‘กัณวีร์’ จี้ รัฐต้องแก้ไขการจัดการด้านไฟฟ้า เสนอ 4 นโยบายแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพง

‘กัณวีร์’ พรรคเป็นธรรม ชี้ รัฐ อย่าผลักภาระให้ประชาชน จี้ รัฐต้องแก้ไขการจัดการด้านไฟฟ้า เสนอ 4 นโยบายแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพง
วันนี้ (16 ธ.ค. 65) นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม ให้ความเห็นกรณีมีรายงานว่า กพช. เตรียมขึ้นค่า ไฟฟ้าอีก ประมาณ 1 บาท / KWh จาก 4.7 บาท/KWh เป็นประมาณ 5.7 บาท/ KWh หรือ 21% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยเห็นว่าการต่อสู้ทางนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของพรรคการเมืองต่างๆ โดยการมีนโยบายตรึงราคาค่า ft (ค่าไฟฟ้าแปรผัน) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากการผลักภาระของผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลนั้น มันคงเป็นแค่การให้ประชาชนเสียค่าไฟ “ที่สูงคงที่” เท่านั้น แต่ไม่สามารถลดลงได้ เหตุจากการที่แก้ไม่ถูกจุด ซึ่งทำให้ต้นเหตุของค่าไฟที่สูงยังไม่ได้รับการแก้ไข
“ก็เหมือนการดับไฟที่ปลายทาง แต่ต้นเพลิงยังครุกรุ่น ยังไงไฟนั้นมันคงลามไปติดที่อื่นๆ ให้มอดไหม้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
นายกัณวีร์ ระบุว่า การที่พรรคเป็นธรรมยืนหยัดและนำเอาหลักการและข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังและติดตามแผนพัฒนาปาตานี มาจัดทำเป็นนโยบายหลักของพรรคฯ ด้านไฟฟ้าระดับชาตินั้น จึงได้มีการศึกษาและทำข้อสรุปทางนโยบายออกมาเป็น 4 นโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้า ที่จะตอบโจทย์ทั้งการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในชีวิตประจำวันที่ถูกผลักภาระมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะเดียวกัน จะช่วยตอบโจทย์การป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง การรักษาสมดุลในการดำรงชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างเป็นดอกเห็ดและโดยมิชอบด้วย พรรคเป็นธรรม จึงเสนอนโยบาย 4 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพง คือ
1.สำรองไฟฟ้าไม่เกิน 15 % ของพลังงานที่ใช้รวมกันทั้งระบบ
2.ยกเลิกการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
3.กระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้า ไปสู่กลไกท้องถิ่น
4.หากมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้า ต้องทำ EIA ต่อโครงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าทุกขนาด
นายกัณวีร์ เห็นว่า การกำหนดให้มีไฟฟ้าสำรองไม่เกิน 15% จะทำให้การผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค ลดถอยอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสัญญาแบบ Take or Pay ที่รัฐทำกับบริษัทเอกชนจะมีค่าแปรผันที่ประชาชนต้องแบกภาระน้อยลงอย่างมาก และนโยบายอีก 3 ข้อ จะเป็นหลักประกันในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการทำ EIA และการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล สุดท้ายกลไกท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจบริหารการใช้ไฟฟ้าโดยให้ กฟผ. เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิค จะตอบโจทย์การกระจายอำนาจที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามนโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ของพรรคเป็นธรรมในที่สุด
“ผมขอยืนยันว่าหากพรรคเป็นธรรมมีที่ทางในรัฐสภาแล้ว นโยบายทั้ง 4 ข้อ ด้านพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อทำการตัดวงจรการค้ากำไรจากพลังงานไฟฟ้าที่ผ่านมาอย่างไร้ความชอบธรรมและเป็นภาระทางสังคมอย่างใหญ่หลวง พรรคเป็นธรรมจะทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในระบบรัฐสภา โดยถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของพรรค ต่อไป” นาย กัณวีร์ กล่าว