AROUND THAILAND

สรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมเวทีสรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

นายแพทย์ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมด้วย แพทย์หญิงปรียาพรรณ เพชรปราณี นายแพทย์ชำนาญการ และนางสาววิไลพร ไหลงาม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มนิติเวชคลินิก กองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมเวทีสรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานพัฒนา การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทย ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม

แพทย์หญิงปรียาพรรณฯ กล่าวว่า “ในที่ประชุมได้มีการร่วมกันสรุปบทเรียน การดำเนินงานของเครือข่ายที่ผ่านมา โดยการเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ทบทวนกระบวนการดำเนินงาน ผลการปฏิบัติงาน ความคาดหวังในการทำงาน เพื่อคนไร้สิทธิในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ร่วมดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และการวางแผนการหนุนเสริมการปฏิบัติงานเพื่อคนไร้สิทธิ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้เกิดกระบวนการพัฒนาการแก้ไขปัญหาสถานะ และสิทธิของบุคคลโดยกลไกในพื้นที่ และมีสถานที่จัดเก็บสารพันธุกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะ และสิทธิของบุคคลในพื้นที่อย่างยั่งยืน

โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะ และประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อนำผลการตรวจสารพันธุกรรม ที่ได้ดำเนินการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลผู้ประสบปัญหาและบุคคลอ้างอิงซึ่งกรมการปกครอง ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว มาเป็นหลักฐานสำคัญประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาทางทะเบียนราษฎร อันนำมาสู่การมีสัญชาติไทย แต่เนื่องจากการตรวจสารพันธุกรรมมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ตามประเภทของการตรวจ ประกอบกับหน่วยงานที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมได้มีจำกัด จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงการตรวจสารพันธุกรรม”

ด้าน พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทย ที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร สำหรับการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งที่มาตรวจที่ทำการของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือที่ตั้งของผู้ประสบปัญหา ที่ผ่านมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาล ร่วมเป็นเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมแล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลตราด จังหวัดตราด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นหน่วยงานจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล โดยบูรณาการความร่วมมือในทุกมิติทั้งภาครัฐ องค์การไม่แสวงหากำไร และภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง”

Related Posts

Send this to a friend