AROUND THAILAND

นศ.วิจิตรศิลป์ มช.เผาโลงศพประท้วง ผู้บริหารฯ ย้ำเสรีภาพในการแสดงออก

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. เผาโลงศพบรรจุรูปคณบดีและอธิการบดี ก่อนแถลงปิดงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ย้ำจุดยืนเสรีภาพในการแสดงออกในของนักศึกษา จี้ถอดถอนผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัย เหตุเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ-ปิดกั้นการเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ มช.

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 เวลา 18.00 น. นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมปิดงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ “WHIPLASH : MADs Pre-degree Exibition 2021” หน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้แทนนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน พร้อมทั้งเผาโลงศพจำนวน 2 โลงที่บรรจุภาพใบหน้าคณบดีคณะวิตรศิลป์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา นักศึกษาสาขาวิชาดังกล่าวประมาณ 100 คนได้รวมตัวกันเข้ายึดพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คืนจากผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าติดตั้งผลงานให้ทันแสดงงานตามกำหนด หลังเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวัน กรณีถูกห้ามแสดงผลงานศิลปะที่สถานีตำรวจในคืนวันที่ 15 ต.ค. เมื่อนักศึกษาเดินทางมาถึงหน้าประตูทางเข้าสาขาวิชาซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม พบว่าประตูรั้วทางเข้าถูกล็อกด้วยโซ่คล้องกุญแจ นักศึกษาจึงใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่เข้าไป และปักหลักอยู่ 8 วัน ร่วมกับภาคประชาชนบางส่วน

นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงานแสดงศิลปนิพนธ์ดังกล่าว ย้ำว่า การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องภายในคณะ ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดแสดงงานเท่านั้น แต่คือการเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาและมนุษย์ในระบบอำนาจนิยม ซึ่งคือเรื่องเดียวกันกับการสร้างสังคมประชาธิปไตย และยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

“นักศึกษาจะต้องได้ใช้พื้นที่และมีสิทธิการใช้สถานที่ตามกำหนดและระเบียบเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และนักศึกษาจะไม่ปรับแก้ผลงาน เราต้องการสร้างสิ่งนี้ให้เป็นมาตรฐานแก่ทุกๆ สาขาวิชา ไม่ใช่เฉพาะ Media Art and Design เราต้องการสร้างสิทธิเสรีภาพของเราในการทำงานและการแสดงออกของเรา” ยศสุนทรกล่าว

นอกจากนั้นตนยังกล่าวเสริมว่า ขณะนี้นักศึกษากำลังดำเนินการร่วมลงชื่อถอดถอนคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมลงชื่อถอดถอนแล้วเป็นจำนวน 1,597 รายชื่อ ให้เหตุผลว่า ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ใช้อำนาจข่มเหงนักศึกษา สิ่งที่ผู้บริหารคณะประกาศมาหรือยัดเยียดให้นักศึกษานั้นไม่มีอะไรที่เป็นผลประโยชน์ต่อนักศึกษา มีแต่จะกีดกันนักศึกษาในการจัดนิทรรศการ รวมทั้งยังมีการลดงบประมาณบางส่วนที่นักศึกษาแต่ละสาขาเคยได้รับ

“นักศึกษาอยากให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ดั่งเช่นที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยกระทำกับนักศึกษาในครั้งนี้อีก นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในทางวิชาการภายใต้พื้นที่มหาวิทยาลัยโดยไม่ถูกปิดกั้น” ผู้แทนนักศึกษาย้ำ

ด้าน ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชา เห็นว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวงการศิลปะครั้งนี้เป็นความพยายามสะท้อนปัญหา และชี้หนทางที่จะคลี่คลายปัญหาซึ่งก็คือการทำให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งทำให้ทุกๆ พื้นที่ในอณูของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนตัว หรือการใช้ชีวิตของผู้คนให้เป็นพื้นที่ทางการเมืองและเป็นพื้นที่สาธารณะ

“พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยนี้ไม่เคยมีประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกครอบครองโดยกลุ่มทุนและระบบราชการ ทั้งๆ ที่พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่คอยหล่อหลอมจิตสำนึกที่ผู้คนมีร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือการ occupy ตึกแบบที่เราเห็นนี้ มันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทวงคืนเสรีภาพที่พวกเขาคิดว่าเป็นเจ้าของแต่เดิม ไม่ใช่การยึด มันคือการทวงคืนสิทธิของพวกเรา” ศรยุทธกล่าว

นอกจากนั้นในฐานะอาจารย์ ย้ำว่าต้องร่วมผลักดันประเด็นไปพร้อมๆ กับนักศึกษา รักษาฐานที่มั่นการเรียนการสอนในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการทำงานทางศิลปะ ปรัชญา ความคิดต่างๆ ให้สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อกลายเป็นพื้นที่ของเสรีภาพเหมือนอย่างที่เคยเป็น ส่วนในเชิงคดีความ คาดว่าจะมีการฟ้องร้องตามมา ซึ่งตนเชื่อว่านักศึกษามีหลักฐานเพียงพอในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

ผมคิดว่าสถานภาพของพวกเขาตอนนี้ถูกสั่นคลอน แล้วก็ถูกลดทอนให้หมดความชอบธรรมไปเรื่อยๆ ตอนนี้เองผู้คนจำนวนมากไม่ได้ยอมรับและไม่ให้ความชอบธรรมกับผู้บริหารทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับประเทศแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยจับตาดูความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ คุ้มครองนักศึกษา ปกป้องนักศึกษา เดินไปเคียงข้างกับพวกเขา” อาจารย์ประจำภาควิชาย้ำ

Related Posts

Send this to a friend