POLITICS

‘วิโรจน์’ ชี้ การฉีดวัคซีนในเด็กควรประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน ให้ผู้ปกครองรู้จักชนิดวัคซีน ผลข้างเคียง เพื่อใช้ในการตัดสินใจให้บุตรหลาน ฉีด

วันนี้ (21 ก.ย. 64) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้อง ติดตามความเห็นของแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ ซึ่งเบื้องต้นนักวิชาการมีความเห็นว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสป่วยได้น้อยกว่าผู้ใหญ่จริง แต่ถ้าหากป่วย ก็มีสิทธิที่จะป่วยหนักได้ และความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย นั้น เมื่อประเมินแล้ว ก็ยังสูงกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับจากผลแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยควรยึดเอาคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นแนวทางหลัก โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะนำ ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่องค์การอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในเด็ก และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เท่านั้น ซึ่ง ณ วันที่ 7 ก.ย. 64 มีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กอายุ 16-18 ปี ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุให้ฉีดได้ในทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด สำหรับเด็กอายุ 12-16 ปี ให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ได้แก่ เด็กที่เป็นโรคอ้วน หรือป่วยเป้นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืดที่มีอาการปานกลาง หรือรุนแรง รวมทั้งเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โดยรายละเอียดให้พ่อแม่ และผู้ปกครองอ่านเพิ่มเติมได้จากประกาศของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

สำหรับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น หรือยี่ห้ออื่น เช่น Sinopharm ในเด็ก องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 แล้วว่า ยังไม่สามารถอนุญาตขยายการฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กตั้งแต่ 3 ปี ขี้นไปได้ เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนยังไม่เพียงพอ

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า การฉีดวัคซีน Sinopharm ในกลุ่มเด็กอายุ 10-18 ปี ที่เกิดขึ้น ภายใต้โครงการ “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ข้อเท็จจริง คือ เป็น “การฉีดวัคซีนในโครงการศึกษาวิจัย” ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดังนั้น การติดตามในเรื่องความปลอดภัย ผลกระทบ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนความรับผิดชอบใดๆ ต่อความปลอดภัยของเด็กที่เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinopharm ในโครงการศึกษาวิจัยนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการศึกษาวิจัย ภายใต้เงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่สมัครใจ และยินยอมให้บุตรหลาน เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinopharm ในโครงการศึกษาวิจัยนี้ ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ให้ถูกต้องตรงกัน” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ย้ำ ถึงกรณีสำหรับการฉีดวัคซีนให้กับเด็กเป็นการทั่วไป พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรยึดเอาประกาศของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นสำคัญ และตนยังได้เน้นย้ำไปยังรัฐบาลว่า เครื่องมือหลัก ที่จะทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะในเด็ก หรือประชาชนทั่วไปก็ตาม นั้นมีอยู่ 4 อย่าง ด้วยกัน คือ

  1. มาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมืออยู่เสมอ การระยะยะห่างทางสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่ปิด
  2. การวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับประชาชน และการเสริมภูมิคุ้มกันเป็นระยะๆ เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์
  3. การตรวจคัดกรองตนเองที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และเป็นมาตรการที่ดำเนินการเป็นการทั่วไปในสังคม ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาชุดตรวจได้ในราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ
  4. การสำรองยา และเวชภัณฑ์ที่ทันสมัย ในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการสูญเสียชีวิตให้น้อยที่สุด

    “ข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 หลังจากที่ต้องแลกด้วยชีวิตของประชาชนเป็นเรือนหมื่น เข้าใจว่ารัฐบาลคงตระหนักถึงความสำคัญบ้างแล้ว แต่สำหรับข้อที่ 3 และข้อที่ 4 ดูเหมือนว่า รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในข้อที่ 3 และข้อที่ 4 ให้มากกว่าที่เป็นอยู่” วิโรจน์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend