EVENT

เตรียมจัด ‘Bangkok Pride 2023’ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศเข้าสู่ปีที่ 2

วันนี้ (2 ก.พ. 66) ผู้จัดขบวนไพรด์พาเหรดจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว Bangkok Pride 2023 งานที่เฉลิมฉลองความหลากหลายและเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลป์กรุงเทพ)

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง (วาดดาว) นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ หนึ่งในผู้จัด Bangkok Pride ในปี 2022 และ 2023 กล่าวว่า กิจกรรม Bangkok Pride ในปี 2022 ได้รับการตอบรับดีมากจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งในปี 2023 นี้ จะจัดในนาม ‘BEYOND…GENDER’ โดยมีจุดประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ
1.Gender Recognition: การเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม Non-binary, Queer, และกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ต้องการเพศที่เป็น Binary
2.Marriage Equality: การสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าถ้าเกิดการยุบสภาขึ้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นอย่างไร
3.Sex Work is Work: การเปิดรับอาชีพ Sex Worker เพราะทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด

ทั้งนี้ Bangkok Pride 2023 จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งจะมีการเดินขบวนไพรด์พาเหรด โดยเริ่มเดินจากสวนลุมพินี และสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้า Central World สำหรับจังหวัดอื่น ๆ อีก 20 จังหวัดทั่วภูมิภาคที่ร่วมจัดงาน Pride สามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Bangkok Pride

ประสิทธิ์ สุหงษา (เคธี่) จากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้หญิงข้ามเพศสำหรับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ แต่ไม่เคยเป็นผู้หญิงสำหรับรัฐไทยเลย รวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็นสวรรค์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลับไม่มีกฎหมายใด ๆ รองรับตัวตนของคนเหล่านั้นเลย จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทางหน่วยงานต่าง ๆ ของกทม. ก็มีนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เช่น การอนุญาตให้ข้าราชการแต่งกายตามเพศสภาพของตนเองได้ หรือหากผู้ใดถูกดูหมิ่นทางเพศ ก็สามารถแจ้งไปยังสำนักงานเลขาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โดยตรง

ศานนท์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ว่า ซีรีส์วายในประเทศไทยสร้างเงินมากกว่าพันล้านบาทในปีที่ผ่านมา มีฐานแฟนคลับทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ โดยมองว่าเป็น Soft Power ที่สำคัญมาก ทางกทม.จึงสนใจที่จะผลักดันซีรีส์วายร่วมกับงาน Bangkok Pride ด้วย

ศานนท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางกทม.ขอเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุน Bangkok Pride และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในอนาคต Bangkok Pride อาจถูกขยายกลายเป็น World Pride และอาจเป็นหนึ่งใน Rainbow Cities Network เครือข่ายนานาประเทศทีมีนโยบายสนับสนุน LGBTQ+ อย่างจริงจัง

ชานันท์ ยอดหงษ์ หนึ่งในผู้ร่วมงานแถลงข่าว Bangkok Pride 2023 ในนามพรรคเพื่อไทย ตำแหน่งผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย กล่าวว่า ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Pride Parade 2022 และในปี 2023 นี้ก็จะไปอีก

ชานันท์ กล่าวว่า งาน Bangkok Pride ไม่เพียงนำเสนอประเด็นความเท่าเทียม หรือสวัสดิการทางเพศเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงสิทธิที่เกี่ยวกับเพศในด้านอื่น ๆ เช่น Sex Worker, สิทธิสตรี, สวัสดิการผู้พิการ รวมถึงสิทธิของผู้ชาย อย่างการสนับสนุนให้การเกณฑ์ทหารเป็นไปด้วยความสมัครใจ

ชานันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะในอดีตจะจัดในกลุ่มชายรักชายเท่านั้น อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ กึ่งปิดกึ่งเปิดอย่างสีลม แต่ปัจจุบันกิจกรรมขยายออกสู่สาธารณะเป็นวงกว้าง และไม่เพียงกล่าวถึงกลุ่มชายรักชายอย่างเดียว แต่ยังกล่าวถึงเพศอื่น ๆ อีกหลากหลาย มีการเชื่อมโยงกิจกรรมร่วมกับหลากหลายประเทศ ทำให้กิจกรรมถูกยกระดับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

เรื่อง: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend