ป.ป.ช. ชี้ปัญหารุกล้ำลำน้ำ ภาครัฐยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ แนะรวมศูนย์บริหารจัดการ-ชัดเจนหลักปฏิบัติ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยปัญหารุกล้ำลำน้ำสาธารณะเป็นปัญหาที่ภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการได้ ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐขาดการประสานงานกัน แนะต้องทำให้ประชาชนรู้สิทธิ จูงใจให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการผลประโยชน์ และดูแลชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐต้องชัดเจนในเรื่องหลักปฏิบัติและจัดให้มีการรวมศูนย์การบริหารจัดการ
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การรุกล้ำลำน้ำสาธารณะซึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘ชาวบ้าน นายทุน และรัฐ’ กำลังเป็นปัญหาคุกรุ่นทั่วประเทศที่ภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการได้เพราะอุปสรรคด้านกฎหมาย ความไม่รู้ ไม่ใส่ใจ เกิดผลประโยชน์ที่นำไปสู่คอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง อีกทั้งด้วยวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมทำให้มีผู้คนตั้งบ้านเรือน เพิ่มขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นเดียวกับโรงงานและธุรกิจขนาดใหญ่ นิยมเลือกทำเลริมน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้สภาพแวดล้อมถูกทำลาย ขณะที่หน่วยงานของรัฐยังด้อยประสิทธิภาพและละเลยจนไม่สามารถบริหารจัดการได้
การรุกล้ำลำน้ำด้วย ‘สิ่งปลูกสร้างและการใช้สอย’ เกิดจากการกระทำของประชาชน พ่อค้า อภิสิทธิ์ชน นักการเมือง และหน่วยงานรัฐ เกิดเป็นปัญหาตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น การตั้งร้านอาหารในธารน้ำตก การแย่งชิงที่นั่งตามโขดหินและจุดชมวิวริมน้ำ ตามชายหาดมีการยึดครองพื้นที่โดยตั้งร่ม เตียงผ้าใบ ร้านค้า และโรงแรมปักป้ายแสดงบริเวณชายหาดส่วนตัว สะท้อนได้จากที่ประชาชนร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต มีส่วนร่วมรู้เห็น ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิมิชอบ บุกรุก ใช้ประโยชน์บนที่ดินรัฐอย่างผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันยังมีผู้ร้องทุกข์ไปยังกรมเจ้าท่ากว่า 1,000 เรื่อง
ปัจจุบันการควบคุมดูแลเรื่องนี้ มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง 22 แห่งตามอำนาจกฎหมาย 22 ฉบับที่มีรายละเอียดและจุดเพ่งเล็งต่างกัน เช่น กรมเจ้าท่า กรมโรงงาน กรมชลประทาน ตำรวจ กรมธนารักษ์ กรมประมง กรมทรัพยากรฯ ผังเมือง เทศบาล/อบต. ฯลฯ บางกฎหมายมีการมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นแล้วบางเรื่อง เช่น กรมเจ้าท่ามอบอำนาจให้ อปท. ทำหน้าที่แทน 4 เรื่อง ถึงจะมีกฎหมายและหน่วยงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ยังขาดการประสานงานกัน ทำให้ขาดความชัดเจนในว่า ใครมีอำนาจอย่างไร
เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน แต่ละพื้นที่ มีประสบการณ์ต่างกัน การใช้ดุลยพินิจและการตีความกฎหมายจึงต่างกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งในชุมชนหรือการละเมิดกฎหมายจึงมีทักษะไม่เท่ากันในการแก้ไขปัญหา ที่แย่กว่านั้นคือ เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และปัญหาที่อาจตามมา เจ้าหน้าที่จึงใช้อำนาจกำกับดูแลหรือให้คำแนะนำแก่ผู้มาติดต่อเท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกัน ปัญหาจะเลวร้ายหนักไปอีกหาก เจ้าหน้าที่ฉ้อฉล เรียกรับสินบนหรือรีดไถคนที่คู่กรณีไม่ว่าทำถูกหรือผิดกฎหมาย อีกทั้งกรณีบุกรุกนั้นอยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนักการเมืองท้องถิ่นเกิดเกรงใจฐานเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือต้องการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
อีกประเด็นคือ มีการตีความว่า การอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามชายหาด ไม่ใช่การอนุญาตให้ถมทะเลเพราะขัดกฎหมายการเดินเรือ และหากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตชุมชนโดยรอบ ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก แน่นอนว่าการมีเงื่อนไขของกฎหมายและเจ้าหน้าที่จำนวนมากทำให้เกิดเรื่องยุ่งยาก ภาระ ค่าใช้จ่ายและเสียเวลาดังนั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การทำผิดกฎหมายและคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ก็ตามมา
ทั้งนี้ ปัญหารุกล้ำลำน้ำยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นระบบ ในอนาคตปัญหาจะมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ นำมาสู่ความขัดแย้งของสังคม เกิดช่องทางคอร์รัปชันให้เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง การอยู่อาศัยริมน้ำเป็นสิทธิของประชาชนที่รัฐยอมรับ การทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีกติกาชัดเจนและยอมรับร่วมกัน โดยเริ่มจากทำให้ประชาชนรู้สิทธิของตน จูงใจให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการผลประโยชน์และดูแลชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันภาครัฐต้องชัดเจนในเรื่องหลักปฏิบัติและจัดให้มีการรวมศูนย์การบริหารจัดการ