FEATURE

หลักธรรมะสอนใจฉบับเข้าใจง่าย ช่วยหนุ่มสาวยุคออนไลน์ รับมือภัยโซเชียลอย่างรู้เท่าทัน

ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิดเสมอไป สำหรับธรรมะกับไลฟ์สไตล์ยุคโซเชียล ที่ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว อีกนัยหนึ่งคือสุขเร็วและทุกข์เร็วเช่นเดียวกัน แม้ข้อดีของโซเชียลมีให้เห็นกันอยู่ไม่น้อย แต่ข้อเสียก็เป็นข่าวอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์ และใช้โซลเชียลเพื่อหลอกให้รักและร่วมลงทุน ก่อนเชิดเงินหนีหาย กระทั่งล่าสุดแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ที่ส่งลิงค์ปลอม เพื่อหลอกให้เหยื่อดีใจว่าได้ของแจกของแถมฟรี กระทั่งเหยื่อคลิกติดตั้งแอพพลิเคชั่น และถูกดูดเงินออกจากบัญชี หรือแม้แต่การหลงเชื่อการลงทุนในออนไลน์ ที่เป็นสาเหตุให้เด็กวัยรุ่นคิดสั้น เพราะถูกโกงเงินจากการถูกหลอกให้เล่นแชร์ลูกโซ่ โดยถูกชักชวนจากหญิงสาวรายหนึ่ง ที่รู้จักผ่านแอพพลิเคชั่นแชทชื่อดัง ทั้งนี้การตั้งรับกับภัยจากโซเชียล ที่พบเห็นรายวันนั้น จะช่วยให้เราแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีสติ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข หรือ “อยู่เป็น” ในยุคออนไลน์ที่มีภัยอยู่รอบตัวก็ว่าได้

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน” นายกสมาคม สถาบันแม่ชีไทย ให้ข้อคิดเกี่ยวกับหลักธรรมะ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ถือได้ว่า เป็นเจ้าของโลกออนไลน์ตัวจริงเสียงจริง สามารถใช้งานและรับมือกับภัย หรือพลังงานลบที่มากับโลกโซเชียลได้ ผ่านหลักธรรมะสอนใจที่สั้นแต่แฝงคิดชีวิตไว้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นวัยเรียน วัยทำงาน หรือวัยผู้ใหญ่ ที่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโซเชียลได้อย่างรู้เท่าทัน

แม่ชีประทิน ให้ข้อมูลว่า “หลักธรรมะที่จะใช้จริงและใช้ได้อยู่เสมอนั้น คือการ “มีสติสัมปชัญญะ”ซึ่ง “สติ” แปลว่าการระลึกได้ และ “สัมปชัญญะ” คือการู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำอะไร ทั้งนี้หลักธรรมะดังกล่าวนั้นมันจะช่วยเราได้ หรือแสดงให้รู้ว่าเราทำถูกหรือทำผิด ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเหตุผลหรือไม่ เวลาที่จะทำอะไรก็ตาม หรือมีสติรู้ตัวแค่ไหนที่จะทำอะไร และเมื่อเรามีสติเราก็จะรู้ว่าถ้าทำสิ่งใดๆลงไปแล้ว ผลที่ตามมนั้นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นที่มาของหลักธรรมะที่ว่าการมีสติสัมปชัญญะ จะช่วยให้เรารู้แจ้งและเข้าใจลึกซึ้ง ในเรื่องที่จะทำและผลที่จะตามมา”

“สติสัมปชัญญะ” ธรรมะกรองภัย มิจฉาชีพหลอกให้รักหลอกให้สูญเงิน

“ผู้ใหญ่ที่ถูกหลอกให้รักในโลกออนไลน์ และทำให้บางรายต้องเสียเงินไปเรื่องนี้ การที่เราจะตัดสินใจทำอะไร ก็อย่าตัดสินใจเร็วเกินไป เพราะมันจะทำให้เราขาดสติ และขาดความรู้พร้อม เมื่อไรก็ตามที่เราได้ฟังอะไรมา หรือเห็นอะไรที่คนอื่นบอก ก็ให้รับฟังอย่างพิจารณา ในฐานะที่เราอายุมากแล้ว และไม่ว่องไวเหมือนกับเด็ก ที่คิดจะทำอะไรไม่ว่าจะเรียนหรือทำงาน ก็ทำได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นคนที่เริ่มมีอายุมากก็จะไม่ทันเด็ก หรือผู้ที่อายุน้อยกว่า”

“ดังนั้นเมื่อได้ยินอะไรมาก็รับฟังด้วยความเรียบเฉย อย่าพึ่งตกลงใจกับอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก หรือการลงทุนทำธุรกิจ คนวัยนี้จำเป็นต้องใช้เวลา ในการไตร่ตรองเสียก่อน เพราะอย่าลืมว่าโลกของเราคือโลกของคนแก่ แต่โลกยุคโซเชียลนั้นเป็นของเด็กสมัยใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลในเรื่องที่เราไม่รู้ หรือปรึกษาผู้ที่มีความรู้ เพื่อน หรือลูกหลานที่มีความรู้ด้านโซเชียลก่อน เพื่อที่เราจะได้รู้จักการป้องกันตัวเอง ที่สำคัญความรักในโลกออนไลน์นั้น มันมาเร็วไปเร็ว หรือรักเร็วก็ทุกข์เร็ว มันไม่ได้สุขสมหวังอย่างที่คิดเสมอไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้สติสัมปชัญญะ ในการไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ”

“ความโลภเป็นบ่อเกิดความหายนะ” ธรรมะสอนลูกหลานวัยเรียน รับมือภัยโซเชียล

“ธรรมะที่จะช่วยป้องกันภัยให้กับเด็กๆได้ดีที่สุด คือความไม่โลภไม่อยากได้อยากมีของใคร ไม่ว่าใครจะชวนทำอะไรก็ตาม เพราะเราเป็นเด็ก ยังมีความคิดที่ไม่รู้เท่าทันผู้อื่น หรือผู้ที่มีอายุมากกว่าเรา ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้จัก หรือรู้สึกว่าไม่น่าไว้วางใจ ก็อย่าไปสื่อสารกับเขาไม่ว่าจะทางใด ที่สำคัญการเล่นการพนันทุกชนิดนั้น มันจะเสียมากกว่าได้ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเด็กๆ ควรปรึกษาผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ที่มีประสบการณ์มากกว่า สำหรับเด็กคนไหนที่แอบซ่อนพ่อแม่ เล่นโซเชียลโดยที่ไม่ให้ท่านรู้”

“สิ่งสำคัญที่สุดนั้น พ่อแม่จะต้องรู้จักฟังลูกด้วยเหตุผล และต้องคอยหมั่นสอดส่องลูกหลาน ว่ามีสิ่งที่ผิดปกติไปหรือไม่ เช่น ถ้าเห็นว่าลูกมีอาการผิดปกติซึมเศร้าเหงางอย ก็ให้ถามลูกด้วยความรักและรับฟังเขาด้วยความเข้าใจ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่รักลูกมาก จนมองไม่เห็นความผิดปกติของลูก แต่ทั้งคนใกล้ชิดเด็ก เช่น พี่ป้าน้าอาก็สามารถที่จะช่วยสอดส่อง พฤติกรรมเด็กได้เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้เตือนลูกหลาน ที่สำคัญเด็กๆเยาวชนนั้น เมื่อมีปัญหาหรือคิดจะทำสิ่งต่างๆ ควรปรึกษาพ่อแม่ก่อน ว่าเราทำอย่างนี้ได้หรือไม่ หรือทำไม่ได้เพราะอะไร ดังนั้นการเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ จึงจำเป็นอย่างมากในยุคไลน์ เนื่องพ่อแม่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กๆ และนำมาซึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้ แม้ว่าจะไม่เชี่ยวชาญ ทางด้านออนไลน์เท่ากับวัยเด็กก็ตาม”

“สันโดษ” และยินดีในฐานะตัวเอง ธรรมะวัยเรียนของเด็กมหา’ลัย “สำหรับเด็กวัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่ขาดแคลนเรื่องเงินทองนั้น อย่างแรกเราต้องคิดว่าฐานะทางบ้านในขณะนี้เราสามารถเรียนต่อได้ไหม ทั้งนี้หากตัดสินใจว่าอยากจะเรียนต่อ แต่เรื่องการเงินนั้นยังไม่สะดวกหรือพ่อแม่ยังไม่พร้อม ก็แนะนำให้หยุดเรียนไปก่อน เพื่อไปทำงานและเก็บเงินมาเรียนในภายหลัง ทั้งนี้งานที่เราจะทำนั้นก็ต้องเหมาะกับความรู้ที่เรามีอยู่ มีความรู้แค่ไหนก็ทำงานในระดับนั้น เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงค่อยกลับมาเรียนในสาขาวิชาที่เราสนใจ เพราะอันที่จริงแล้วการทำงานก็เหมือนกับการเรียน และไม่ใช่ว่าผู้ที่เรียนจบระดับสูง จะประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป แต่คนที่เรียนน้อยหรือจบไม่สูง ก็สามารถร่ำรวยได้หากมีความพยายามและอดทน ดังนั้นการที่เด็กวัยเรียน รู้จักยินดีในฐานะตัวเอง หรือในที่นี้คือการรู้จักความสันโดษ หรือเรียนเท่าที่เรามีเงินก่อน หรือถ้ายังไม่มีเงินพอ ก็หยุดพักไปทำงานที่เราถนัด เพื่อหาเงินเป็นทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ และค่อยกลับมาเรียนต่ออีกครั้ง ก็เป็นธรรมะที่เด็กๆสามารถเก็บไปคิดเป็นข้อเตือนใจ และเป็นพลังใจในการสานต่อ ในสิ่งที่ตั้งไว้จนสำเร็จ เพราะสุดท้ายไม่มีใครแก่เกินเรียนค่ะ”

นักศึกษาเครียดเรียนยาก เป็นสาเหตุโรคซึมเศร้าในวัยเรียน “วิริยะ” ธรรมะจากหลักคำสอนอิธิบาท 4 ความเพียรเป็นบ่อเกิดของความสำเร็จ

“เมื่อไรที่เรารู้สึกเครียดในการเรียน และมักบอกกับตัวเองมันยาก แต่ถ้าเราหมั่นอ่านเรื่องที่เราไม่เข้าใจบ่อยๆ หรืออ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยพยายามทำความเข้าใจทีละเรื่อง และหมั่นทบทวนซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆครั้ง สุดท้ายเราจะทำได้ในที่สุด และจะผ่านมันไปได้ แต่เมื่อไรที่เราคิดลวกๆหรืออ่านลวกๆ เช่น ถ้าไม่เข้าใจเรื่องไหนก็ไม่อ่านหนังสือ เมื่อไม่อ่านหนังสือก็ทำสอบไม่ได้ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกหลัก เพราะอันที่จริงแล้วถ้าเราไม่เข้าใจตรงไหน ก็ยิ่งต้องอ่านซ้ำไปมาหลายๆรอบจนเกิดความกระจ่าง ซึ่งจะตรงกับธรรมะจากอิทธิบาท 4 หรือ “วิริยะ” หรือความเพียรพยายาม จนกระทั่งรู้แจ้งในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ทั้งนี้เมื่อเรารู้แจ้งในสิ่งที่ควรรู้แล้ว ความเครียดในการเรียนก็จะไม่เกิด และปัญหาสุขภาพอื่นๆก็จะลดน้อยลง เพราะถ้าเราติดขัดไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ยิ่งต้องพยายามทำความเข้าใจเรื่องเดิมซ้ำๆ จนเกิดความรู้แจ้งแท้ เพราะวิชาความรู้มีไว้ให้ศึกษา”

คนใช้โซเชียลไปในทางลบหนีไม่พ้น หลักธรรมะ “ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว”

“ผู้ที่ใช้โซเชียลไปในทางลบ และส่งผลกระทบต่อผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น ผู้ที่ทำอย่างนี้ถือว่าเป็นกรรมหนัก คิดอย่างง่ายๆว่าถ้าวันหนึ่งเราหลอกเขา สักวันหนึ่งก็ต้องมีคนมาหลอกเราเช่นกัน เป็นต้นว่าถ้าใช้โซเชียลเพื่อโกงเงินผู้อื่น สุดท้ายแล้วก็จะต้องถูกโกงเงินอีกทอดหนึ่ง และชีวิตก็จะหาความสุขได้ยาก เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าทำผิดศีล 5 เมื่อคนทำผิดศีล 5 ก็ย่อมเป็นทุกข์ในภายหลังได้ โดยเฉพาะทุกข์ที่เป็นฝ่ายหยิบยื่นให้ผู้อื่น แต่เมื่อไรที่คนมีธรรมะ หรือใช้โซเชียลในทางที่ถูกที่ควร ก็ย่อมหาความสุขความสบายใจ และความพอดีในชีวิตได้ง่าย เพราะโซเชียลในมุมที่ดี คือมีความรู้ในเรื่องต่างๆสอดแทรกอยู่ และช่วยให้การสืบค้นข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น ทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราต้องการรู้ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้ เช่น การปลูกผักปลอดสารเคมี หรืออาชีพที่ทำแล้วสร้างรายได้ให้กับคนไทย เป็นต้น”

“คำถามที่ได้ยินกันบ่อยๆในช่วงนี้ อย่างธรรมะกับยุคโซเชียลนั้นสำคัญแค่ไหน แม่ชีมองว่าจำเป็นอย่างมาก เพราะธรรมกับโลกนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะยุคไหนก็ต้องมีธรรมะ เพราะคนที่มีธรรมะย่อมหาความสุขได้ง่าย มองโลกด้วยพอดี พอใจและเรียบง่าย เมื่อนั่นภัยโซเชียลก็จะน้อยลงค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend