SPORT FEATURE

Football 101 ปูพื้นสู่โลกฟุตบอล สำหรับคนไม่ดูบอล EP:1 ทีมชาติกับ สโมสร-โลก 2 ใบที่ซ้อนกัน

E.P.1 “ ทีมชาติกับสโมสร – โลก 2 ใบที่ซ้อนกัน ”

อีกไม่กี่เดือนฟุตบอลโลก 2022 ก็จะเริ่มขึ้น  ข่าวฟุตบอลก็จะเต็มหน้าสื่อ เพิ่มจากเดิมที่ก็มีมากอยู่แล้ว  ทำให้หลายๆคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาก่อน เกิดความสนใจ  แต่ก็อาจยังสับสนไม่เข้าใจในหลายๆเรื่อง

The Reporters จึงขอเปิดคอลัมน์ใหม่ “Football 101” มาบอกเล่ากลไกเบื้องหน้าและเบื้องหลังโลกแห่งฟุตบอล สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจติดตามมาก่อน โดยนอกจากในมุมกีฬาแล้ว ยังจะเจาะลึกทั้งในด้านการบริหาร, การตลาด, การเงิน, เทคโนโลยี, หรือแม้แต่การเมือง

ซึ่งใน EP.01 ตอนแรกนี้ จะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจใน “โลก 2 ใบ” ที่ซ้อนกันอยู่ในโลกแห่งฟุตบอล  นั่นคือโลกของ “สโมสร” กับโลกของ “ทีมชาติ”

เริ่มต้นที่สโมสร

เส้นทางชีวิตของนักฟุตบอลอาชีพส่วนใหญ่ มักจะเริ่มจากการเตะฟุตบอลจริงจังในโรงเรียนประถมหรือมัธยม จนโดดเด่นได้เป็นนักกีฬาตัวแทนโรงเรียน ไปแข่งกับโรงเรียนอื่น ซึ่งในสนามนั้นๆอาจจะมี “แมวมอง” จากสโมสรฟุตบอลอาชีพต่างๆไปนั่งดู  แล้วเลือกหานักเตะที่น่าสนใจ เพื่อชวนไปเข้าสโมสร

หรืออีกรูปแบบที่มีมากขึ้นในระยะหลังๆ  คือการที่เด็กชอบเล่นฟุตบอล แล้วไปเข้าคอร์สสอนฟุตบอลเด็กในสถาบันสอนพิเศษด้านฟุตบอลโดยตรง  แล้วจากนั้นถ้าเล่นดีมีความสามารถสูง ก็ได้เป็นตัวแทนสถาบันไปเตะรายการต่างๆในวันหยุดหรือช่วงปิดเทอม  จนโดดเด่นเข้าตาแมวมองก็ได้เช่นกัน

อีกรูปแบบก็คือ “บอลเดินสาย”  โดยกลุ่มนักฟุตบอลใจรักสมัครเล่นตั้งทีมกันเอง ไปสมัครแข่งรายการชิงรางวัลต่างๆที่มีภาคเอกชนจัด หรือจัดโดยสนามฟุตบอลให้เช่าเอง  ซึ่งถ้ามีใครเล่นได้โดดเด่นมากๆ  ก็อาจไปเตะตาแมวมองที่ไปดูไปหานักเตะในสนามได้ด้วย

การเข้าสู่ระบบสโมสร ก็มักเริ่มจากการเป็น “เด็กฝึกหัด” ที่ทางสโมสรจะเทรนให้มีทักษะความสามารถต่างๆ และฝึกให้รู้จักเล่นเป็นทีมด้วย

สโมสรระดับกลางไปถึงระดับใหญ่ในแทบทุกประเทศ จึงจะมี “academy” หรือศูนย์ฝึกเยาวชน เช่นสโมสรลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หรือในไทยก็มี ชลบุรีเอฟซี, เมืองทองยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ยูไนเต็ด, ฯลฯ  ที่มีศูนย์ฝึกขนาดใหญ่ ปั้นนักฟุตบอลชื่อดังมาแล้วมากมาย ทั้งที่เติบโตมาเล่นในทีมสโมสรตัวเอง  และทั่งที่เติบโตออกไปเล่นในสโมสรอื่นๆ

ในระหว่างที่เป็นเด็กฝึกหัดนี้ เด็กก็จะได้เบี้ยเลี้ยง และอาจได้รับโอกาสลงเล่นอุ่นเครื่อง หรือบางประเทศก็มีรายการเตะ “บอลถ้วย” หรือ“บอลลีก” ( league ) กับเด็กรุ่นเดียวกันของทีมสโมสรอื่นๆด้วย

ทั้งนี้ “บอลถ้วย” หมายถึงการจับสลากเตะแบบ“แพ้คัดออก” ไปเรื่อยๆจนได้ผู้ชนะเลิศ … ซึ่งทั้งบอลลีกและบอลถ้วยนี้ อาจจะเตะที่สนามของทั้ง 2 ทีมเองแบบผลัดกัน “เหย้า-เยือน” หรือสนามอื่นหรือที่เรียกว่า “สนามกลาง” ก็ได้

ส่วน บอลลีก หมายถึงการเตะแบบที่ทุกทีมพบกันหมด  ทีมชนะได้ 3 คะแนน ทีมแพ้ไม่ได้คะแนน ( 0 แต้ม ) ส่วนผลเสมอได้ 1 คะแนนทั้งคู่  … ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับรายการแข่งขันบอลสโมสรในประเทสและทวีปต่างๆนี้  เราจะแยกอธิบายในตอนอื่นต่อๆไป

กลับไปที่ชีวิตของ “เด็กฝึกหัด” ซึ่งในการแบ่งระดับอายุนี้ ส่วนมากจะใช้ตัวอักษร U นำหน้าอายุ  ย่อมาจาก Under (ต่ำกว่า)  เช่นฟุตบอล U18 ก็หมายถึงการแข่งขันสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี  โดยมีการแบ่งกันหลายระดับ เช่น U6, U8, U10, U12, U15, U18, U21, U23 โดยอาจแบ่งละเอียดกว่านี้โดยเฉพาะในวัยเด็ก

จากนั้นถ้านักเตะเยาวชนคนไหนมีแวว  ทางสโมสรก็จะเลือกขึ้นไป “เซ็นสัญญาอาชีพ” เป็นสัญญาจ้างระยะยาว 1 ถึง 5 ปีหรือมากน้อยกว่านี้เล็กน้อย มีเงินเดือนประจำ และอาจมีโบนัสเพิ่มเติมถ้าได้ลงเตะจริง

โดยมากการเซ็นสัญญาอาชีพนี้ จะเกิดขึ้นก่อนอายุ 20  โดยเฉพาะในประเทศใหญ่ๆแถวยุโรปที่หากใครเป็นนักเตะฝึกหัดจนอายุเกิน 20 แล้วยังไม่ได้สัญญาอาชีพ  ก้มักจะเบนเข็มไปเรียน ทำอาชีพอื่นๆ  หรือไปเอาดีทางการเรียนโค้ชแทน

ซึ่งใครที่มีสัญญาอาชีพ  ก็ถือว่าได้เป็น “นักเตะอาชีพ” และจะได้เงินเดือนตามสัญญาจ้าง ( บางประเทศก็ระบุเป็นสัปดาห์ ) แม้จะบาดเจ็บลงเตะไม่ได้ หรือลงซ้อมไม่ได้เป็นปี  ก็จะได้เงินเดือนตามสัญญาจ้างอยู่ดี

จากนั้น ถ้านักฟุตบอลคนนั้นเริ่มโด่งดังมีชื่อเสียง   มีรายได้อื่นจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา  ทางสโมสรก็อาจจะได้ส่วนแบ่งด้วย  ตามแต่ตกลงกันไว้  ซึ่งจุดนี้ส่วนใหญ่ในข่าวกีฬาจะเรียกกันว่า“ลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์”

… ซึ่งรายละเอียดเรื่องรายได้ของนักฟุตบอลอาชีพนี้   เราจะแยกแจกแจงเป็นอีกตอนเฉพาะในโอกาสหน้า  เนื่องจากว่ามีรายละเอียดและตัวอย่างที่น่าสนใจหลายอย่าง

แฟ้มภาพ เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ นักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในทีมลิเวอร์พูล ลงซ้อมการซ้อมก่อนแข่ง The Match

และมาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่บางคนสงสัย  คือทำไมในสโมสรฟุตบอลภายในประเทศหนึ่งๆ ถึงมีนักเตะชาติอื่นๆเต็มไปหมด ?

อย่างหลายสโมสรฟุตบอลอังกฤษในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่เราคุ้นเคยกันนั้น ใน 11 ตัวจริงที่ลงสนาม มีนักเตะสัญชาติอังกฤษแค่ 1 ถึง 3 คน  หรือบางทีมบางครั้งก็ไม่มีเลย

คำตอบคือในโลกของฟุตบอลระดับสโมสรในหลายๆประเทศเช่นอังกฤษนั้น ไม่เน้นเรื่องสัญชาตินักเตะ แต่จะเน้นว่าต้องมีนักเตะที่โตขึ้นมาจากการเป็นเด็กฝึกหัดของสโมสรเองอยู่ด้วย  หรือไม่ก็เป็นเด็กฝึกหัดของสโมสรอื่นๆในประเทศเดียวกันอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง

ตัวอย่างเช่นในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ จะให้ความสำคัญกับนักเตะที่เซ็นสัญญาอาชีพกับสโมสรในอังกฤษตั้งแต่อายุ 16 – 21 ปีแล้วอยู่กับสโมสรนั้นๆหรือสโมสรอื่นในอังกฤษอย่างน้อย 36 เดือนหรือ 3 ปี โดยจะเรียกนักเตะที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบ ว่าเป็นนักเตะ Home Grown ( นักเตะที่เติบโตในประเทศเอง ตัวย่อ HG )

ซึ่งทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกและลีกรองๆไปไปในอังกฤษ  จะต้องมีนักฟุตบอลประเภท HG ( Home Grown ) นี้อย่างน้อย 8 คน จากนักฟุตบอลทั้งหมด 25 คน ที่ส่งชื่อลงทะเบียนเตะในแต่ละฤดูกาล

ซึ่งนักเตะ HG ในอังกฤษ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนสัญชาติอังกฤษหรือเวลส์  แต่ที่จริงแล้วจะเป็นสัญชาติใดก็ได้  เช่นอาจจะเป็นสัญชาติบราซิล  แต่มีคุณสมบัติตามนี้ครบ ก็ถือเป็นนักเตะ HG เช่นกัน

ซึ่งกฏนี้ก็มีไว้เพื่อส่งเสริมให้สโมสรต่างๆต้องมีศูนย์ฝึก academy และต้องลงทุนทำศูนย์ฝึกนี้ให้ดี  เพื่อปั้นนักเตะของตัวเองมาใช้  หรือไม่ก็มาขายให้สโมสรอื่นทำกำไรได้คุ้มค่ากับที่ลงทุนไป

และในทางอ้อม ก็ป้องกันไม่ให้สโมสรฟุตบอลที่มีเงินมากๆ อยู่ในอังกฤษ แต่กลับซื้อนักเตะต่างชาติมาทั้งทีม ไม่ใช้นักเตะจากศูนย์ฝึกของตัวเองหรือของทีมร่วมประเทศเลย จนส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทีมชาติ

ระบบโควต้านักเตะนี้ละเอียดมาก และแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละระดับ โดยยังมีประเภทอื่นๆอีกเช่น Club Trained ( หรือตัวย่อ CT ), Associated Trained(หรือ AT ), List A, โควต้าอียู, โควต้าอาเซียน, ฯลฯ … เราจึงจะแยกเขียนเป็นอีกตอนหนึ่งในโอกาสต่อไป

แฟ้มภาพ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ แบ็คขวา นักเตะ Home Grown ของสโมสรลิเวอร์พูล ลงซ้อมก่อนการแข่ง The Match

คู่ขนานไปกับทีมชาติ

เมื่อนักเตะบางคนเล่นดีโดดเด่นในระดับสโมสร  ก็มักจะถูกเลือกไป “ติดทีมชาติ”  โดยจะมีการเรียกเป็นครั้งๆไป ขึ้นกับว่าขณะนั้นทีมชาติกำลังจะต้องเตะรายการไหน

ฉะนั้นจึงมีคำเรียกชื่อทีมชาติแยกไปตามรายการแข่งขัน เช่น “ทีมชาติชุดซีเกมส์”, “ทีมชาติชุดโอลิมปิก”, “ทีมชาติชุดฟุตบอลโลก”, ฯลฯ

… ซึ่งถ้าเป็นรายการที่จำกัดอายุนักเตะ  ก็อาจเรียกชื่อทีมชาติชุดนั้นๆตามรุ่นด้วย เช่น “ทีมชาติชุด U23” ก็เป็น “ทีมชาติชุดโอลิมปิก” เพราะฟุตบอลชิงเหรียญทองโอลิมปิกนั้นจำกัดให้นักเตะอายุไม่เกิน 23 ปี เป็นต้น

ซึ่งการแบ่งทีมชาติตามอายุนี้  ก็มักต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นขั้นๆไป  เช่นทีมชาติชุด U19 ปัจจุบัน  ก็มีไว้แข่งโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่วนทีมชาติชุดโอลิมปิกปัจจุบัน ก็เตรียมขยับขึ้นสู่ “ทีมชาติชุดใหญ่” ต่อไปเป็นต้น

ชีวิตของการเป็นนักเตะทีมชาติ  ก็จะอยู่คู่ขนานไปกับการเป็นนักเตะสโมสร  นั่นคือนักฟุตบอลคนไหนที่ติดทีมชาติ  ก็จะจะยังต้องเล่นให้สโมสรไปด้วยพร้อมกันไป

ทั้งนี้ในรอบ 12 เดือนของปีหนึ่ง ก็จะมีช่วง “เปิดฤดูกาล” ราว 9 เดือน เช่นในอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรปก็จะเริ่มราวเดือนกันยายน และไปจบในเดือนพฤษภาคมของปีรุ่งขึ้น

ภาพ: เฟซบุ๊ก ธีราทร บุญมาทัน นักเตะทีมชาติไทย ปัจจุบันเล่นให้กับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

ช่วง “ปิดฤดูกาล” ในยุโรปก็จะอยู่ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง สิงหาคม  ฉะนั้นส่วนใหญ่ฟุตบอลยูโร ( ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ) และฟุตบอลโลกก็จะจัดกันในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี่เอง

ยกเว้นก็แต่เพียงปีนี้ 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฟุตบอลโลกจะไปจัดในเดือนธันวาคม 2022 เหตุผลก็เพราะชาติเจ้าภาพครั้งนี้เป็น กาตาร์ ย่านตะวันออกกลาง ซึ่งอากาศในเดือนมิถุนาฯ-กรกฎาฯนั้นร้อนจัดจนไม่เหมาะกับการจัดแข่งขันฟุตบอล

อย่างไรก็ตาม รายการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศนั้น  ไม่ได้มีแค่ฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร แต่ยังมีอีกหลากหลาย เช่น เอเชี่ยนคัพ, โคปาอเมริกา, แอฟริกันเนชั่นสคัพ, และอีกหลายรายการ ซึ่งเราจะแยกเล่าถึงเป็นอีกตอนต่อๆไป

และนอกจากการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติในเดือนมิถุนาฯ – กรกฎาฯแล้ว  ตลอดทั้งปีก็จะมีการแข่งฟุตบอลทีมชาติแทรกมาคั่นฟุตบอลสโมสรเป็นระยะๆด้วย  โดยเรียกกันว่าเป็นช่วง “FIFA Days” หรือ “FIFA International Match Calendar”

ตัวอย่างรายการที่จะแทรกเข้ามานี้ ก็เช่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ซึ่งจะแทรกมาตลาดช่วง 2 ปีก่อนฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  โดยเตะครั้งหนึ่งอาจจะมี 1 – 2 นัด แล้วก็เว้นไปอีกราว 2 เดือน ไปเรื่อยๆ

และแม้ช่วงที่ไม่มีบอลโลกรอบคัดเลือก  แต่ก็ยังจะมี “FIFA Days” เป็นระยะๆ  คือเป็นช่วงที่ FIFA ( สหพันธ์ฟุตบอลโลก ) บังคับให้สโมสรต้องยอมปล่อยตัวนักฟุตบอลให้ไปร่วมทีมชาติ

นั่นคือถ้าเป็นช่วง FIFA Days ถ้าทีมชาติไหน  เรียกตัวนักฟุตบอลไปติดทีมชาติ  ทางสโมสรก็ต้องยอมปล่อย   …แต่ถ้าเป็นช่วงอื่นนอก FIFA Days  เช่นการแข่งขันซีเกมส์ในภูมิภาคเรานี้   ฝ่ายทีมสโมสรไม่จำเปนต้องปล่อยตัวนักฟุตบอลก็ได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจ  คือถ้านักฟุตบอลบาดเจ็บหนักจากการลงเล่นให้ทีมชาติ จนถึงกับลงสนามไม่ได้เป็นเดือนๆล่ะก็  ทางสมาคมฟุตบอลชาตินั้นๆซึ่งถือเป็นกึ่งๆหน่วยงานของรัฐ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทางสโมสรซึ่งถือเป็นบริษัทหรือหน่วยงานเอกชนด้วย

ภาพ: เฟซบุ๊ก ธีราทร บุญมาทัน

โลก 2 ใบ (ต้อง)ไปด้วยกันได้

ดูเผินๆคล้ายว่าจะโลก 2 ใบนี้จะแย่งกันใช้งานนักฟุตบอลกันอยู่ตลอดเวลา  แต่ที่จริงแล้ว ทั้ง 2 ส่วนนี้ต่างก้เกื้อหนุนกันอยู่กลายๆด้วย

เช่นถ้านักฟุตบอลถูกฝึกสโมสรฝึกมาดี และเล่นดีกับระดับลีกในประเทศแล้ว  ก็จะส่งผลพลอยได้ต่อให้ทีมชาติใช้ประโยชน์จากความเก่งของนักเตะคนนั้นได้

และในทางกลับกัน  เมื่อสโมสรปล่อยตัวนักฟุตบอลไปเตะทีมชาติ แล้วนักฟุตบอลคนนั้นเล่นดี มีส่วนพาทีมชาติประสบความสำเร็จ นักเตะคนนั้นๆก็มีชื่อเสียงขึ้น

เมื่อนักเตะกลับมาเล่นให้สโมสร ก็จะดึงดูดผู้ชมเข้าสโมสรนั้นๆได้มากขึ้น  ดึงดูดผู้ชมทางทีวีและสื่อต่างๆได้มากขึ้น หากรับงานโฆษณา สโมสรก็ได้ส่วนแบ่ง  และถ้าขายต่อ ก็ได้ราคาสูงขึ้นนำมาสู่กำไรที่มากขึ้นด้วย

ไม่ว่าคุณจะรู้จักชื่อนักฟุตบอลหรือทีมฟุตบอลกี่ชื่อ ?  ไม่สำคัญว่าคุณจะเคยติดตามข่าวฟุตบอลมาก่อนหรือไม่ ?  แต่โลกแห่งฟุตบอลนั้น ยังมีเรื่องราวและกลไกอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย  …

โปรดติดตาม E.P. ต่อๆไปของ Football 101 by The Reporters ที่นี่ !

Related Posts

Send this to a friend