WORLD

ผลประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ยกร่างเอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’

ผลประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ยกร่างเอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ ก่อนส่งให้ที่ประชุมรัฐมนตรี-ผู้นำเอเปค รับรองเป็นผลลัพธ์ร่วมกัน มุ่งบูรณาการกลไก การค้า-สิ่งแวดล้อม-ทรัพยากร ให้เป็นองค์รวมและยั่งยืน

วันนี้ (16 พ.ย. 65) ณ บอลรูมฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค เป็นครั้งที่ 5 และครั้งสุดท้าย ในช่วงที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 โดยมี นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสรวมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ

การประชุมช่วงที่ 3 มีการหารือในประเด็น “สร้างสมดุลในทุกด้าน” พร้อมทั้งรับทราบสถานะล่าสุดของร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคพิจารณา เพื่อให้ท่ีประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองต่อไป

สำหรับร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ประกอบด้วย

4 เป้าหมาย ได้แก่
(1) การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ/การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์
(2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
(3) การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ
(4) การลดและบริหารจัดการของเสีย

4 แนวทางขับเคลื่อน ได้แก่
(1) กรอบระเบียบและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม
(2) การเสริมสร้างศักยภาพ
(3) สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
(4) เครือข่ายสำหรับความร่วมมือทุกภาคส่วน

แม้ว่าวาระความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่หารือในเอเปคมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินงานด้านนี้ยังกระจัดกระจายตามกลไกต่าง ๆ ของเอเปค เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จึงจะช่วยรวบรวมการดำเนินงานของเอเปคด้านความยั่งยืนไว้ในที่เดียว และผลักดันการทำงานอย่างเป็นองค์รวมและบูรณาการมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอโครงการจัดตั้งรางวัล APEC BCG ของไทย เพื่อมอบให้แก่บุคคล และ/หรือหน่วยงานที่นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาการเติบโต อย่างยั่งยืนและครอบคลุม ตลอดจนถ่ายทอดภาพจากความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพของไทยต่อเนื่องต่อไป โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทสตรี ประเภทเยาวชน และประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) เพื่อเน้นย้ำบทบาทของกลุ่มคน และภาคส่วนเหล่านี้

รางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ถูกนำไปปรับใช้มากขึ้นในเอเปค และขยายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป ผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากไทย จีน แคนาดา และเขตเศรษฐกิจอื่นที่สนใจ ทั้งนี้ จะเปิดตัวกิจกรรมการมอบรางวัลนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 33 ในวันพรุ่งน้ี และจะเริ่มมอบรางวัลนี้ในปีหน้า

ท้ายที่สุด ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการแต่งตั้งผู้อำนวยการของหน่วยสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit – PSU) ของสำนักเลขาธิการเอเปคคนใหม่ และรับฟัง เรื่องการเตรียมการเอเปค 2023 จากสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 15:00 น. นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคที่ดำเนินมาตลอด 3 วัน ติดตามความคืบหน้าและการถ่ายทอดสดได้ที่ The Reporters

Related Posts

Send this to a friend