ENVIRONMENT

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องภาครัฐ เพิ่มสวัสดิภาพสัตว์ และการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องภาครัฐให้บรรจุประเด็น เรื่องการพัฒนามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มอย่างเข้มงวด ในแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งแสดงความผิดหวัง ต่อร่างล่าสุดของแผนดังกล่าว ที่ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดและแพร่กระจาย ของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม สู่ห่วงโซ่อาหาร สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะ

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “มีงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมาย ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ การละเลยประเด็นนี้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยา ที่กำลังเป็นวิกฤติด้านสุขภาพของคนไทยไ ด้อย่างครอบคลุม เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญ ของการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพ ของประชาชนการบรรจุแผนงาน ด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ไม่ได้เป็นทางเลือกทางด้านจริยธรรมเท่านั้น แต่คือความจำเป็นที่สำคัญเพื่อการปกป้องสุขภาพทั้งของมนุษย์และสัตว์ ผมจึงอยากขอย้ำถึงความเร่งด่วน ในการดำเนินการอย่างกล้าหาญและเด็ดขาด ในการรวมสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในแผนฯฉบับนี้”

“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการประสาน และบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ มีการบรรจุข้อเรียกร้องเหล่านี้ ในยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน (Operational Plan) ของแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 โดยมีสาระสำคัญดังนี้”

1.ภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมปศุสัตว์ ต้องมีการพิจารณาเพื่อยกระดับมาตรฐาน สวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องต่อมาตรฐานขั้นต่ำ การเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (FARMS: Farm Animal Responsible Minimum Standard, https://www.farmsinitiative.org) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถช่วยลดความจำเป็น ในการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง

2.การบังคับใช้กฎหมายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อการป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มอย่างเข้มงวด

3.บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องของเกษตกร รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาความรู้ ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม และแนวทางการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เชื่อมั่นว่าหากข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้รับการบรรจุลงในแผนปฏิบัติการ จะช่วยให้เป้าหมายในภาพรวม การลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ประสบความสำเร็จไว้ รวมถึงเป็นการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้นำด้านการดำเนินนโยบาย เพื่อแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยาได้อย่างแท้จริง

Related Posts

Send this to a friend