FEATURE SPORT

การเหยียดผิวในโลกฟุตบอล กับปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นประเด็นเรื่องการเหยียดผิวในโลกของกีฬาฟุตบอลอีกครั้ง เมื่อ ไมค์ เมญอง (Mike Maignan) ผู้รักษาประตูสัญชาติฝรั่งเศสจากสโมสร ‘เอซี มิลาน’ (AC Milan) ทีมในลีกสูงสุดของอิตาลี เซเรียอา (Serie A) เดินออกจากสนามแข่งขัน (walk out) ไปกว่า 5 นาที หลังถูกแฟนบอลทีมขู่แข่งอย่าง อูดิเนเซ (Udinese) เหยียดผิว (racist)

เมญองเล่าว่าเขาได้ยิน การทำ ‘เสียงลิง’ มาจากอัฒจันทร์ ขณะที่เขาวิ่งไปรับบอลเขาก็ได้ยินอีกเป็นครั้งที่สอง นั่นทำให้เขารู้สึกไม่อยากแข่งขันอีกแล้ว จึงเดินไปบอกกับผู้ตัดสินที่สี่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนจะหยุดเกมดังกล่าวไปในช่วงเวลาหนึ่ง โดยมีเพื่อนร่วมทีมเข้ามาสนับสนุนในการตัดสินใจของเขา

สิ่งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกฟุตบอลที่เกิดการเหยียดผิว (racism) แต่เรียกว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะลีกชั้นนำของยุโรป ซึ่งเป็นทวีปที่รณรงค์เรื่องการเหยียดผิวมาอย่างยาวนาน แต่จนแล้วจนรอดการเหยียดผิวก็ไม่เคยจางหายไป แม้แต่ในโลกของฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่มีผู้เล่นหลากหลายเชื้อชาติ และสัญชาติ อยู่ภายในทีมหนึ่งจำนวนมากก็ตาม

แคมเปญเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวในโลกฟุตบอล

แม้หลายปีที่ผ่านมา การต่อต้านการเหยียดสีผิวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีแอโพลิส (Minneapolis police) ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป ใช้เข่ากดด้านหลังคอของฟลอยด์แนบติดกับพื้นนานกว่า 9 นาที จนฟลอยด์แน่นิ่งไป ก่อนที่รถพยาบาลมารับตัว และฟลอยด์จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากคลิปวีดีโอที่ผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกไว้ขณะเกิดเหตุ ปรากฏเสียงของฟรอยด์ที่พูดกับตำรวจในหลายครั้งว่า “I can’t breathe” หรือผมหายใจไม่ออก แต่ตำรวจก็ไม่มีทีท่าว่าจะช่วยเหลือเขาแต่อย่างใด ท่ามกลางเสียงของผู้พบเห็นเหตุการณ์ที่ร้องขอให้ตำรวจช่วยเหลือ รวมถึงต้องการให้นำเข่าออกจากคอของฟรอยด์หลังจากที่ฟรอยด์เริ่มนิ่งไป ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่กลับไม่แยแสแต่อย่างใด

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 4 ราย ถูกไล่ออก พร้อมถูกตั้งข้อหาก่อเหตุอาชญากรรม แต่ที่สำคัญกว่าคือเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วง และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยใช้แฮชแท็กว่า “Black Lives Matter” ซึ่งสื่อถึง ชีวิตของคนผิวดำซึ่งก็สำคัญและมีความหมาย

การเสียชีวิตของฟลอยด์ไม่เพียงแต่จะส้รางความไม่พอใจให้กับผู้คนแล้ว ยังส่งผลไปถึงนักกีฬาที่ต่าง ๆ ที่ตื่นตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับฟุตบอล โดยมีผู้เล่นต่างร่วมกันประท้วงเชิงสัญลักษณ์ผ่านการทำท่าคุกเข่าลงบนสนามหญ้าก่อนเสียงนกหวีดจะเริ่มการแข่งขัน

ในพรีเมียร์ลีก (Premier League) ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลสูงสุดของประเทศอังกฤษ ก็มีการขึ้นความ Black Lives Matter พร้อมแสดงจุดยินในการต่อต้านการเหยียดผิวมาอย่างต่อเนื่อง นักฟุตบอลจากลีกอังกฤษต่างพร้อมใจกันคุกเข่าในเกมการแข่งขันนับตั้งแต่ปี 2563

ภาพ: premiere league

นอกจากนี้ พรีเมียร์ลีกยังจัดแคมเปญ ‘No Room For Racism’ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม และสร้างพื้นที่ที่ทำให้นักกีฬาฟุตบอลรู้สึกปลอดภัย พร้อมแสดงถึงการต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งหากสังเกตในการดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หลายคนจะเห็นข้อความของแคมเปญขึ้นมาเป็นระยะอยู่เสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางพรีเมียร์ลีกจริงจังต่อการต่อต้านการเหยียดผิว โดยเฉพาะในพื้นที่การแข่งขันแห่งนี้

“Football is a global game which brings together communities and cultures, uniting people of all backgrounds. The Premier League has welcomed players from 121 different nations since it started in 1992. So, if you are not a fan of this diversity, you are not a fan. That is why there is no room for racism. Anywhere.”

ข้อความดังกล่าว มาจากเว็บไซต์ทางการของพรีเมียร์ลีก ซึ่งพูดถึงบทบาทของพรีเมียร์ลีกที่มีต่อการสร้างชุมชนแห่งความหลากหลายในโลกฟุตบอลอังกฤษ ที่มีผู้เล่นหลากหลาก 121 สัญชาติที่เคยเป็นส่วนหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2535 ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ซึ่งหากไม่สามารถรับในส่วนนี้ได้ ก็ไม่ใช่พื้นที่ของคุณ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการจัดตั้งแคมเปญเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวจะเกิดขึ้นในโลกฟุตบอล แต่ก็ใช่ว่าการเหยียดผิวจะลดลง ช่วงเวลานับแต่นั้น การเหยียดผิวยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีนักฬาบางรายเริ่มตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอาจจะยังไม่เพียงพอเท่าที่ควร หรือบางรายกลับมาว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการคุกเข่า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

วิลฟรีด ซาฮา (Wilfried Zaha) กองหน้าผิวสี เป็นผู้เล่นรายแรกที่ปฏิเสธการคุกเข่าก่อนเริ่มเกมในสมัยที่เล่นให้กับทีมคริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) ในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า การคุกเข่าก่อนเริ่มเกมเหมือนกลายเป็นเพียงกิจวัตรหนึ่งที่ต้องปฏิบัติเพียงเท่านั้น ซึ่งไม่สำคัญว่าจะคุกเข่าหรือยืน แต่ก็มีบางคนที่ยังถูกเหยียดเหมือนเดิม ขณะที่ รอย ฮ็อดจ์สัน (Roy Hodgson) ผู้จัดการทีมคริสตัลพาเลซ ก็ออกมาสนับสนุนการกระทำของซาฮาซึ่งเป็นลูกทีมของเขา และอธิบายว่า การตัดสินใจไม่คุกเข่าของซาฮา ได้เปิดพื้นที่ให้ตัวของซาฮาเอง สามารถแสดงจุดยืน และความเห็นถึงสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่

“I’m not going to wear Black Lives Matter on the back of my shirt because it feels like it’s a target.” วิลฟรีด ซาฮา กล่าว

หากมองในมุมของซาฮาเอง จะเห็นว่ายังมีนักเตะอีกหลายคนที่ยังคงถูกเหยียดผิวอยู่ โดยที่มาตรการในการรับมือกลับไม่ได้ส่งเสริม หรือปกป้องนักเตะมากพอ มีเพียงการลงโทษภายหลังจบเกมเท่านั้น คำถามคือ หากมีนักเตะบางรายเมื่อถูกเหยียดผิวระหว่างการแข่งขัน พวกเขาจะต้องรีบมืออย่างไรในเมื่อไม่มีกฎที่เขียนชัดเจนว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวระหว่างเกม กลายเป็นการผลักให้นักเตะผิวสีต้องเผชิญด้วยตัวเองมากเกินไปหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว วินิซิอุส จูเนียร์ (Vinícius Júnior) นักฟุตบอลชาวบราซิล จากสโมสรเรอัล มาดริด (Real Madrid) ทีมจากลีกลาลีกา (LaLiga) ของสเปน ขณะที่กำลังแข่งขัน เขาได้เข้าไปเรียกผู้ตัดสิน พร้อมชี้นิ้วไปยังแฟนบอลบนอัฒจันทร์ทีมขู่แข่งอย่างบาเลนเซีย (Valencia) หลังได้ยินคำพูดและการกระทำที่แสดงถึงการเหยียดผิว ทำให้เกมดังกล่าวต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 10 นาที

ภายหลังจบการแข่งขัน วินิซิอุสออกมาเปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ที่ตัวเขาถูกเหยียดผิวภายในฤดูกาลเดียว พร้อมอธิบายว่า การเหยียดผิวกลายเป็นเรื่องปกติในลาลีกา หรือแม้แต่การแข่งขันก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งภาพลักษณ์ของสเปนสำหรับบราซิล คือประเทศแห่งการเหยียดผิว และตัวเขาเองก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะสู้กับการเหยียดผิวให้ถึงที่สุด

ประเด็นจากเหตุการณ์วินิซิอุส แสดงถึงการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เพียงจะเกิดจากแฟนบอลทีมคู่แข่งเพียงอย่างเดียว จุดยืนของลาลีกาหลายครั้งเองก็เช่นกัน แม้พวกเขาจะแสดงออกถึงการต่อต้านการเหยียดผิว และมักจะมีบทลงโทษต่อการเหยียดผิวหลายต่อหลายครั้ง เช่นเดียวกับกรณีของวินิซิอุสที่บาเลนเซียถูกสั่งปิดพื้นที่บางส่วน รวมถึงถูกสั่งจ่ายค่าปรับ

ดูเหมือนว่าการลงโทษภายหลังจบเกมการแข่งขันไป จะไม่ได้ช่วยให้การเหยียดผิวลดลง หรือช่วยให้พื้นที่ของฟุตบอลปราศจากการเหยียดผิวได้อย่างสิ้นเชิง นำไปสู่การตั้งคำถามต่อมาว่า หากเกิดเหตุซ้ำขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่ทางสหพันธ์ฟุตบอล โดยเฉพาะผู้ดูแลของลีกต่าง ๆ ต้องยกระดับมาตรการในการดูแล โดยเฉพาะทางจิตใจของนักเตะมากขึ้น รวมถึงการรับมือเพื่อป้องกันเหตุซึ่งหน้าที่เกิดในระหว่างการแข่ง เพื่อให้พื้นที่ของการแข่งขันฟุตบอลกลายใกล้เคียงกับพื้นที่ของความหลากหลายมากขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหพันธ์ฟุตบอลในลีกสเปน ก็เป็นที่น่าตั้งคำถามเช่นกันว่าพวกเขารับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เพียงพอจริงหรือ ฮาเวียร์ เตบาส (Javier Tebas) ประธานลาลีกา ออกมาตอบโต้ต่อโพสของวินิซิอุสที่แสดงความเห็นถึงกรณีการรับมือกับการเหยียดผิวของสหพันธ์ในทำนองว่า วินิซิอุสไม่ได้เข้าใจการดำเนินงานการต้านการเหยียดผิวของลาลีกาเลย พร้อมแสดงจุดยืนว่าทางลาลีกาและสเปน พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันวินิซิอุสออกมาตอบโต้ว่า นี่เป็นอีกครั้งที่เตบาส เลือกจะตอบโต้ผู้ถูกกระทำอย่างเขา มากกว่าจะไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่เหยียดเขา

ริโอ เฟอร์ดินานด์ (Rio Ferdinand) อดีตนักเตะชื่อดังสัญชาติอังกฤษ ออกมาซัพพอร์ตวินิซิอุส พร้อมตั้งคำถามถึงท่าทีของลีกสเปน รวมถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ที่มีต่อวินิซิอุส พร้อมเรียกร้องให้แสดงจุดยืนเพื่อปกป้องวินิซิอุสมากกว่านี้

“มันเป็นกี่ครั้งแล้วที่เราเห็นหนุ่มผู้นี้ถูกกระทำด้วยเรื่องเลวร้ายดังกล่าว ฉันทั้งเจ็บปวด และรังเกียจ ฉันเห็นเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ และผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเขาเลย”

ภาพ: premiere league

ฟีฟ่ารับมือกับการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นอย่างไร ?

ภายหลังที่เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นา ๆ เกิดขึ้น จานนี อินฟานติโน (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่า จึงออกมาแสดงจุดยืนที่จะสนับสนุนวินิซิอุส พร้อมวางมาตรการสามขั้นในการป้องกันเหตุระหว่างการแข่งขันฟุตบอล ขั้นแรกคือให้หยุดการแข่งขัน ขั้นต่อมาให้นักเตะออกจากสนาม และประกาศให้หยุดการกระทำที่แสดงถึงการเหยียดผิวทันที และขั้นสุดท้าย หากยังคงเกิดการกระทำดังกล่าวอยู่ ให้ยกเลิกการแข่งขัน พร้อมปรับให้แพ้ทันที

แม้ว่าทางฝั่งฟีฟ่าจะออกมาสนับสนุนวินิซิอุสอย่างเต็มที่ แต่นั่นเป็นเพียงการสนับสนุนในแนวทางของมาตร 3 ชั้นตอนเท่านั้น ไม่ได้มีการยกระดับไปถึงการปรับปรุง หรือปรับรูปแบบใหม่ (reform) ในการรับมือแต่อย่างใด ขณะที่สหพันธ์นักเตะอาชีพนานาชาติ (FIFPro) ออกมาวิพากาษืวิจารณ์ต่อแนวทาง 3 ขั้นตอนของฟีฟ่าว่า ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วยังก่อให้เกิดเหตุการณืซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเดิม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดอย่างเมญองเป็นที่น่าหยิบยกความเห็นของ FIFPro ขึ้นมาพูดอีกครั้งว่า “อีกแล้วใช่ไหม ?” เพราะแนวทางของฟีฟ่ายังคงปล่อยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดิม สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (FIGC) ออกมารับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการลงโทษแบนแฟนบอลผู้ก่อเหตุ 10 นัด รวมถึงปิดอัฒจันทร์บางส่วน แต่ก็น่าตั้งคำถามเช่นเดิมว่า ด้วยบทลงโทษดังกล่าวช่วยรองรับว่าจะเป็นการป้องกันเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกได้จริงใช่ไหม ?

แนวทาง 3 ขั้นตอนของฟีฟ่า แม้จะถูกนำมาใช้จริงในเกมดังกล่าว แต่ต้องคิดเหมือนกันว่าต่อให้เสียงการเหยียดโจมตีเขาจะจบลง แต่การต้องทำสภาพจิตใจให้พร้อมลงแข่งต่อไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ผู้เล่นบางรายที่เคยเกิดเหตุอาจกระทบกระเทือนจิตใจถึงขั้นไม่สามารถแข่งต่อได้ก็มี แต่ไม่ใช่กรณีของเมญองที่เขาสามารถกลับมาลงเล่นต่อได้อีกครั้ง

เมญองเปิดเผยภายหลังว่า เขาต้องการมาตรการที่ยกระดับมากกว่านี้ เพื่อบอกให้รู้ว่าการเหยียดผิว หรือการกระทำการใด ๆ ในเชิงล้อเลียนด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อนักเตะผิวสีเป็นสิ่งที่ผิด หรือแม้แต่แฟนบอลที่อยู่บนอัฒจันทร์ด้วยกันเองที่นิ่งเฉยต่อคนที่กำลังกระทำความผิดอยู่ ก็ไม่ต่างกับการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดเสียด้วยซ้ำ

ทางด้านของประธานฟีฟ่าเอง กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเมญองว่า เขาสนับสนุนเมญอง และยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง จะไม่มีพื้นที่ใด ๆ สำหรับการเลือกปฎิบัติคงอยู่ในฟุตบอลและสังคม พร้อมเสนอการดำเนินการว่าสโมสรต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของแฟน ๆ โดยปรับแพ้อัตโนมัติ

ถึงแม้การแสดงจุดยืนของฟีฟ่าจะออกมาสนับสนุนนักฟุตบอลในกรณีของการถูกเหยียดผิวก็ตามที แต่ยังคงเป็นที่ต้องถกกันต่อไปว่า ฟีฟ่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อปกป้องตัวนักฟุตบอลเพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริง หลายครั้งที่การวางมาตรการยังคงเป็นคำถามว่าเพียงพอแล้วหรือกับรับมือ หรือเป็นเพียงการแสดงตัวปกป้อง แต่ยังไม่มากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

สิ่งที่นักฟุตบอลหลายคนออกมาเรียกร้องนั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการให้ฟุตบอลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก และเชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นฟุตบอลเป็นกีฬาของความหลากหลายและไม่แบ่งแยก

สุดท้ายนี้ การแสดงจุดยืนสนับสนุนเคียงข้างนักฟุตบอลของฟีฟ่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการต่อต้านและทลายความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างช้านานตั้งแต่การล่าอาณานิคม (Colonialism) แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ด้วยวัฒนธรรมและความเป็นชาตินิยม (Nationalism) มีผลต่อกระบวนการทางความคิดของคนหลายกลุ่ม จวบจนปัจุบันที่ทำให้การแบ่งแยกยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และยากต่อการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ในพื้นที่ของฟุตบอล ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนชั้นดีว่า การเมืองเรื่องของความเป็นชาติและการแบ่งแยกยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ของฟุตบอลแม้เราพยายามจะจับแยกออกจากกันก็ตาม

การจัดการและรับมือปัญหาดังกล่าวจึงไม่อาจอาศัยเพียงบทลงโทษทั่ว ๆ ไป เหมือนเช่นบริบทของการละเมิดกฎอื่น ๆ หากแต่ฟีฟ่าควรต้องออกมาทำงานเชิงลึกร่วมกับสโมสรทั่วโลก มากกว่าปล่อยให้เป็นเพียงนามธรรม รวมถึงการระงับเหตุซึ่งหน้า ที่ต้องเข้าไปควบคุมและแก้ปัญหาในทันที มากกว่านิ่งเฉย หรือละเลย (ignore) ปล่อยให้นักเตะยังคงได้ยินคำเหยียดเดิม ๆ ถึงสองครั้งภายในเกมเดียว

อ้างอิง

https://www.premierleague.com/footballandcommunity/NoRoomForRacism

https://www.premierleague.com/news/2021251

https://www.goal.com/en/news/why-do-footballers-kneel-before-a-match-what-taking-the-knee-means-in-sport/10iqy03uyp5y01uh4x89dnaicz

https://www.si.com/soccer/2021/03/13/wilfried-zaha-first-player-declines-kneeling-pre-match

https://www.theguardian.com/football/2021/feb/18/wilfried-zaha-declares-he-will-stop-taking-a-knee-crystal-palace

https://www.sportingnews.com/us/soccer/news/vinicius-jr-racially-abused-real-madrid-valencia-red-card/g7iqovrz3l4ubot5dzvr2cxh

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52861726

https://www.goal.com/th/ข่าว/เกมหยุด-5-นาที-เมญองวอล์คเอาท์หลังโดนแฟนอูดิเนเซเหยียดผิว/blt38b3b6e439a78d20

https://www.timeslive.co.za/sport/soccer/2024-01-22-milan-keeper-maignan-calls-for-sanctions-to-combat-racism/

https://www.timeslive.co.za/sport/soccer/2024-01-22-milan-keeper-maignan-calls-for-sanctions-to-combat-racism/

https://www.goal.com/en/lists/fifa-president-gianni-infantino-statement-automatic-forfeit-teams-fans-commit-racist-abuse-mike-maignan-udinese/blt3ce245849e19f624#csa6f9233fafa17c72

Related Posts

Send this to a friend