ART & CULTURE

พาชม ตุ๊กตาหินแกะสลัก หลังขุดพบขณะบูรณะวัดพระแก้ว

ด้าน นักวิชาการ ชี้ น่าสนใจมาก เป็นเรื่องความงามตามยุคสมัย

บรรยากาศช่วงหยุดยาวที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติเดินทางมาชมความงามตุ๊กตาหินแกะสลักโบราณกันอย่างคึกคัก โดยตุ๊กตาหินถูกนำมาจัดแสดงรอบพระศรีรัตนเจดีย์ เป็นตุ๊กตาหินรูปคนหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวยุโรป ชาวไทย และชาวจีนที่มีการสลักภาษาจีนไว้ด้านหลังและด้านข้างของตุ๊กตาด้วย

ตุ๊กตาหินแกะสลักได้รับความสนใจมาก เมื่อเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง “ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง” เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ระหว่างการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู “มณีนพรัตน์” ไปยังประตู “สวัสดิโสภา” เจ้าหน้าที่ได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว

จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินหลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอาราม และมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อ ๆ กันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บริเวณตำแหน่งเดิม หรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ

หากย้อนกลับไปดูบทความเรื่อง “พบรูปปั้นเต็มตัวพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่ลานวัดพระแก้ว” ของ ไกรฤกษ์ นานา ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.64 จะพบข้อมูลในจดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยรัชกาลที่ 5 ว่ามีการสั่งเครื่องตั้งประดับพระอารามที่เป็นศิลาเข้ามาใหม่ เป็นรูปปั้นหินอ่อนจากตะวันตก สอดคล้องกับภาพถ่ายของ William Kennett Loftus ช่างภาพหลวงที่บันทึกภาพรูปปั้นชายฝรั่ง คล้ายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ที่ลานวัดพระแก้วไว้ราว พ.ศ.2425 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี

คำบอกเล่าของชาวต่างชาติในยุคนั้น ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ถึงการมีอยู่ของตุ๊กตาหินแกะสลักเหล่านี้ ไกรฤกษ์ หยิบยกข้อมูลตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับการบูรณะวัดพระแก้ว จากหนังสือชื่อ Temples and Elephants ของนาย Carl Bock ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1884 ที่ระบุว่า งานซ่อมแซมวัดพระแก้ว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2422 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2425 รวมเวลากว่า 2 ปี เร่งให้เสร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี โครงการใหญ่นี้อยู่ในความควบคุมดูแลของบรรดาพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“องค์หนึ่งให้ทรงดูแลการปูพื้นหินอ่อนใหม่ องค์ที่สองจัดทําศิลาจารึกในพระอุโบสถใหม่ องค์ที่สามวางตาดทองเหลืองบนพื้นพระอุโบสถ องค์ที่สี่รับหน้าที่ซ่อมงานประดับมุก องค์ที่ห้ารับภาระเรื่องซ่อมเพดาน องค์ที่หกเปลี่ยนช่อฟ้าที่ชํารุด องค์ที่เจ็ดจัดการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสีทอง องค์ที่แปดสร้างซ่อมตบแต่งบรรดาตุ๊กตาหินและกระถางต้นไม้ในลานวัด รวมทั้งสร้างยักษ์ชุบหรือเคลือบทองแดง และจัดซื้อตุ๊กตาหินอ่อนมาเพิ่มเติมด้วย”

พลตรีหญิง หม่อมหลวงลดาวัลย์ กมลาศน์ เหลนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ผู้รับผิดชอบเรื่องเครื่องประดับศิลาและรูปปั้นในงานฉลองพระนคร 100 ปี ได้แสดงความเห็นว่า เสด็จทวดของข้าพเจ้า เมื่อครั้งทรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศน์เลอสรรค์ ทรงรับผิดชอบเครื่องประดับพวกรูปปั้นและเครื่องประดับศิลา หลังจากบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ความงามสมพระประสงค์ และพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหลายก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ ทรงกรม หลังจากนั้นอีกหลายปี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รูปปั้นหินอ่อนหายไปไหนเกือบหมด ไม่ทราบว่าผู้ใดยกไปไว้ที่ไหน เข้าไปดูในวังของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรก็ไม่พบรูปปั้นหินอ่อนนี้แม้แต่ตัวเดียว องค์เสด็จในกรมเองก็ไม่ทรงชี้แจงอย่างใด

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชสำนัก เปิดเผยกับ The Reporters ว่า การค้นพบงานศิลปะอายุกว่าร้อยปีนี้ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก เพราะไม่มีใครได้เห็นตุ๊กตาหินแกะสลักเหล่านี้มานานกว่า 90 ปี การบูรณะพระอารามหลวงในสมัยก่อน นิยมนำของสวยงามตามยุคสมัยมาประดับตกแต่ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป “แฟชั่นได้เปลี่ยนสมัย” เป็นเหตุให้งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ไม่พบเห็นตุ๊กตาแกะสลักเหล่านี้จัดแสดงในวัดพระแก้วแล้ว คงเป็นเรื่องของความสวยงาม และความเหมาะสม เมื่อมีจำนวนมากจึงต้องฝังเก็บไว้

เรื่อง/ ภาพ: ณัฐพร สร้อยจำปา
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_73842

Related Posts

Send this to a friend