POLITICS

‘มายด์ – ไผ่’ ชี้ กรณี ‘หยก’ ไม่สวมชุดนักเรียน ถือเป็นสิทธิที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องเคารพสิทธิ

‘มายด์ – ไผ่’ ชี้ กรณี ‘หยก’ ไม่สวมชุดนักเรียน ถือเป็นสิทธิที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องเคารพสิทธิ เชื่อถึงเวลารื้อระบบการศึกษามาปฏิรูป มอง เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมยุคเก่า ว่าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือยัง

วันนี้ (16 มิ.ย. 66) น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำราษฎร 63 กล่าวถึงกรณี หยก เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกโรงเรียนปฏิเสธการให้เข้ารับการศึกษา เนื่องจาก ไม่ประพฤติตัวตามระเบียบ และไม่มีผู้ปกครองที่แท้จริงมาเซ็นมอบตัว โดยระบุว่า ตนเองสนับสนุนการเคารพสิทธิในเนื้อตัว และร่างกาย

ส่วนเรื่องการไม่แต่งกายไปเรียนก็มีมาตลอด มีหลายโรงเรียนที่ปลดล็อคเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว การจะแต่งชุดนักเรียนไปเรียน ก็ไม่เกี่ยวว่าจะได้รับความรู้หรือไม่ ดังนั้นจึงเห็นว่า การเคารพสิทธิในเนื้อตัว และร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำให้สังคมเข้าใจว่า นักเรียนมีสิทธิที่จะกำหนด ว่าตนเองจะแต่งกายอะไรไปเรียนก็ได้ รวมทั้งชุดนักเรียนก็เป็นที่ถกเถียงกันมาเยอะ ว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองหรือไม่

โดยสังคมต้องทำความเข้าใจไปด้วยกัน หากสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ขอให้เคารพสิทธิของหยกด้วย

ขณะนี้ที่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำทะลุฟ้า กล่าวเสริมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน รุ่นของตนเองก็เคยผ่านระบบการศึกษาในรูปแบบนี้มาก่อน จึงเห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับหยก ควรนำมาถกเถียงเพื่อหาข้อสรุป และหาแนวทางปฏิรูปการศึกษาของไทย ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน โดยในสมัยของตนไม่สามารถจินตนาการถึงโลกใหม่ที่อยากจะเห็นได้ แต่ในเด็กรุ่นใหม่เขาสามารถก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ได้ จึงนำไปสู่การยืนหยัด และการแสดงออก

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับหยกไม่ใช่การท้าทาย แต่เป็นการตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า สังคมพร้อมจะเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง และสิ่งที่จะเปลี่ยนไม่ใช่สถาบันการเมือง แต่คือการเปลี่ยนสังคมการศึกษา จารีต และวัฒนธรรม ซึ่งเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นท้าทายกับสังคมยุคเก่า ปรากฎการที่เกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นถกเถียงกันต่อไป และจะต้องมาเรียนรู้กับสังคมไทยที่ถูกกดทับ” นายจตุภัทร์กล่าว

ทั้งนี้ ตนเองเชื่อว่าระบบการศึกษาเละ ถึงเวลาที่จะต้องรื้อระบบการศึกษามาปฏิรูป เพื่อให้เกิดการศึกษาที่เด็กทุกคนภูมิใจ รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เขาได้เข้าถึงระบบการศึกษา และได้ใช้ตัวตนในแบบที่เขาอยากจะเป็น

นายจตุภัทร์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือการถกเถียงกันเพื่อหาทางออก ส่วนวิธีการสื่อสาร และเคลื่อนไหวจะทำอย่างไรก็ว่ากันไปตามวิธีการ แต่ในหลักการขอสนับสนุนเรื่องดังกล่าว และยืนหยัดในเรื่องนี้ เพราะสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดที่แตกต่างกัน

Related Posts

Send this to a friend