว้ในอนาคตอย่างน่าเสียดาย และอย่าลืมว่าหนังสือที่เลือกมานั้น ย่อมเป็นเรื่องโปรดที่หลายคนหมายตาเอาไว้ ที่สำคัญการอ่านยังเป็นการพัฒนาตัวตน และทักษะกระบวนความรู้ให้แตกฉาน อีกทั้งเพิ่มพูนสติปัญญาความฉลาด และความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ ล่าสุดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 51 กลับมาจัดอีกครั้ง และมีหนังสือดีน่าอ่านหลากหลายแนว ให้เลือกช้อปปิ้งกันจนถึงเที่ยงคืน โดยเฉพาะช่วง 3 วันแรกที่เริ่มเปิดงาน หลายคนที่ช้อปปิ้งหนังสือดีมาหลายเล่ม รวมถึงยังมีนิยายเล่มโปรด ที่ยังอ่านไม่หมดจากครั้งก่อนนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้
 
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “อ.สุจิตร สุวภาพ” เลขานุการ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตารางในการอ่านหนังสือ ให้กับเด็กและเยาวชน ที่มีหนังสือล้นตู้โดยที่ยังไม่ได้เปิดงาน และหนังสือที่พึ่งซื้อมาล่าสุด เพื่อลดการกองดอง หรือกองไว้รออ่านของเยาวชนยุคใหม่ ดังนั้นการฝึกการอ่านให้เป็นนิสัย ด้วยการจัดตารางอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 1 วัน หรือแม้แต่การอ่านหนังสือก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ไม่เพียงช่วยเติมความรู้ แต่ยังหนังสือ 1 เล่มยังฝึกนิสัยการออม และการรู้จักตัดสินใจด้วยตัวเองให้กับเด็กๆได้เช่นกัน


 อ.สุจิตร กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้วการซื้อหนังสือสักเล่มนั้น ต้องเริ่มมาจากความชอบของแต่ละคน ดังนั้นคนที่ซื้อหนังสือมาแล้ว แต่ไม่มีเวลาอ่าน เนื่องจากมีงานหรือภารกิจต่างๆที่ต้องทำ ทั้งนี้มีวิธีที่ง่ายนิดเดียวที่ทำให้เรา ไม่ต้องกองหนังสือไว้รออ่าน ด้วย “การจัดคิวหรือจัดตารางการอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 1 วัน” เช่นในช่วงปิดเทอมนี้เด็กๆจัดคิวให้วันทุกๆวันอังคาร เป็นวันอ่านหนังสือ หรือคนทำงานที่หยุดวันเสาร์และอาทิตย์ ก็สามารถจัดตารางวันเสาร์ เป็นวันอ่านหนังสือเป็นต้น พูดง่ายๆว่าอย่างน้อย 1 วันในหนึ่งสัปดาห์ ก็ควรหาเวลาว่างเพื่ออ่านหนังสือ หรือใช้เทคนิค “การอ่านหนังสือก่อนนอนทุกวันวันละ 1 ชั่วโมง” ก็เป็นการฝึกนิสัยการอ่านให้เกิดความเคยชิน เพราะบางคนถ้าไม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ก็จะมักนอนไม่หลับ

“โดยส่วนตัว อ.สุจิตรเอง ก็เลือกอ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน และเวลาที่เราอ่านหนังสือก่อนนอน ทำให้นอนหลับสบายมากขึ้นค่ะ หรือบางคนจะใช้เทคนิค “การอ่านหนังสือตอนเช้าวันละ 30 นาที ก่อนออกไปทำงาน” ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยสร้างพฤติกรรมการอ่านให้กับเด็กๆ และคนรักการอ่านทุกวัยได้อย่างง่ายๆค่ะ แต่ทั้งนี้เราจะต้องทำให้เป็นแพทเทิร์น หรือเป็นนิสัยเป็นประจำทุกวันค่ะ หรือใช้เทคนิคของคนสมัยก่อนที่รักการอ่านแต่มีทุนทรัพย์น้อย เช่น “การอ่านหนังสือพิมพ์จากถุงกล้วยแขก” หรือ “อ่านป้ายฉลากบอกปริมาณโภชนาการอาหารข้างถุงขนม” และคำเตือนในการกินขนมต่างๆ ซึ่งเทคนิคเล็กๆน้อยเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้ดีค่ะ”

อ่านหนังสือที่อยู่ในกระแส หรือหนังสือที่กำลังนิยม ช่วยกระตุ้นการอ่านและลดพฤติกรรมกองดองได้หรือไหม?

อันที่จริงแล้วการอ่านหนังสือที่อยู่ในกระแส หรืออยู่ในความนิยมต่างๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นการอ่าน หนังสือทั้งหมด ที่เราซื้อมาเก็บสะสมไว้ได้ เพียงแต่ว่าคนที่อ่านหนังสือ ที่เป็นเล่มดังๆและเป็นสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้น จะทำให้ผู้อ่านอินเทรนด์ ยกตัวอย่างเด็กยุคนี้ชอบเพลงทรงอย่างแบด ดังนั้นถ้าเด็กฟังเพลงนี้ เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในกระแสฮิต ซึ่งการอ่านหนังสือก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นการอ่านได้ดี นอกจากเทคนิคจัดเวลาอ่านที่กล่าวมาแล้วนั้น การอ่านในสิ่งที่ชอบย่อมเป็นสิ่ง สร้างแรงจูงใจการอ่านของน้องๆได้ดีที่สุด โดยที่ไม่ทิ้งหนังสือเล่มไหนไว้ข้างหลัง เพราะความชอบของแต่ละคนนั้นต่างกัน เช่น บางคนชอบอ่านนิยายหวานแหว๋ว แต่บางคนชอบอ่านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหา ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้อ่านแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญพ่อแม่ควรปลูกฝัง วินัยการอ่านตั้งแต่เด็กและอ่านอย่างสม่ำเสมอให้กับลูกๆค่ะ

เลือกหนังสือดีแม้มีงบน้อย ช่วยเด็กเรียนรู้โลกรอบตัวได้ผ่านการอ่าน

เด็กๆหลายที่มีเงินเพียง 500 บาทในการซื้อหนังสือนั้น แน่นอนว่าเด็กวัยประถมศึกษา ก็ต้องซื้อหนังสือการ์ตูนเป็นธรรมดาค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกจริตเด็ก แต่ทั้งนี้ในเด็กวัยประถมฯและมัธยมฯนั้น หนังสือที่อยากแนะนำให้เด็กวัยนี้ซื้อมาอ่าน เพื่อให้คุ้มค่ากับเงิน 500 บาทนั้น คือหนังสือที่ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น หนังสือดีเด่นประจำปี ที่ได้รางวัลจาก สพฐ.ซึ่งมีให้เลือกหลายแนว และยังแบ่งตามกลุ่มอายุของเด็กๆอีกด้วย มีทั้งกลุ่มบันเทิงคดี, การ์ตูนสอดแทรกความรู้ต่างๆ เรื่องสั้น, นิยายภาพ, หนังสือสวยงาม, สารคดี, กวีนิพนธ์ รวมถึงหนังสือวรรณกรรมเยาวชน ที่ได้รับรางวัลแว่นแก้ว ซึ่งข้อดีของหนังสือที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ ได้รับการคัดกรองแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน และยังมีความรู้สอดแทรกอีกด้วย เช่น หนังสือดีเด่น ที่ได้รางวัลจาก สพฐ.ในปี 2566 นี้มีอยู่ 1 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ ก็ทำให้เด็กๆที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ ของคนภาคใต้ผ่านหนังสือค่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการอ่านหนังสือที่ได้รับรางวัล และผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับเด็กๆรักการอ่านค่ะ


เปลี่ยนหนังสือที่อ่านแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีคำแนะนำมาบอกนักอ่านเลือกตัดสินใจ

วิธีการจัดการกับหนังสือที่อ่านแล้วอย่างไรนั้น อันที่จริงมีอยู่หลายวิธี เช่น บางคนที่ซื้อหนังสือมาเก็บสะสมไว้จำนวนมาก และนานเกินกว่า 5 ปี ที่สำคัญไม่คิดที่จะหยิบขึ้นมาอ่าน ก็แนะนำให้นำไปบริจาค ให้กับห้องสมุดตามชุมชนต่างๆที่ขาดแคลนหนังสือ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนรักหนังสือจริงๆนั้น บางคนอ่านหนังสือเล่มเดียวถึง 2 ครั้ง ซึ่งอันควรเก็บรักษาหนังสือนั้นไว้ แต่คนไหนที่ไม่ชอบการสะสมหนังสือ แต่ชอบอ่านหนังสือ และชอบที่จะซื้อหนังสือทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น งานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น ก็แนะนำว่าสามารถนำมาจำหน่าย เป็นหนังสือมือสองที่มีราคาย่อมเยา เช่น หากซื้อหนังสือการ์ตูนมาเล่มละ 10 บาท ก็สามารถขายในราคา 8 บาทเป็นต้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อหนังสือใหม่มาอ่านอีกครั้งค่ะ ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละคนค่ะ

“ข้อดีอีกอย่างของการอ่านหนังสือนั้น ขอยกตัวอย่างหลานๆของ อ.สุจิตรเอง ที่เด็กๆเก็บออมเงิน และนำไปซื้อหนังสือประกอบการเรียนการสอน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนังสือที่จะช่วยให้หลานมีความรู้เพิ่มในวิชาที่สนใจ ซึ่งไม่ใช่หนังสือการ์ตูน เพราะเด็กๆขาดความรู้ในเรื่องเหล่านั้น ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ของหลานไม่รู้ ดังนั้นจึงคิดว่าข้อดีของการอ่านหนังสือนั้น คือการที่เด็กรู้จักการเก็บออมเงิน เพื่อซื้อหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งตรงนี้ทำให้เด็กรู้จักการครีเอทและตัดสินใจ โดยเลือกซื้อหนังสือที่เป็นประโยชน์กับตัวเองค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend