TRAVEL

อาจารย์มหิดล แนะภาครัฐส่งเสริมผู้ประกอบการยกระดับสู่ ‘ศูนย์กลางปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’

รองศาสตราจารย์ ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและบริการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดเผยว่า แม้กระแสเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการจัดการท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ข้อมูลจากการประเมินโดยเกณฑ์ Travel & Tourism Development Index โดย World Economic Forum 2021 พบว่าประเทศไทยยังขาดน้ำหนักด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์ของทุนวัฒนธรรม การให้ลำดับความสำคัญกับการท่องเที่ยวและเปิดกว้างสู่ความเป็นนานาชาติ จึงเป็นที่มาสู่ทางออกของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้กลับฟื้นคืนอีกครั้ง

ภาครัฐได้มีการวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่ ‘เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ’ เพื่อการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สู่การทำให้ไทยเป็น ‘ศูนย์กลางแห่งการเป็นประเทศปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ และ ‘ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ’ ของภูมิภาค เปิดโอกาสให้กลุ่ม Digital Nomad ทำงานพร้อมพักผ่อนไปในตัว นอกจากนี้ยังมีการนำ Soft power ของไทย 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) เทศกาลประเพณี (Festival) และภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มาเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการการท่องเที่ยว

“การวางกรอบการรับนักท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ ไม่ได้หมายถึงการเลือกปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว แต่เป็นการวางทิศทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยได้ในภาพรวม” รศ.ดร.วลัญชลี กล่าว

รศ.ดร.วลัญชลี มองถึงความพร้อมของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายของการเปิดมิติใหม่ทางการท่องเที่ยวว่า ภาครัฐมีทิศทางที่เหมาะสม แต่ต้องมีการดำเนินการที่จะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้ไปต่อได้อย่างมั่นคงด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนการประกอบการ และการขาดแคลนแรงงาน สนับสนุนมาตรการด้านภาษี ช่วยเหลือด้านฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว และการทำ dashboard ของนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางตามที่ยุทธศาสตร์ได้วางไว้

Related Posts

Send this to a friend