POLITICS

‘สารี’ จ่อดำเนินคดี กสทช.หากไม่คุ้มครองผลประโยชน์ประชาชน

‘สารี’ ยันเปิดเผยข้อมูลผลศึกษาของ กสทช. เพื่อประโยชน์ของประชาชน ระบุชัดหากควบรวมจะทำธุรกิจโทรคมนาคมไทยถอยหลังไป 10 ปี จ่อดำเนินคดีหากไม่คุ้มครองประโยชน์ประชาชน

วันนี้ (20 ต.ค. 65) ที่สำนักงาน กสทช. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยหลังถูกฟ้องดำเนินคดีจากการนำเอกสารผลการศึกษาที่ กสทช. ไปว่าจ้างหน่วยงานต่างประเทศศึกษาผลกระทบของการควบรวมกิจการโทรคมนาคมต่อสาธารณะ ยืนยันว่าข้อมูล ที่ตนเปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะเป็นข้อมูลผลการศึกษาของต่างประเทศที่ระบุชัดเจนว่าไม่ควรจะให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยจนเหลือเพียง 2 เจ้า

สารี เผยว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นคือการที่ กสทช. สนับสนุนให้ TRUE และ DTAC มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับ AIS มากขึ้น โดย ไม่ใช้วิธีการควบรวม ดังนั้นข้อมูลต่างๆควรจะเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด โดยเฉพาะในข้อมูลที่เปิดเผยระบุชัดเจนว่าไม่ควรให้ควบรวมและจะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการดิจิตอลได้ยาก เกิดความทดถอยของธุรกิจโทรคมนาคมไปอีก 10 ปี

หากวันนี้ก็ กสทช. ไม่ตัดสินใจ ทำเพียงการรับทราบว่าสำนักงานตัดสินใจมาให้ จะถือว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หาก กสทช. ใช้ดุลยพินิจให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม ก็จะดูว่าสอดคล้องกับ มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ กสทช. ต้องรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

“…ต้องย้ำว่าการควบรวมครั้งนี้ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค GDP การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และแน่นอนว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค กว่า 80 ล้านเลขหมายมีมาก จึงอยากให้ กสทช. ตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ สูงสุดของประชาชนและไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม…” สารี กล่าว

ต่อจากนั้น สารี อ๋องสมหวัง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานบอร์ด กสทช. โดยที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมทรู และดีแทค พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.รักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม

เนื่องจากเห็นว่าหากวิเคราะห์ตาม มาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปี 2549 จะพบว่าได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน

Related Posts

Send this to a friend